xs
xsm
sm
md
lg

บุนเดสแบงก์ชี้วิกฤติยุโรปยังไม่สิ้นสุด แนะแก้ปัญหาโดยปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

       นายเยนส์ วีดมานน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์)กล่าวว่า วิกฤติยูโรโซนยังไม่สิ้นสุด แม้ได้บรรเทาลงอันเป็นผลจากคำสัญญาของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และ
เขาได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆจัดการกับรากเหง้าของปัญหาต่างๆด้วยการปฏิรูป
        นายวีดมานน์กล่าวว่า บุนเดสแบงก์ได้กันเงินเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านยูโรเพื่อใช้รับมือกับความเคลื่อนไหวแบบเสี่ยงสูงของอีซีบี และเขากล่าวตำหนิฝรั่งเศสโดยตรง โดยกล่าวว่าฝรั่งเศส "ดำเนินการอย่างผิดพลาด" ในความพยายามปฏิรูป
        นายวีดมานน์ซึ่งเป็นสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบี คัดค้านแผนการเข้าซื้อพันธบัตร (OMT) ของอีซีบีที่ได้รับการตกลงกันไว้ในเดือนก.ย.2012 เนื่องจากเขาเชื่อว่ารัฐบาลยูโรโซนจำเป็นต้องปรับปรุงเศรษฐกิจของตนเองเพื่อหลุดพ้นออกจากภาวะวิกฤติ แทนที่จะขอความช่วยเหลือจากอีซีบี
        นายวีดมานน์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่รอยเตอร์ว่า"วิกฤตการณ์ที่เราเผชิญอยู่เป็นวิกฤติความเชื่อมั่น และความเชื่อมั่นจะไม่เกิดขึ้นถ้าหากเราเลื่อนเวลาในการแก้ไขรากเหง้าของวิกฤติออกไป"
        นายวีดมานน์กล่าวย้ำว่า "วิกฤติยังไม่สิ้นสุดลง ถึงแม้ว่าตลาดการเงินอยู่ในภาวะสงบในระยะนี้" และเขากล่าวว่าแนวทางการปฏิรูปในฝรั่งเศส, อิตาลีและไซปรัสเผชิญกับความไม่แน่นอน
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "แนวทางการปฏิรูปในฝรั่งเศสดูเหมือนจะประสบกับความผิดพลาด ส่วนแนวทางการปฏิรูปในอิตาลีก็เผชิญกับคำถามที่เกิดจากการเลือกตั้ง ส่วนสถานการณ์ในไซปรัสนั้นมีความไม่ชัดเจนเป็นอย่างมาก" ในขณะที่ไซปรัสประสบความยากลำบากในการขอความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ
        นายเยอร์ก อาสมุสเซน ซึ่งเป็นชาวเยอรมนีอีกคนหนึ่งที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบี กล่าวในช่วงปลายเดือนก.พ.ว่า ฝรั่งเศสควรที่จะดำเนินขั้นตอน "ที่เป็นรูปธรรมและมีความสำคัญ" เพื่อกดดันยอดขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสให้ลดต่ำลง และเขากล่าวว่ารัฐบาลฝรั่งเศสเผชิญกับบททดสอบความน่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดยอดขาดดุลให้เข้าใกล้เป้าหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปีนี้
        นายวีดมานน์แสดงความเห็นสอดคล้องกับนายอาสมุสเซน โดยนายวีดมานน์กล่าวว่า "ผมคิดว่าฝรั่งเศสมีบทบาทในการแสดงให้เห็นว่า เรายังคงยึดมั่นกับกฎระเบียบและเราจะยังคงปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงต่อไป"
        ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในยูโรโซน โดยรองจากเยอรมนี
        บุนเดสแบงก์กังวลกับความเสี่ยงที่อีซีบีแบกรับในการเข้าช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการที่อีซีบียอมรับสินทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำเพื่อแลกกับเงินสด เพราะการทำเช่นนี้จะส่งผลให้อีซีบีได้รับความเสียหายมากยิ่งขึ้นถ้าหากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในอนาคต
        อีซีบีและรัฐบาลไอร์แลนด์ได้ทำข้อตกลงด้านตราสารหนี้ในเดือนก.พ.เพื่อให้รัฐบาลไอร์แลนด์สามารถเปลี่ยนจากการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีราคาแพงในการเข้าช่วยเหลือธนาคารแองโกล ไอริชที่ล้มละลาย มาเป็นการใช้ตราสารหนี้ของรัฐบาลที่มีราคาถูกกว่า
        อย่างไรก็ดี นายวีดมานน์แสดงความกังวลว่า ข้อตกลงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่อีซีบีจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายการคลัง ซึ่งเป็นสิ่งที่บุนเดสแบงก์ไม่ต้องการให้อีซีบีเข้าไปเกี่ยวข้อง
