xs
xsm
sm
md
lg

เบน เบอร์นันเก้ นโยบายที่มีผลต่อราคาทองคำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวปกป้องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดอย่างแข็งแกร่งต่อสภาคองเกรส และถ้อยแถลงของเขาช่วยลดความกังวลในตลาดการเงินที่ว่า เฟดอาจจะยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้เร็วเกินคาด
        ทั้งนี้ นายเบอร์นันเก้กล่าวในการแถลงรอบครึ่งปีเกี่ยวกับนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายของเฟดตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบพิเศษ ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อแบบไม่พึงประสงค์ หรือทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์
        นายเบอร์นันเก้ยังกล่าวว่า ความเสี่ยงดังกล่าวดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญในขณะนี้และเขากล่าวเสริมว่าเฟดมีเครื่องมือทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที
        นายเบอร์นันเก้กล่าวต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาว่า"เราไม่เห็นว่าผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการลงทุนแบบเสี่ยงสูงในตลาดการเงินบางแห่ง จะบดบังผลดีที่เกิดจากการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และจากการสร้างงานอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น"
        นอกจากนี้ นายเบอร์นันเก้ยังได้เรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสสกัดกั้นมาตรการตัดงบรายจ่ายครั้งใหญ่ (sequestration) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์นี้ โดยเขากล่าวเตือนว่า มาตรการนี้และมาตรการเพิ่มภาษีที่ออกมาในช่วงก่อนหน้านี้จะกลายเป็น "อุปสรรคสำคัญ" สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
        เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้ 0 % นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2008และได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐกับตราสารหนี้จำนองไปแล้วรวมกันกว่า 2.5ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อกดดันอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดต่ำลง และเพื่อกระตุ้นการสร้างงาน
        ปัจจุบันนี้เฟดเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และระบุว่าเฟดจะเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อไปจนกว่าแนวโน้มในตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นเป็นอย่างมาก
        รายงานการประชุมเฟดประจำวันที่ 29-30 ม.ค.ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนมองว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการเข้าซื้อตราสารหนี้ส่งผลให้เฟดควรที่จะชะลอหรือยุติมาตรการดังกล่าวก่อนที่การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี
เจ้าหน้าที่เฟดบางรายมองว่า การยุติมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนเวลาอันควร ก็ถือเป็นสิ่งที่อันตรายเช่นกัน
        นายเบอร์นันเก้แสดงความเห็นสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่เฟดกลุ่มหลังโดยเขากล่าวว่า "มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์และนโยบายผ่อนคลายโดยทั่วไปก่อให้เกิดผลดีอย่างเห็นได้ชัด" และเขายกตัวอย่างว่า ภาคที่อยู่อาศัยและภาครถยนต์ได้ปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "ไม่มีวิธีการใดที่สามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ได้โดยปราศจากความเสี่ยง" และเขากล่าวเสริมว่า "ความเสี่ยงจากการไม่ทำสิ่งใดก็เป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงเช่นกัน ดังนั้นเราจึงพยายายามรักษาความ
สมดุลของสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"
        ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดพุ่งขึ้น115.96 จุด หรือ 0.84 % สู่ 13,900.13 เมื่อวานนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงของนายเบอร์นันเก้ และจากตัวเลขภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งดัชนี
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ โดยปัจจัยเหล่านี้ช่วยบดบังความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ยุโรป
        นายปีเตอร์ คาร์ดิลโล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ตลาดของบริษัทร็อคเวล โกลบัล แคปิตัลกล่าวว่า "ถ้อยแถลงของนายเบอร์นันเก้บ่งชี้ว่าจะไม่มีการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆนี้"
        นายบ็อบ คอร์เคอร์ วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน ได้ตั้งคำถามว่านโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟดมีส่วนทำให้เกิดการแข่งขันกันปรับลดค่าเงินทั่วโลกหรือไม่ และเป็นการปูทางไปสู่ภาวะเงินเฟ้อหรือไม่
