xs
xsm
sm
md
lg

ประธานเฟดยืนยันคงมาตรการ QE3 เตือนสภาเลี่ยง “การตัดงบอัตโนมัติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนในตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ระบุเศรษฐกิจอเมริกายังต้องการมาตรการกระตุ้น พร้อมเตือนสมาชิกรัฐสภาอเมริกันหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องดำเนินมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายแบบเหมารวมโดยอัตโนมัติครั้งมโหฬารซึ่งกำลังจะจะมีผลในวันศุกร์ (1 มี.ค.)นี้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อยู่ในอาการไม่คงเส้นคงวาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ระหว่างการแถลงให้ปากคำรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาในวันอังคาร (26) ที่ผ่านมา เบน เบอร์นันกี ประธานเฟดย้ำว่า อัตราว่างงานที่สูงลิบยังคงเป็นความท้าทายสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ดังนั้น โครงการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ หรือที่เรียกขานกันว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ต่ำลง จะได้ส่งเสริมเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงยังคงสมควรดำเนินการต่อไป เขาระบุด้วยว่าเท่าที่ผ่านมานโยบายนี้ได้ช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมการผลิต และยอดจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งสินค้าคงทนอื่นๆ อีกทั้งยังส่งเสริมตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ดี ในส่วนตลาดแรงงานยังถือว่าน่าเป็นห่วง โดยอัตราว่างงานในเดือนมกราคมยังสูงถึง 7.9% ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบผู้ไม่มีงานทำและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อโอกาสอยู่รอดและศักยภาพการผลิตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวม และกระทบต่อเนื่องทำให้รายได้ของภาครัฐลดลงแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ยอดขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เบอร์นันกียอมรับว่า เป็นความจริงที่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินนั้นมีต้นทุนและความเสี่ยงสูง ดังเช่นที่เจ้าหน้าที่บางคนในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ได้แสดงความกังวลระหว่างการประชุมเมื่อเดือนที่แล้ว ว่า QE3 อาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมเสี่ยงในอุตสาหกรรมการเงิน อย่างไรก็ดี เขาระบุว่า เฟดได้จับตาติดตามความเสี่ยงเหล่านี้อย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่พบว่ามีความเสี่ยงใดๆ ที่มีน้ำหนักชัดเจนว่าได้ล้ำเกินประโยชน์ของมาตรการ QE3ในการส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของเศรษฐกิจ และการสร้างงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เอฟโอเอ็มซียังมั่นใจว่า เมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นมาจะสามารถล่าถอยจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นนี้อย่างทันท่วงที

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เบอร์นันกีเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อัตราการเติบโตยังไม่คงเส้นคงวา อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากมาตรการตัดลดงบประมาณแบบเหมารวมอย่างอัตโนมัติครั้งมโหฬาร ซึ่งเรียกขานกันว่า Sequester ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันศุกร์ (1 มี.ค.) นี้ ถ้าหากพวกนักการเมืองในคณะรัฐบาลและรัฐสภาของสหรัฐฯยังไม่สามารถประนีประนอมกันเพื่อออกมาตรการอื่นๆ มาบังคับใช้แทนได้สำเร็จ

ประธานเฟดแนะนำว่า รัฐสภาและคณะรัฐบาลควรพิจารณาใช้นโยบายที่จะลดยอดขาดดุลงบประมาณแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนการตัดลดงบประมาณรายจ่ายก้อนใหญ่ในทันที ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานงบประมาณรัฐสภาระบุว่า หากบังคับใช้มาตรการลดรายจ่ายแบบเหมารวมโดยอัตโนมัติ ในช่วงตลอด 7 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณปัจจุบัน (มี.ค.-ก.ย. 2013) จะทำให้อัตราเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดหายไป 0.6% ซึ่งมีนัยสำคัญมากต่อเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่า หากไม่ถูกกระทบด้วยมาตรการ sequester เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะขยายตัวได้ราว 2% ขึ้นไปในปีนี้

เมื่อถูก บ็อบ คอร์เกอร์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันซักถามว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟดมีส่วนทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าอเมริกันทั่วโลก รวมทั้งกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อหรือไม่ เบอร์นันกีตอบชัดเจนว่า สถิติเงินเฟ้อในยุคของตนถือว่าดีกว่าในสมัยประธานทุกคนในช่วงหลังสงครามโลก พร้อมยืนยันว่า เฟดไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามค่าเงิน

นอกจากนั้น ในรายงานรอบครึ่งปีของเฟดที่จัดทำมาเสนอพร้อมกับการเข้าให้ปากคำของเบอร์นันกี ยังระบุว่า มีหลักฐานน้อยมากที่บ่งชี้ว่า นโยบาย QE3 กระตุ้นฟองสบู่สินทรัพย์ในตลาดบางแห่ง กระนั้น เฟดจะยังคงตรวจตราและดำเนินการปฏิรูปกฎข้อบังคับทางการเงินที่มีเป้าหมายในการลดความเสี่ยงเชิงระบบอย่างเข้มงวดต่อไป

อนึ่ง เบอร์นันกียังจะเสนอรายงานรอบครึ่งปีและให้ปากคำต่อรัฐสภาสหรัฐฯ อีกวันหนึ่งในวันพุธ (27 ก.พ.) นี้ โดยคราวนี้เป็นการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร
กำลังโหลดความคิดเห็น