        ความกังวลในด้านนี้ส่งผลให้บุนเดสแบงก์เพิ่มขนาดกันชนความเสี่ยงของตนเองขึ้นอีก 6.7 พันล้านยูโร สู่ 1.44 หมื่นล้านยูโร
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างนโยบายการเงินและการคลังพร่าเลือนยิ่งขึ้นไปอีก"
        นายวีดมานน์แสดงความเห็นแตกต่างจากนายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบี ในประเด็นที่ว่า อีซีบีควรทำเช่นใดเพื่อรับประกันว่า นโยบายการเงินของอีซีบีจะส่งผลดีต่อทุกประเทศในยูโรโซน
        นายดรากีกล่าวว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกสำหรับอีซีบีคือการส่งเสริม"กระบวนการทำงาน" ของนโยบายการเงิน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของอีซีบีจะได้ส่งผลกระทบต่อประเทศสมาชิกยูโรโซนทั้ง 17 ประเทศ โดยนายดรากีกังวลว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมอาจจะไม่สามารถกู้เงินเพื่อนำมาขยายกิจการในปัจจุบัน
        อย่างไรก็ดี นายวีดมานน์ไม่ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้มากเท่ากับนายดรากี
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพของนโยบายการเงินไม่ได้หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับเดียวกันสำหรับคนทุกคนในทุกประเทศในยุโรป"
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "การปรับรายละเอียดในเงื่อนไขการระดมทุนในภาคต่างๆไม่ถือเป็นภารกิจของนโยบายการเงิน เพราะมีเครื่องมืออื่นๆที่สามารถใช้ในการทำงานนี้ และรัฐบาลต่างๆก็มีธนาคารที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงเพื่อทำงานด้านนี้ อย่างเช่นธนาคาร KfW ในเยอรมนี และเราควรจะพิจารณาความสามารถของธนาคารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว"
        นายวีดมานน์กล่าวว่า วิกฤติยูโรโซนถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อเยอรมนี
        เศรษฐกิจเยอรมนีเคยขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงสองปีแรกที่เกิดวิกฤติยูโรโซน แต่ก็ชะลอตัวลงในปี 2012 และหดตัวลงในไตรมาส 4/2012
        อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หรือภาวะที่เศรษฐกิจหดตัวลงติดต่อกันสองไตรมาสโดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีอาจเติบโตอย่างอ่อนแอในไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนจะเติบโตเร็วขึ้นในไตรมาสต่อๆไปป
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "เศรษฐกิจเยอรมนีมีโครงสร้างที่ดี"ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นในเยอรมนีได้รับแรงกดดันจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนในช่วงที่ผ่านมา
        นายวีดมานน์คาดว่า เศรษฐกิจจะทวีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงต่อไปในปีนี้ ถ้าหากความเชื่อมั่นไม่ได้รับแรงกดดันอย่างฉับพลันในอนาคต
        นายวีดมานน์กล่าวว่า "ในระยะอันสั้นนี้ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะลดลงในยูโรโซน" และเขากล่าวเสริมว่าในระยะกลางนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือการสร้างความเชื่อมั่นว่า นโยบายการเงินของอีซีบีจะเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพ
        นายเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงซบเซาแม้ตลาดการเงินทะยานขึ้น โดยผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆที่มีอยู่รวมถึงจัดการกับธนาคารต่างๆที่ได้รับความเสียหาย
        นายลิปตันกล่าวว่า การปรับตัวดีขึ้นของแนวโน้มเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงงบดุลบัญชีของธนาคาร และในบางกรณี ธนาคารบางแห่งอาจจะต้องปิดกิจการลง
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น