“ภควัต” ย้ำ CEO บริษัทจดทะเบียนฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีแนวโน้มดีขึ้นมาก ส่วนในปี 2556 จะได้เห็นธุรกิจเริ่มเพิ่มทุนแลกหุ้นเพื่อควบรวมกิจการในภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่กลุ่มค้าปลีกจะโตในต่างจังหวัด ส่วนการประมูล 3 จี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง
นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ อุปนายกสมาคมฯ และประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็น CEO จากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้จัดทำเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า การคาดการณ์ตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปีนี้ไม่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะขยายตัวได้ที่ 4-4.5% แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ CEO ของบริษัทจดทะเบียนต่างพากันให้น้ำหนักกับเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยความมีเสถียรภาพทางการเมือง การขยับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดการดำเนินงาน
ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 12 เดือนข้างหน้าของ CEO จากกว่า 100 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ที่ระดับ 3-4% ขณะเดียวกัน ยังได้ให้มุมมองต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจในอีก 6 เดือน (จากเดือนเมษายน) ซึ่งสรุปได้ว่า โดยรวม 16% เชื่อมั่นว่าภาพรวมค่อนข้างจะดีขึ้น ส่วน 66% เชื่อมั่นว่าดีขึ้นบ้าง และดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับความคาดหวังเรื่องการลงทุน 54% คาดหมายว่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วน 22% คาดว่าการลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ส่วนประเทศเป้าหมายในการลงทุนนั้น 36 บริษัทจากกว่า 100 บริษัทบอกว่า จะขยายไปยังอาเซียน แต่ 33 บริษัทระบุจะลงทุนภายในประเทศ ซึ่งความเห็นดังกล่าวนี้ บ่งบอกว่า ว่าแม้จะอยู่ในประเทศแต่บริษัทก็ยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่การขยายการลงทุนไปยังอาเซียนนั้นเป็นผลมาจากที่หลายๆ บริษัทได้ทำงานกันมายาวนานแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงรายได้ หรือยอดขายของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เทียบ GDP จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ 2001 จะมีสัดส่วนเพียง 41% แต่ในปัจจุบัน ได้ขยายตัวไปถึง 86% แล้ว หมายถึงรายได้ หรือยอดขายของบริษัทที่จดทะเบียนเมื่อเทียบต่อ GDP ถือว่ามีความสำคัญมากขึ้น โดยบริษัทจดทะเบียนซึ่งมีอยู่ 485 รายสามารถทำรายได้ หรือยอดขายต่อ GDP ได้สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากเทียบกับตัวเลขดังกล่าวนี้ในเชิง GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่แล้ว ของประเทศไทยจะทะลุถึง 50%
ขณะที่มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ของโลกนั้น ไทยจะมีอัตราการเจริญเติบเติบโตเฉลี่ย 2.5% ซึ่งยังถือว่าต่ำ ดังนั้น แนวทางในการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์จึงมีอยู่อีกมากมาย แต่หากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทยสัดส่วนมูลค่าตลาดเมื่อเทียบ GDP ขณะนี้อยู่ที่ 93% จากดัชนีที่มีการปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้
สำหรับอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจ และเข้ามาถือหุ้นในกิจการมากสุด จะอยู่ในกลุ่มปิโตรเคมี สื่อ ธนาคารพาณิชย์ และอาหาร ส่วนที่ต่างชาติให้ความสนใจน้อยจะอยู่ในกลุ่มขนส่ง เกษตร และการท่องเที่ยว
ภาพรวมในปี 2556 สมาคมฯ คาดว่า เรื่องการบริโภคยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมทั้งการรณรงค์เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งก็ยังคงเป็นตัวการสำคัญที่จะผลักดันให้บริษัทต่างๆ ก้าวไปข้างหน้า และเชื่อว่าการควบรวมกิจการในภูมิภาค และการเพิ่มทุนของกิจการจะมีเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนได้มีการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อ 3 ปีก่อน โดยนำรายได้จากกำไรสะสมของกิจการมาใช้ลงทุนก่อน ต่อมา จึงค่อยกู้เงินเพิ่ม แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ก็จะเป็นรอบของการออกหุ้นเพิ่มทุนแล้ว และต่อจากนี้ไป อาจจะได้เห็นการแลกหุ้นเพื่อควบรวมกิจการกันมากยิ่งขึ้น และสมาคมฯ ก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปี 2556
