xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

        บริษัทโคลัมเบีย แมเนจเมนท์ และบริษัทเธรดนีดเดิลระบุในรายงานแนวโน้มระหว่างประเทศประจำปี 2013 ว่า ประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ในขณะที่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอาจจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว

        รายงานระบุว่า ตลาดประเทศไทย, ฟิลิปปินส์, ตุรกี และเม็กซิโกยังคงให้อัตราผลตอบแทนในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก
 
        บริษัทโคลัมเบีย แมเนจเมนท์ ซึ่งบริหารสินทรัพย์ 3.40 แสนล้านดอลลาร์ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกราว 70 % จะมาจากประเทศตลาดเกิดใหม่ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนและบราซิลชะลอตัวลงอย่างมากก็ตาม
 
        รายงานระบุว่า ถึงแม้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อาจจะไม่เติบโตในอัตราที่สูงเท่ากับในช่วงทศวรรษก่อน เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคของชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่มีความยั่งยืน แทนที่จะได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร
 
        รายงานระบุว่า มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และสิ่งนี้จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นและราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยทั่วไปนอกจากนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม,ยอดค้าปลีก และการลงทุนในตราสารหนี้ก็ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2012
 
        รายงานระบุว่า "การที่ tail risk (ความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ต่ำแต่ส่งผลกระทบสูง) ในยุโรปและจีนปรับลดลง ส่งผลให้เราคาดการณ์ในทางบวกต่อตลาดหุ้นมากกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเราคาดว่าตลาดหุ้นที่แข็งแกร่งอยู่แล้วจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก และคาดว่ากิจกรรมการควบรวมกิจการจะยังคงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญในตลาดหลายแห่ง ในขณะที่ภาคเอกชนนำเงินสดส่วนเกินมาใช้ประโยชน์"
 
        ถึงแม้โคลัมเบีย แมเนจเมนท์ยังคงคาดการณ์ในทางลบต่อแนวโน้มระยะยาวของญี่ปุ่น แต่รายงานก็ระบุว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวได้ดีในปีนี้อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงจำนวนประชากรสูงวัย, การหดตัวลงของกำลังแรงงาน, ปัญหาหนี้สินที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น และสัญญาณบ่งชี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะไม่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานาน
 
        รายงานระบุว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียจะพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในปี 2013 โดยเอเชียยังคงมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตต่อไป แต่ความได้เปรียบนี้อาจเปลี่ยนไปอยู่ในประเทศที่แตกต่างไปจากเดิมและในภาคอุตสาหกรรมที่แตกต่างออกไป
 
        รายงานระบุว่า ประชากรโดยรวมในประเทศตลาดเกิดใหม่มีลักษณะที่ดีต่อเศรษฐกิจมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และปัจจัยนี้จะช่วยหนุนประเทศตลาดเกิดใหม่ต่อไป โดยประเทศที่มีความได้เปรียบด้านลักษณะประชากรรวมถึงอินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์, ตุรกี, บราซิล และอินเดีย ส่วนประเทศที่เสียเปรียบด้านลักษณะประชากรรวมถึงรัสเซียและอินเดีย
 
        รายงานระบุว่า ประชากรอายุน้อยที่ขาดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม เนื่องจากมีการศึกษาต่ำและมีปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้างคือปัจจัยที่มักจะก่อให้เกิดการจลาจล อย่างเช่นในตะวันออกกลางและในแอฟริกาใต้
 
        โคลัมเบีย แมเนจเมนท์คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนน่าจะสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ในด้านกฎระเบียบการธนาคาร, นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน,การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ และแผนริเริ่มใหม่ในการผลักดันให้การบริโภคกลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
 
        สิ่งที่นักลงทุนกังวลเป็นอย่างมากก็คือว่า จีนกำลังสูญเสียประสิทธิภาพทางการแข่งขัน และอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนในจีนก็ปรับลดลง และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนก็ปรับตัวลงด้วย
 
        รายงานฉบับนี้ตั้งความคาดหวังไว้ในระดับต่ำต่อหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจจะช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้าสู่เสถียรภาพแล้ว
 
        รายงานระบุว่า ตลาดตราสารหนี้เอเชียถือเป็นแหล่งการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน หลังจากตลาดตราสารหนี้เอเชียเติบโตขึ้นจนมีขนาดใหญ่พอทั้งในด้านทุนจดทะเบียนในตลาด, พื้นที่ที่ครอบคลุม และอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม
 
        รายงานระบุว่า ในบรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอในยุโรปนั้น สเปนและไอร์แลนด์ได้ปรับปรุงโครงสร้างที่จำเป็นไปแล้ว ส่วนกรีซได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างจนทำให้กรีซประสบความคืบหน้าในการกู้เงินใหม่มาชำระหนี้เก่า "อย่างไรก็ดี เราไม่มั่นใจว่ากรีซกำลังแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงหรือไม่"
 
ผู้เชี่ยวชาญชี้การเมืองประเทศตลาดเกิดใหม่เป็นปัจจัยเสี่ยงใหญ่สุดในปีนี้


        นายเอียน เบรมเมอร์ ประธานบริษัทยูเรเชีย กรุ๊ปกล่าวว่า ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในจีน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดโลกในปีนี้
 
        นายเบรมเมอร์ กล่าวว่า "ผมคิดว่านักลงทุนปรับตัวรับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศตลาดเกิดใหม่ในระดับที่ต่ำเกินไปสำหรับปีนี้"
 
