เอเจนซี - “โอบามา” ย้ำไม่คิดเจรจากับ “รีพับลิกัน” เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนระหว่างการยอมตัดลดงบรายจ่ายกับการขยายเพดานก่อหนี้ ขณะที่ “เบอร์นันกี” กระทุ้งซ้ำเรียกร้องรัฐสภาเพิ่มศักยภาพในการกู้ยืมของรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เลวร้ายจากการผิดนัดชำระหนี้ที่กระทรวงคลังเพิ่งออกโรงเตือนว่า อาจเกิดขึ้นกลางเดือนหน้าหรือต้นเดือนมีนาคม หากคองเกรสและทำเนียบขาวยังคงตกลงกันไม่ได้
วันจันทร์ที่ผ่านมา (14) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จัดแถลงข่าวเพื่อตอกย้ำจุดยืนเรื่องการขยายเพดานก่อหนี้ และการตัดงบประมาณรายจ่าย โดยบอกว่า “สิ่งที่ผมจะไม่ทำคือ ยอมเจรจาโดยที่มีปืนจ่อหัวอเมริกันชนอยู่”
หลังจากที่พรรคเดโมแครตซึ่งเป็นฝ่ายบริหารและมีเสียงข้างมากในวุฒิสภา กับพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร สามารถบรรลุข้อตกลงที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการหล่นกลิ้งลงมาจาก “หน้าผาการคลัง” ได้อย่างหวุดหวิดยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ เวลานี้บรรดานักการเมืองของทั้งสองพรรคในกรุงวอชิงตันก็กำลังเปิดศึกในประเด็นการคลังรอบใหม่ โดยคราวนี้คือเรื่องเพดานการก่อหนี้ ซึ่งเป็นตัวจำกัดปริมาณที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถกู้หนี้ยืมสินได้
สหรัฐฯ นั้นอาจต้องผิดนัดชำระหนี้ หากรัฐสภาโดยฝ่ายรีพับลิกันยังคงขัดขวางไม่ยอมขยายเพดานการก่อหนี้ สถานการณ์เช่นนี้ได้รับการตอกย้ำโดย เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งออกมากล่าวย้ำในการแสดงความคิดเห็นของเขาเองเมื่อวันจันทร์เช่นเดียวกัน
โอบามาได้งัดข้อกับคองเกรสมาหลายครั้งหลายหนแล้วในประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณและรายจ่ายของรัฐบาล และในวันจันทร์เขากล่าวย้ำว่า รีพับลิกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากสหรัฐฯถึงกับต้องผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา
ผู้นำทำเนียบขาวบอกว่า พร้อมหารือขั้นตอนในการลดภาวะการขาดดุลงบประมาณ แต่ต้องแยกจากประเด็นการขยายเพดานการก่อหนี้ และยืนกรานว่า การลดยอดขาดดุลงบประมาณควรครอบคลุมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ด้วย ไม่ใช่การมุ่งลดรายจ่ายเพียงด้านเดียว
ทว่า รีพับลิกันคัดค้านและต้องการให้รัฐบาลลดรายจ่ายลงบางส่วน โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการสังคม เพื่อควบคุมการขาดดุลงบประมาณ จากนั้นจึงจะยอมอนุมัติการขยายเพดานก่อหนี้อีกครั้ง
“ชาวอเมริกันไม่สนับสนุนการขยายเพดานการก่อหนี้ โดยที่รัฐบาลไม่ยอมลดรายจ่ายควบคู่ไปด้วย” จอห์น โบห์เนอร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกันโต้กลับ
การต่อสู้เรื่องเพดานก่อหนี้ครั้งล่าสุดเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อตลาดการเงินโลก สำหรับครั้งนี้โอบามาชี้ว่า มันก็จะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อชาวอเมริกันและอุตสาหกรรมอ่อนไหวมากมาย พร้อมกับเตือนรีพับลิกันว่า ตนชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนส่วนหนึ่งเพราะแนวทางนโยบายด้านการคลัง
อันที่จริงแล้ว เรื่องการขยายเพดานการก่อหนี้เป็นเพียง 1 ใน 3 ประเด็นที่มีเส้นตายจะต้องบรรลุข้อตกลงให้ได้ในสิ้นเดือนหน้า โดยอีก 2 หัวข้อได้แก่ มาตรการตัดลดงบประมาณรายจ่ายก้อนมหึมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งข้อตกลงหน้าผาการคลังเพียงแค่เลื่อนเวลาออกมาอีก 2 เดือน และประเด็นสุดท้ายคือมาตรการงบรายจ่ายชั่วคราวเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ยังคงมีเงินใช้จ่ายดำเนินงานต่อไปโดยไม่ต้องปิดทำการเพราะหมดงบประมาณ
ชาวรีพับลิกันจำนวนหนึ่งบอกว่า เต็มใจปล่อยให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้หรือหน่วยงานรัฐบาลปิดทำการ เพื่อบีบให้โอบามายินยอมที่จะตัดลดงบประมาณรายจ่ายโดยรวมโดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการสังคม เพิ่มขึ้นจากที่ทำเนียบขาวปรารถนา
เห็นกันว่าการที่โอบามาจัดการแถลงข่าวแบบไม่มีกำหนดการมาก่อนในครั้งนี้ น่าจะเป็นการเดินหมากแบบเข้าโจมตีก่อนเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ โดยที่สมาชิกรีพับลิกันนัดหมายจะประชุมกันปลายสัปดาห์นี้
นอกจากนั้นในวันจันทร์เช่นกัน กระทรวงการคลังได้ออกมาเตือนว่าอเมริกาจะหมดหนทางหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในช่วงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ถ้าหากรัฐสภาไม่อนุมัติการขยายเพดานก่อหนี้จากระดับ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน
กระทรวงการคลังแจงว่า อเมริกากู้ยืมถึงระดับเพดานหนี้ที่กำหนดแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการใช้มาตรการยักย้ายถ่ายเทเป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐบาลยังคงสามารถชำระหนี้ได้ ทว่าหนทางที่จะทำเช่นนี้ได้กำลังตีบตันลงเรื่อยๆ
ในวันจันทร์เช่นกัน เบอร์นันกี ประธานเฟดออกมาสำทับอีกแรงโดยเรียกร้องให้รัฐสภาขยายเพดานก่อหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เลวร้ายจากการผิดนัดชำระหนี้ และเตือนว่า เศรษฐกิจแดนอินทรียังเผชิญความเสี่ยงจากทางตันทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นการขาดดุลงบประมาณ
ระหว่างปาฐกถาในงานที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนจัดขึ้น นายใหญ่เฟดแจงว่าการขยายขีดจำกัดในการกู้ยืมตามกฎหมาย หาใช่การอนุมัติการใช้จ่ายก้อนใหม่ๆ ให้แก่รัฐบาล
เบอร์นันกีเสริมว่า แม้เมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ รัฐสภาและทำเนียบขาวเห็นพ้องขยายมาตรการลดภาษีให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 450,000 ต่อปีเพื่อหลีกเลี่ยงหน้าผาการคลัง อันอาจทำให้อเมริกากลับสู่ภาวะถดถอย แต่สถานการณ์ยังวางใจไม่ได้ เนื่องจากยังมีประเด็นสำคัญทางการคลังมากมายที่ต้องสะสาง