xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปเข้าสู่เสถียรภาพหลังเลือกตั้งในอิตาลี อีซีบีตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ย BOE ลงมติไม่อัดฉีดเงินเพิ่มขึ้นสู่ระบบเศรษฐกิจของอังกฤษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าววานนี้ว่าตลาดได้เข้าสู่เสถียรภาพแล้วหลังการเลือกตั้งในอิตาลี และมีโอกาสน้อยที่ประเทศอื่นๆในยูโรโซนจะได้รับความเสียหายจากปัญหาในอิตาลี โดยถ้อยแถลงดังกล่าวบ่งชี้ว่าอีซีบีไม่มีแนวโน้มจะดำเนินมาตรการใดๆเพื่อช่วยเหลืออิตาลีในขณะนี้
        เจ้าหน้าที่อีซีบีได้หารือกันถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้ แต่ได้ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% เป็นเดือนที่ 8ติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะผลสำรวจทางเศรษฐกิจที่ออกมาในเชิงบวกโดยสิ่งนี้บ่งชี้ว่า อีซีบีพร้อมที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมต่อไปตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ได้ตกต่ำลง
        ผลการเลือกตั้งอิตาลีในสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า ชาวอิตาลีจำนวนมากต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ขณะที่ไม่มีพรรคการเมืองใดครองที่นั่งได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างเด็ดขาด และสิ่งนี้บ่งชี้ถึงแนวโน้มในเชิงลบสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการปรับลดหนี้ของอิตาลี
        นายดรากี ซึ่งเป็นชาวอิตาลีด้วยนั้น กล่าวว่า มีสัญญาณหลายประการที่บ่งชี้ว่า ความเชื่อมั่นในตลาดยูโรโซนกำลังกลับคืนมาอีกครั้ง โดยยูโรโซนประกอบด้วยสมาชิก 17 ประเทศ
        หลังจากอีซีบีประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75 % นายดรากีได้กล่าวในการแถลงข่าวว่า "หลังจากเกิดความตื่นเต้นขึ้นในตลาดหลังการเลือกตั้ง ขณะนี้ตลาดก็ได้กลับเข้าสู่ภาวะ
เดียวกับในช่วงก่อนการเลือกตั้งแล้ว"
        นายดรากีกล่าวว่า "คุณได้เห็นแล้วว่าประเทศอื่นๆแทบไม่ได้รับผลกระทบเลยในครั้งนี้ ซึ่งสิ่งนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อราวหนึ่งปีครึ่งก่อนหน้านี้ และถือเป็นสัญญาณบวกอีกประการหนึ่ง"
        อีซีบีได้บรรเทาวิกฤติหนี้ยูโรโซนในช่วงก่อนหน้านี้โดยการให้สัญญาว่าจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนโดยไม่จำกัดจำนวนถ้าหากประเทศสมาชิกยูโรโซนแห่งนั้นขอความช่วยเหลือจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) และยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรการรัดเข็มขัดโดยโครงการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า OMT ทั้งนี้ อิตาลีอาจจะไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากอีซีบีได้ ถ้าหากอิตาลีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่พร้อมจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ OMT
        ถ้าหากพรรคการเมืองในอิตาลีไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ อิตาลีก็อาจจะต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะไม่แน่นอนในอิตาลียืดเยื้อออกไป
        นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า ภาวะไม่แน่นอนที่เกิดจากการเลือกตั้งในอิตาลีทำให้มีโอกาสมากยิ่งขึ้นที่อีซีบีจะเข้าช่วยเหลือประเทศในยูโรโซนโดยใช้วิธีเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศดังกล่าว แต่ประเทศที่อีซีบีมีแนวโน้มเข้าช่วยเหลือมากที่สุดคือสเปน ไม่ใช่อิตาลี
        อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนประเภทอายุ 10 ปีร่วงลงสู่4.93 % เมื่อวานนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีประเภท 10 ปีอยู่ที่4.63 % เมื่อวานนี้ โดยดิ่งลงจากระดับใกล้ 5 % ในช่วงหลังการเลือกตั้ง
        นักวิเคราะห์ 22 จาก 76 รายในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า อีซีบีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่ที่ 0.5 % ในอนาคตโดยนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์เช่นนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
        นายคาร์สเตน เบรสกี นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารไอเอ็นจีกล่าวว่า "อีซีบีไม่ได้เปิดโอกาสมากยิ่งขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคต แต่อีซีบีก็ไม่ได้ปิดโอกาสดังกล่าวเช่นกัน โดยอีซีบีน่าจะตรึงอัตรา
ดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม นอกจากว่าเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า"
        นายดรากีกล่าวว่า สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของอีซีบีได้หารือกันเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเขาส่งสัญญาณว่าสมาชิกบางคนสนับสนุนให้อีซีบีปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี นายดรากี ไม่ได้ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าอีซีบีมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกและสิ่งนี้ช่วยหนุนยูโร/ดอลลาร์ให้ขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวัน
        นายดรากีกล่าวว่า "เราได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการทำเช่นนั้น ดังนั้นจึงมีการหารือกัน ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ระบุว่าให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม"
        นายดรากีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า อีซีบีอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝากไว้ที่อีซีบีลงสู่ระดับติดลบ โดยเขากล่าวว่าการทำเช่นนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ "ร้ายแรง" โดยไม่ได้ตั้งใจ
        เจ้าหน้าที่อีซีบีปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปีนี้ โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนอาจร่วงลง 0.1-0.9 %ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ -0.9 จนถึง +0.3 %
        นายดรากีกล่าวว่า "กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงต่อไปในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ทั่วโลกที่แข็งแกร่งขึ้น และจากจุดยืนของเราในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย"
        นายดรากีกล่าวเสริมว่า แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงช่วงขาลงโดยเฉพาะถ้าหากรัฐบาลยูโรโซนดำเนินการอย่างเชื่องช้าในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
        นายดรากีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อ "เคลื่อนตัวอยู่ในระดับเดิมเป็นส่วนใหญ่"แต่ถ้าหากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับอ่อนแอเกินคาด อัตราเงินเฟ้อก็จะอยู่ในระดับอ่อนแอเกินคาดด้วยเช่นกัน
        อีซีบีตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ระดับต่ำกว่า 2 % เล็กน้อย โดยเจ้าหน้าที่อีซีบีคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจอยู่ที่ราว 1.3 % ในปี 2014 และนายดรากีก็ระบุว่าระดับดังกล่าวยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายของอีซีบีในเชิงพื้นฐาน
        อีซีบีเคยระบุว่าปัญหาหลักของอีซีบีคือการที่อัตราดอกเบี้ยที่สถิติต่ำสุดส่งผลกระทบอย่างไม่เท่าเทียมกันต่อประเทศต่างๆในยูโรโซน และสิ่งนี้บ่งชี้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลกระทบเพียงในวงจำกัดเท่านั้น
        นายดรากีไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ที่ว่า อีซีบีวางแผนจะดำเนินมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดย่อม
        ทั้งนี้ ต่อข้อถามที่ว่าอีซีบีจะปรับเพิ่มปริมาณการปล่อยกู้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หรือไม่ ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม นายดรากีได้ตอบว่า "เราไม่ได้อยู่ที่จุดนั้นในขณะนี้ เราไม่ได้วางแผนการใดเป็นพิเศษ"
        ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ไม่ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเมื่อวานนี้ ในขณะที่นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวเรียกร้องให้ BOE ช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเขาให้สัญญาว่าจะปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงต่อไป
        ทั้งนี้ BOE ลงมติไม่อัดฉีดเงินเพิ่มขึ้นสู่ระบบเศรษฐกิจของอังกฤษโดยคงวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ และตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5%
        สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (MPC) ของ BOEไม่ได้ลงมติให้ BOE เข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม หรือขยายวงเงินในมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เมื่อวานนี้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดไม่ได้บ่งชี้ว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และมีการคาดการณ์กันว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษจะยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2 % ต่อไปจนถึงปี 2016 นอกจากนี้สมาชิก MPC บางคนยังตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า มาตรการเข้าซื้อพันธบัตร
ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือเศรษฐกิจจริงหรือไม่
        ในการประชุมเดือนก.พ.นั้น สมาชิก MPC 3 จาก 9 รายซึ่งรวมถึงนายเมอร์วิน คิง ผู้ว่าการ BOE ลงคะแนนเสียงสนับสนุนให้BOE เข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติม และสิ่งนี้ทำให้นักลงทุนคาดการณ์กันว่า
BOE อาจจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในอนาคต
        BOE ไม่ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้เพื่อชี้แจงว่าเพราะเหตุใดBOE จึงคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในเดือนนี้ อย่างไรก็ดี BOE จะเปิดเผยรายงานการลงคะแนนเสียงในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันที่นายจอร์จ ออสบอร์น รมว.คลังอังกฤษจะเปิดเผยงบประมาณฉบับล่าสุดของเขา
        ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์เคยแสดงความเห็นที่แตกต่างกันไปต่อประเด็นที่ว่า BOE จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเพิ่มเติมหรือไม่ หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นรอบที่ 3 นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินเป็นต้นมา
        ปอนด์ร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่งที่ 1.4965 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ แต่สามารถดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมาหลังจาก BOE ประกาศผลการประชุมกำหนดนโยบาย