ส่วนปัจจัยที่จะกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นวันละ 300 บาทนั้น เงินเฟ้อ และราคาอาหารเชื่อว่าอาจจะไม่ได้เป็นประเด็น เพราะสิ่งที่จะเป็นประเด็นสำคัญคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จากการเข้าสู่ AEC นั้น ต้องมีการตื่นตัวและมีการเตรียมตัวกันอย่างมากมาย ส่วนวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปอาจจะมีผลกระทบต่อไทยในระดับที่น้อยลง แต่ที่ต้องระวังอย่างมากคือ เศรษฐกิจอเมริกาที่น่าจะมีผลกระทบกับไทยค่อนข้างจะรุนแรง
ขณะเดียวกัน กลยุทธ์ต่างๆ ที่สมาคมฯ ได้รวบรวมจากบริษัทจดทะเบียนนั้น ชี้ว่า กลุ่มค้าปลีกมีแนวโน้มที่จะไปเติบโตในต่างจังหวัด ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปัญหาค่าแรงก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการลดต้นทุนการผลิตลง หรือปรับปรุงการผลิตโดยการหันมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น และเรื่องการอบรมแรงงานจะถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่อยู่ในภาคบริการ อย่างเช่น โรงพยาบาล โรงแรม
นายภควัต เสนอว่า ธุรกิจที่รับจ้างผลิตจากต่างประเทศ หรือ OEM นั้น ควรพยายามสร้างแบรนด์ต่อไป เพราะโอกาสในการเปิดตลาดที่ต่างประเทศนั้นมีมากขึ้น ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ได้ใช้นวตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างสินค้าพวกนี้เพิ่มขึ้นมาก และสามารถแสวงหาประโยชน์จากการทำธุรกิจโดยการใช้นวตกรรมใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในองค์กรได้มากกว่า เช่น กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย กลุ่ม ปตท. และกลุ่มซีพี ซึ่งได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ๆ ขยายตัวไปในต่างประเทศกันอย่างมากมาย อีกทั้งการรวมกลุ่มทำธุรกิจในแบบที่เป็นพันธมิตรก็จะเกิดขึ้นได้อีกมากมายด้วย โดยภควัตยังสำทับว่า ทั้งหมดนี้เป็นที่ได้พยายามรวบรวมมาจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่จะรู้ว่าในอนาคตบริษัทเหล่านี้จะมีความคิดกันอย่างไร
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโต 4-5% นั้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และบริษัทมีการเติบโตจากการทำรายได้ได้ค่อนข้างมาก จากผลสำรวจที่ทำออกมานั้นมี 2 อย่างคือ พวกธุรกิจที่โตจากภายในประเทศ และออกไปเติบโตภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภายในประเทศนั้นธุรกิจไทยก็ยังคงมีโอกาสโตได้อีก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละรายสาขาจะมีกลยุทธ์ที่จะไปต่อตรงไหน สำหรับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมสำหรับเมืองไทยแล้วเขามองว่า ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อีก เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่ในเวลาได้ออกสู่สากลแล้ว และในอนาคตก็จะมีการทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอีก
โดยปัจจัยสำคัญของบริษัทจดทะเบียนที่จะออกไปเติบโตนอกประเทศนั้นประเด็นเรื่องคนจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ สมาคมฯ จึงได้เริ่มหันมาทำเรื่อง Human Capital Club โดยเริ่มต้นจากระดับ CEO เพื่อให้ตระหนักว่าเรื่องคนนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ
ด้านขีดความสามารถของ CEO จากบริษัทขนาดใหญ่ของไทยเมื่อเทียบกับของประเทศอาเซียน ภควัตยังเชื่อว่าของไทยยังคงอยู่ในระดับแข่งขันได้ แต่การพิจารณาถึง CEO นั้นก็ยังต้องมองให้ลึกไปถึงเรื่องระบบการบริหารจัดการ ซึ่งเขามองว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็ยังสามารถจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางระบบ และทำ business model ได้ แต่สมาคมบริษัทจดทะเบียนก็ต้องการที่จะนำความรู้ความสามารถจากบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้ถ่ายทอดลงมา
ในตอนท้าย ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ยังให้ความเห็นถึงอานิสงส์จากการประมูล 3 จีในทำนองที่ว่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั่วทั้งหมด เพราะการเกิดของ 3 จีจะทำไปสู่การพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเนื้อหาข้อมูล หรือ content สายส่งสัญญาณมือถือ เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจก่อสร้างและผู้รับเหมา และเขาก็อยากให้นักลงทุนควรมองให้ลึกทั้งอุตสาหกรรมด้วย