        นายเบรมเมอร์ กล่าวว่า หนึ่งในประเทศที่น่ากังวลมากที่สุดคือจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เนื่องจากจีนมีความขัดแย้งกับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากบรรยากาศทางการลงทุนในจีนมีความไม่แน่นอน
 
        นายเบรมเมอร์กล่าวว่า "ความไม่แน่นอนทางการลงทุนในจีนอยู่ในระดับที่รุนแรงกว่าในสหรัฐเป็นอย่างมาก แต่ไม่มีใครเคยกล่าวว่า พวกเขาออกไปรอดูท่าทีอยู่นอกตลาดเพราะความไม่แน่นอนในจีน"
 
        นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปี 2008 เป็นต้นมา ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างเช่นจีน, บราซิล และอินเดีย ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศมีเศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 10 %ต่อปี
 
        อย่างไรก็ดี อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้เริ่มชะลอตัวลงในปี 2012 โดยเป็นที่คาดกันว่าเศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่า 8 % ในปี 2012 และเศรษฐกิจบราซิลอาจขยายตัวสูงกว่า 3 % เล็กน้อยในปีหน้า
 
        นายเบรมเมอร์กล่าวว่า เนื่องจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า "ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นต้องหยุดให้ความสำคัญกับประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว และหันมาให้ความสนใจกับประเทศที่รักษาระดับความแข็งแกร่งได้ดีกว่า และสิ่งนี้จะไม่ส่งผลบวกต่อจีน" และประเทศตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ
 
        นายเบรมเมอร์กล่าวว่า ประเทศที่จะยังคงมีความน่าดึงดูดในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก คือประเทศที่แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างต่อเนื่อง
 
        นายเบรมเมอร์กล่าวว่า "มีอยู่หลายครั้งที่ประเทศกลุ่มนี้ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือปัญหาที่แท้จริง" โดยเขายกตัวอย่างว่าประเทศที่ประสบปัญหานี้ได้แก่รัสเซีย, ยูเครน และเวเนซุเอลา
 
        นายนูเรียล รูบินี ประธานกรรมการบริษัทรูบินี โกลบัล อิโคโนมิคส์ กล่าวว่าจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจชะลอตัวลงสู่ระดับราว 6 % ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งไม่ถือเป็นการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง แต่เป็นการชะลอตัวในระดับที่สามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก
 
        นายรูบินีกล่าวว่า "เศรษฐกิจจีนจะไม่ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง แต่ก็ใกล้เคียงกับสิ่งนั้น ผมยังคงกังวลเรื่องการทรุดตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน"
 
        "ผมกังวลว่า ผู้นำชุดใหม่ของจีนจะใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากและจะดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างล่าช้ากว่าที่จำเป็น" และเขากล่าวเสริมว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอาจส่งผลให้การลงทุนเข้าสู่ช่วงขาลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 
         โพลล์รอยเตอร์คาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจขยับขึ้นสู่ 7.8 % ต่อปีในไตรมาส 4/2012 หลังจากอัตราการเติบโตชะลอตัวลงมาเป็นเวลานาน 7 ไตรมาส โดยจีนจะเปิดเผยตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำไตรมาส 4ในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.
 
        อย่างไรก็ดี นายรูบินีกล่าวว่า นักลงทุนไม่ควรมองข้ามปัจจัยเสี่ยงในประเทศพัฒนาแล้วด้วยเช่นกัน และเขากล่าวเสริมว่า "สหรัฐมีปัญหาขนาดใหญ่ในทางการคลัง,ในด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการว่างงาน"
 
        การจ้างงานในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย และราคาบ้านในสหรัฐก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสองปัจจัยนี้ก็ช่วยกระตุ้นความหวังที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจได้รับแรงหนุนในช่วงปลายปี 2012 ถึงแม้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์จากต่างประเทศร่วงลง ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจขยายตัวราว 2 % ในปีนี้


        อย่างไรก็ดี นายรูบินีกล่าวว่า เศรษฐกิจอาจเติบโตเพียงราว 1.6 % ในปีนี้เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐประสบความล้มเหลวในการทำข้อตกลงปฏิรูปโครงการสวัสดิการสังคมและงบรายจ่ายครั้งใหญ่ และข้อตกลงในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณลงในระยะยาว
 
        ทั้งนายเบรมเมอร์และนายรูบินีคาดว่า สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐจะ"เลื่อนเวลาในการแก้ไขปัญหา" ออกไปอีกครั้งเมื่อถึงเวลาที่ทางสภาต้องแก้ไขปัญหาระยะยาวในเรื่องระบบภาษี, งบรายจ่ายสำหรับโครงการสวัสดิการสังคม และการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ
 
        สภาคองเกรสเพิ่งบรรลุข้อตกลงในการขึ้นภาษีคนรวยในวันที่ 1 ม.ค.ปีนี้แต่เลื่อนเวลาในการตัดสินใจเรื่องงบรายจ่ายออกไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ โดยสมาชิกพรรครีพับลิกันขู่ที่จะไม่เพิ่มเพดานการกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐ จนกว่าทำเนียบขาวจะยอมตัดงบรายจ่ายขนาดใหญ่
 
        อย่างไรก็ดี นายเบรมเมอร์กล่าวว่า สหรัฐจะยังคงเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยสูงในตลาดโลก และเนื่องจากสหรัฐรักษาระดับความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจไว้ได้ดี
(ข้อมูลจากสำนักข่าว รอยเตอร์)
 
 
T.Thammasak.
กำลังโหลดความคิดเห็น