        นายกรัฐมนตรีคาเมรอนกล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องควบคุมงบรายจ่ายและปริมาณการกู้ยืม โดยถ้อยแถลงนี้ถือเป็นการปกป้องมาตรการรัดเข็มขัดของเขาหลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดมากเกินไปอาจเป็นการทำลายการเติบโตทางเศรษฐกิจ
        นายคาเมรอนกล่าวว่า "เราจะไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างยั่งยืนและเติบโตขึ้นในระยะยาว นอกจากว่าเราจะแก้ไขปัญหาพื้นฐานเรื่องงบรายจ่ายและหนี้สินของรัฐบาลที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายเศรษฐกิจโดยรวมของเรา"
        "ธนาคารกลางอังกฤษจำเป็นต้องสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้เสถียรภาพทางการเงินเผชิญกับความเสี่ยง" นายคาเมรอนกล่าว
        ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า นายออสบอร์นอาจจะใช้ประกาศงบประมาณในครั้งนี้ในการปรับเปลี่ยนความรับผิดชอบของ BOE ในด้านการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ เพื่อให้ BOE มุ่งความสนใจไปที่การเติบโตทาง
เศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ในขณะที่นายออสบอร์นมีโอกาสน้อยมากในการเพิ่มงบรายจ่ายของรัฐบาล
        นายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา จะเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOE ในเดือนก.ค. ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นใน BOE โดยนายคาร์นีย์กล่าวว่า เขาต้องการจะหารือเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่สามารถกระทำได้ เพื่อจะได้เน้นย้ำเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น
        นักวิเคราะห์กล่าวว่า BOE มีความยืดหยุ่นอยู่แล้วในการตีความหน้าที่ของตนในการตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2 % สำหรับระยะเวลา2 ปีข้างหน้า และด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนถ้อยคำในงบประมาณอาจจะไม่ได้
ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนักในทางปฏิบัติ
        นายเยนส์ ลาร์เซน นักเศรษฐศาสตร์ของ RBC กล่าวว่า "เราคาดการณ์ว่า จะไม่มีการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในช่วงนี้ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีการคาดการณ์กันต่อไปในเรื่องจุดยืนของนโยบายการเงิน"
        อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายรายยังคงคาดว่า จะมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้
        นายไมเคิล ซอนเดอร์ส นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษของซิตี้กรุ๊ปกล่าวว่า "เรายังคงคาดว่า MPC จะกลับมาใช้มาตรการ QE อีกครั้งในเร็วๆนี้ โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) อยู่ในระดับอ่อนแอทั้งตัวเลขที่แท้จริงและในรูปตัวเงิน ในขณะที่ผลสำรวจภาคธุรกิจยืนยันว่า เศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะเฉื่อยชา"
        นายคาเมรอนแสดงความเห็นเรื่อง BOE เมื่อวานนี้ หลังจากนายวินซ์ เคเบิล รัฐมนตรีธุรกิจของอังกฤษ ตั้งข้อสงสัยต่อข้อดีของมาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด
        นายเคเบิลตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะสงบมากกว่าในช่วงที่รัฐบาลอังกฤษชุดนี้เข้ารับตำแหน่งในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดขาดดุลงบประมาณมีสัดส่วน 11 % ของจีดีพี
        นายเคเบิลกล่าวว่า อังกฤษอาจจะสามารถกู้ยืมเงินได้มากยิ่งขึ้นเพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็แสดงความเห็นที่คล้ายคลึงกับนายเคเบิลในบางส่วน
        ปอนด์ร่วงลงมาแล้วราว 6 % จากช่วงต้นปีนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ BOE ที่บ่งชี้ว่า ปอนด์อาจจำเป็นต้องอ่อนค่าลงต่อไปเพื่อช่วยลดยอดขาดดุลการค้า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ BOE อาจยอมรับ
อัตราเงินเฟ้อที่อยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายได้ในช่วงหลายปีข้างหน้าด้วย
        การร่วงลงของปอนด์มีส่วนคล้ายคลึงกับการอ่อนค่าของเยน ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
        ในส่วนของ BOE นั้น คำถามสำคัญคือประเด็นที่ว่า การเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ในขณะที่เศรษฐกิจได้รับแรงกดดันจากวิกฤติหนี้ยูโรโซน, จากการร่วงลงของค่าจ้างที่แท้จริง และจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
        หอการค้าอังกฤษปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อวานนี้ และระบุว่านโยบายการคลัง ซึ่งรวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจ จะเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่า QE
        ผู้กำหนดนโยบายเชื่อว่า QE ยังคงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ โดยนายพอล ทัคเกอร์ รองผู้ว่าการ BOE กล่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า "ไม่มีใครใน MPC ที่คิดว่าQE ได้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว"
        นายทัคเกอร์ได้เสนอแนวคิดอื่นๆด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการเรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินมาฝากไว้ที่ BOE เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากยิ่งขึ้น และมาตรการช่วยเหลือบริษัทเอกชนในการเข้าถึงเงินทุนหมุนเวียน
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น