เอเจนซีส์ - ตามคาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศคงดอกเบี้ยและมาตรการ QE3 ต่อ แม้เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มฟื้นตัวในระดับพอประมาณ และการจ้างงานกระเตื้องขึ้น แจงการเติบโตมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผนการขึ้นภาษีและการลดงบประมาณจ่ายแบบเหมารวมอัตโนมัติเพื่อลดหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ประธานเฟด เบน เบอร์นันกี ยืนยันเศรษฐกิจและภาคการเงินอเมริกาไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายจากวิกฤตในไซปรัสแต่อย่างใด
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เอฟโอเอ็มซี) แถลงในวันพุธ (20) ภายหลังสิ้นสุดการประชุมนาน 2 วันว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นจากการหยุดนิ่งในไตรมาสสุดท้ายปี 2012 เป็นเดินหน้าในระดับพอประมาณในช่วง 2-3 เดือนล่าสุด
กระนั้นความวุ่นวายที่กลับมาใหม่ในยุโรปจากวิกฤตสภาพคล่องของไซปรัส ประกอบกับแผนการตัดลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ทำให้เอฟโอเอ็มซีตัดสินใจลดการคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.3-2.8% และ 2.9-3.4% สำหรับปีหน้า
เอฟโอเอ็มซียอมรับว่า ตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้น และคาดว่าอัตราว่างงานจะลดลงอยู่ที่ระดับ 6.7-7% ปลายปีหน้า
ทว่า เบอร์นันกี ประธานเฟดสำทับว่า เอฟโอเอ็มซียังกังวลว่า มาตรการตัดลดงบประมาณรายจ่ายแบบเหมารวมอัตโนมัติ (sequester) ของรัฐบาลที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เดือนนี้ ประกอบกับการขึ้นภาษีตั้งแต่ต้นปี รวมทั้งมาตรการต่างๆ เพื่อลดการใช้จ่าย อาจทำให้การเติบโตในปีนี้หดหายไป 1.5% รวมทั้งขัดขวางการจ้างงานในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า
เบอร์นันกียังตั้งข้อสังเกตว่า อัตราว่างงาน 7.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ นับว่าได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้าแล้ว 0.2% แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่
และเป็นไปตามคาด เอฟโอเอ็มซีประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE3) ในการซื้อพันธบัตรเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป
สมาชิกส่วนใหญ่ของเอฟโอเอ็มซียังคาดว่า ด้วยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำคือ 1.7% เกือบตลอดปีนี้ และ 2% เกือบตลอดปีหน้านั้น จึงจะยังไม่มีการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2015
ทั้งนี้ นายใหญ่เฟดย้ำมาตลอดช่วงหลายเดือนมานี้ว่า เฟดจำเป็นต้องคงการสนับสนุนการเติบโตตราบที่อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ แต่อัตราว่างงานสูง
แม้มีการตั้งข้อสังเกตระหว่างการประชุมเอฟโอเอ็มซีในเดือนมกราคมว่า มาตรการ QE เพิ่มความเสี่ยงในการบริหารจัดการด้านการเงิน ทว่า เบอร์นันกีกล่าวว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของเอฟโอเอ็มซีเห็นพ้องกันว่า จะคงโปรแกรมซื้อพันธบัตรต่อไปเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน
เกี่ยวกับความกังวลที่ว่า นโยบายให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอย่างยาวนาน อาจกระตุ้นพฤติกรรมเสี่ยงในตลาดการเงินอีกครั้งนั้น เขาบอกว่าความเสี่ยงดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่รับมือได้ แต่ก็สำทับว่า เอฟโอเอ็มซีอาจเปลี่ยนแปลงมาตรการซื้อสินทรัพย์ในอนาคต ถ้าหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป
เบอร์นันกียังยืนยันว่า เศรษฐกิจและภาคการเงินของสหรัฐฯ ไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายจากวิกฤตในไซปรัสที่กำลังสร้างความระส่ำระสายต่อเศรษฐกิจยุโรปอยู่ในเวลานี้ หลังจากที่รัฐสภาของประเทศเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ลงมติในวันอังคาร (19) คว่ำมาตรการเก็บภาษีเงินฝาก อันเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อรับเงินกู้ 10,000 ล้านยูโรจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)