        นายเบอร์นันเก้ได้ตอบคำถามนี้ว่า "ประวัติด้านเงินเฟ้อของผมถือเป็นประวัติที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประธานธนาคารกลางสหรัฐทุกคนหลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา" และกล่าวเสริมว่า "เราไม่ได้ทำสงคราม
ค่าเงินในขณะนี้"
        สมาชิกพรรคเดโมแครตใช้ถ้อยแถลงของนายเบอร์นันเก้ในครั้งนี้เป็นเหตุผลสนับสนุนแนวคิดของทางพรรคที่ว่า มาตรการตัดงบประมาณของสหรัฐจะส่งผลกระทบที่ร้ายแรงทางเศรษฐกิจ
        นางอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการการธนาคาร พยายามสอบถามนายเบอร์นันเก้ในเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐได้รับแรงหนุนในทางอ้อมในรูปแบบของต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง เนื่องจากธนาคารเหล่านี้มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มละลายได้
        นายเบอร์นันเก้ได้ตอบว่า กฎหมายด็อดด์-แฟรงค์ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินของสหรัฐ ได้ให้อำนาจมากยิ่งขึ้นแก่ผู้ควบคุมกฎระเบียบในการปิดกิจการสถาบันการเงินที่ล้มละลาย ดังนั้นการล้มละลายจึงไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เหมือนแต่ก่อน
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "แรงหนุนดังกล่าวเกิดจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะเข้ากอบกู้บริษัทเหล่านี้ถ้าหากบริษัทเหล่านี้ล้มละลาย แต่การคาดการณ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
        นายเบอร์นันเก้ได้แสดงความเห็นโดยตรงต่อนโยบายการคลังของสหรัฐด้วยซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นน้อยครั้ง โดยนายเบอร์นันเก้กล่าวเตือนว่าsequestration ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์นี้จะเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "สภาคองเกรสและฝ่ายบริหารของสหรัฐควรพิจารณาเรื่องการแทนที่มาตรการตัดงบรายจ่ายลงอย่างมากในช่วงแรกภายใต้sequestration ด้วยนโยบายปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะใกล้ แต่ปรับลดลงอย่างจริงจังยิ่งขึ้นในระยะยาว"
        เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงในไตรมาส 4/2012 แต่เป็นที่คาดกันว่าอาจเติบโตราว 2 % หรือสูงกว่านั้นในปีนี้ ส่วนอัตราการว่างงานในสหรัฐอยู่ที่ระดับสูงถึง 7.9 % ในเดือนม.ค.
        นายเบอร์นันเก้จะแถลงต่อคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในช่วงต่อไปในวันนี้ โดยเขากล่าวเมื่อวานนี้ว่าการว่างงานเป็นเวลานานอาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงในระยะยาว
        นายเบอร์นันเก้กล่าวว่า "อัตราการว่างงานที่ระดับสูงจะก่อให้เกิดผลเสียเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากผู้ว่างงานและครอบครัวของเขาจะเผชิญกับความยากลำบากแล้ว สิ่งนี้ยังสร้างความเสียหายต่อความสามารถทางการ
เติบโตและศักยภาพทางการผลิตของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย"
        ราคาทองสปอตดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ1 สัปดาห์ครึ่ง ขณะที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ได้แถลงปกป้องนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งเป็นแรงหนุนต่อทองในฐานะหลักประกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจากการพิมพ์เงินสดของธนาคารกลาง
        SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองรายใหญ่ที่สุดของโลกเปิดเผยว่า สัดส่วนการถือครองทองของ SPDR ลดลง 2.408 ตัน สู่ระดับ 1,270.44ตัน ณ วันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน
        โกลด์แมน แซคส์ประกาศปรับลดคาดการณ์ราคาทองประจำปีนี้ลงสู่1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ จาก 1,810 ดอลลาร์ โดยระบุว่า การดิ่งลงของราคาทองในระยะนี้ และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐเป็นสาเหตุทำให้ทางบริษัทปรับลดคาดการณ์ราคาทอง
        นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ยังได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองประจำปี2014 ลงสู่ระดับ 1,450 ดอลลาร์/ออนซ์ จาก 1,750 ดอลลาร์ รวมทั้งปรับลดคาดการณ์ราคาในช่วง 3 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1,615 ดอลลาร์/ออนซ์ จาก1,825 ดอลลาร์, ปรับลดคาดการณ์ราคาในช่วง 6 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1,600ดอลลาร์/ออนซ์ จาก 1,805 ดอลลาร์ และปรับลดคาดการณ์ราคาในช่วง 12 เดือนข้างหน้าสู่ระดับ 1,550 ดอลลาร์/ออนซ์ จาก 1,800 ดอลลาร์
(ข่าวจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak
กำลังโหลดความคิดเห็น