คณะกรรมการกำกับดูแลการบัญชีบริษัทมหาชน (PCAOB) ของสหรัฐตำหนิบริษัทไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอส์ (PwC) ว่า ไม่ได้ดำเนินการมากพอในการรับประกันว่า การตรวจสอบบัญชีของทางบริษัทได้ดำเนินไปอย่างเหมาะสมโดยการตำหนิในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งที่ PCAOB จะตำหนิบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ต่อสาธารณชน
PCAOB ระบุว่า PwC ไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพอย่างทันท่วงที หลังจาก PCAOBตรวจพบปัญหาดังกล่าวในการตรวจสอบบัญชีของ PwCในปี 2007 และ 2008 ซึ่งรวมถึงปัญหาเรื่องการกำกับดูแลที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
ก่อนหน้านี้ PCAOB เคยตำหนิการควบคุมคุณภาพในบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ต่อสาธารณชนเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น โดยในเดือนต.ค.2011 PCAOBได้ตำหนิบริษัทดีลอยท์ แอนด์ ทู้ช ว่าไม่ได้ดำเนินการมากพอในการปรับปรุงคุณภาพการตรวจสอบบัญชีอย่างทันท่วงที
บริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ของโลกมีอยู่ 4 แห่งในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ PwC, ดีลอยท์ แอนด์ ทู้ช, KPMG และเอิร์นส์ แอนด์ ยัง
ในแถลงการณ์ที่แนบมากับรายงานของ PCAOB นั้น บริษัท PwC ระบุว่าทางบริษัทได้ดำเนินมาตรการในการแก้ปัญหาเหล่านี้แล้ว ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมและปรับปรุงเครื่องมือในการตรวจสอบบัญชี
PwC ระบุในบันทึกภายในบริษัทว่า PwC มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ข้อสรุปของPCAOB ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของสหรัฐ แต่ PwC ตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ เพราะ PwC ไม่ต้องการใช้เวลาไปกับผลการตรวจสอบ "ที่เราเชื่อว่าเราได้แก้ไขไปแล้วหรือกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ในปัจจุบัน"
PCAOB ระบุว่า รายงานที่ออกมาเมื่อวานนี้ไม่ใช่การลงโทษทางวินัยและไม่จำเป็นว่าจะต้องนำไปสู่การดำเนินการทางวินัย อย่างไรก็ดี PCAOBสามารถดำเนินการทางวินัยต่อบริษัทและบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ
การลงโทษผู้ตรวจสอบบัญชีอาจรวมถึงการสั่งปรับ, การสั่งพักงานและการห้ามตรวจสอบบัญชีบริษัทมหาชน และถึงแม้ไม่มีการลงโทษทางวินัยต่อPwC แต่รายงานของ PCAOB ก็ได้สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของ PwC
รายงานนี้ออกมาในขณะที่ภาคเอกชนสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากวิกฤติสินเชื่อ แต่ยังคงมีความไม่มั่นใจในบทบาทของผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของบริษัทต่างๆในแต่ละปี
หลังจากเกิดข่าวอื้อฉาวทางการบัญชีของบริษัทเอ็นรอน คอร์ปเมื่อกว่าสิบปีก่อน PCAOB และบริษัทที่ PCAOB สอดส่องดูแลก็ยังคงเป็นจุดศูนย์กลางของการอภิปรายในเรื่องวิธีการปรับปรุงการตรวจสอบบัญชี
นายแอนโธนี คาทาแนช อาจารย์ด้านบัญชีในมหาวิทยาลัยวิลลาโนวากล่าวว่า "ในที่สุด PCAOB ก็แสดงเขี้ยวเล็บของตัวเองออกมา และออกรายงานที่มีความหมายอย่างแท้จริง" อย่างไรก็ดี นายคาทาแนชกล่าวเสริมว่า ลูกค้าจะยังคงว่าจ้างบริษัทตรวจสอบบัญชีเหล่านี้ต่อไป ถึงแม้ทางบริษัทถูกตำหนิจากPCAOB
"ปัญหาอยู่ที่ว่าการบังคับใช้กฎระเบียบจะออกมาในรูปใด" นายคาทาแนชกกล่าว
