xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพโพลล์ชี้ นักเศรษฐศาสตร์มอง ศก.3-6 เดือนข้างหน้าแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรุงเทพโพลล์ สำรวจนักเศรษฐศาสตร์มองสถานะเศรษฐกิจ 3-6 เดือนข้างหน้าสถานะแข็งแกร่ง ห่วงค่าแรง 300 บาท นโยบายประชานิยม ค่าเงินบาทผันผวน ทำเศรษฐกิจสะดุด

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 18-25 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.75 เพิ่มขึ้น 11.57 จุด และเป็นระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งแรก นับจากการสำรวจในเดือนมกราคม ปี 2555 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งจากปี 2555 ที่เศรษฐกิจอยู่ในสถานะอ่อนแออย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยสถานะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งได้รับผลดีในหลายปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและการใช้ จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ส่วนปัจจัยการส่งออกสินค้าเป็นปัจจัยเดียวที่ยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 59.94 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 63.82 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน โดยมีการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใส

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจใน 3-6 เดือนข้างหน้าที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงมากที่สุด และอยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลเป็นพิเศษ มีดังนี้ 1. ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่จะส่งผลให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น และกระทบกับธุรกิจ SMEs โดยตรงและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานในอนาคตได้ (ร้อยละ 33.9)

2. การใช้จ่ายเงินในโครงการประชานิยมต่างๆ (โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว) อาจนำมาซึ่งปัญหาหนี้สาธารณะในอนาคต (ร้อยละ 19.6) 3. ปํญหาค่าเงินบาทผันผวนจนอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก (ร้อยละ 10.7) 4. ปัญหาราคาสินค้า ค่าครองชีพ หรืออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ 10.7) 5. ปัญหาหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ของครัวเรือนที่เริ่มเห็นสัญญาณของปัญหา (ร้อยละ 10.7) 6. ปัญหาอื่นๆ เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเบิกจ่ายงบประมาณ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมือง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น