การควบคุมคุณภาพ เช่น การฝึกอบรม, การกำกับดูแล และการจ้างพนักงาน ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากต่อบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ เพราะบริษัทกลุ่มนี้มักจะใช้บัณฑิตใหม่ที่ขาดประสบการณ์จำนวนหลายพันคนในการทำงานประจำ
รายงานของ PCAOB ระบุถึงรายละเอียดในเรื่องการกำกับดูแลผู้ตรวจสอบบัญชีของ PwC โดยรายงานระบุว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีบางคนดูเหมือนไม่ได้รับการกำกับดูแลที่มากพอ และไม่มีการสอดส่องดูแลปริมาณงานของหุ้นส่วนบางรายในช่วงที่มีงานมาก
PCAOB ระบุว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้คัดค้านรายงานของผู้จัดการบริษัทและในบางครั้งผู้ตรวจสอบบัญชีก็เชื่อคำพูดของผู้จัดการบริษัทเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา
PCAOB ระบุว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีพึ่งพาประสบการณ์และความรู้ทางการตรวจสอบบัญชีที่สั่งสมมาจากการทำงานในอดีตในระดับที่มากเกินไป แทนที่จะพึ่งพาหลักฐานใหม่
PCAOB ยังระบุว่า ในประเด็นทางบัญชีที่มีความซับซ้อนสูง เช่น มูลค่า fair value ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้ตั้งคำถามต่อคำกล่าวอ้างของผู้บริหารบริษัท ถึงแม้คำกล่าวอ้างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักฐานในเอกสาร
PCAOB ตำหนิ PwC ว่า ทางบริษัทไม่ได้ "ตั้งข้อสงสัยทางวิชาชีพ" ในระดับที่มากพอต่อความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในฝ่ายบริหาร การตั้งข้อสงสัยทางวิชาชีพคือการที่ผู้ตรวจสอบบัญชีมีหน้าที่ตั้งข้อสงสัยต่อบัญชีของบริษัท เพื่อจะได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นอิสระต่องบการเงินที่อาจสร้างความเข้าใจผิด
สภาคองเกรสของสหรัฐจัดตั้ง PCAOB ขึ้นในปี 2002 เพื่อกำกับดูแลผู้ตรวจสอบบัญชี หลังจากเกิดข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตทางบัญชีในบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เอ็นรอน โดยก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมการตรวจสอบบัญชีใช้วิธีกำกับดูแลตนเอง
PCAOB เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนบางประการในอุตสาหกรรมนี้ โดยเสนอให้มีการออกกฎให้บริษัทต่างๆต้องเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีทุก 2-3 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเกินไป
PCAOB สำรวจบริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ทุกปี แต่ PCAOB จะไม่เปิดเผยคำตำหนิบริษัทตรวจสอบบัญชีต่อสาธารณชน ถ้าหากบริษัทแห่งนั้นแก้ไขปัญหาภายในเวลา12 เดือนหลังจาก PCAOBออกรายงานสำรวจ
นอกจากนี้ PCAOB จะไม่เปิดเผยการดำเนินการทางวินัยจนกว่าบริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งนั้นจะหมดโอกาสยื่นอุทธรณ์แล้ว โดยกฎหมายซาร์บานส์-ออกซ์ลีย์ในปี 2002ได้ระบุห้ามการเปิดเผยเรื่องการดำเนินการทางวินัยต่อสาธารณชน
ในช่วงที่มีการจัดทำกฎหมายซาร์บานส์-ออกซ์ลีย์นั้น สมาชิกสภาคองเกรสกังวลว่า การเปิดเผยปัญหาเรื่องคุณภาพการตรวจสอบบัญชีก่อนที่บริษัทแห่งนั้นจะมีโอกาสแก้ไขปัญหา จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน และอาจส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากเลิกใช้บริการของบริษัทแห่งนั้น
ความกังวลในเรื่องนี้มีสาเหตุมาจากการล่มสลายของบริษัทอาร์เธอร์แอนเดอร์เซน ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอ็นรอน ซึ่งการล่มสลายของบริษัทแห่งนี้ส่งผลให้คู่แข่งในอุตสาหกรรมการตรวจสอบบัญชีมีจำนวนน้อยลงไปอีก