หลังจากเปิดเวทีให้นักศึกษาที่มีความสามารถจากทั่วประเทศ ได้ร่วมแสดงศักยภาพผ่านโครงการแข่งขันแผนธุรกิจ Deloitte Thailand Business Case 2013 ซึ่งบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (ดีลอยท์ ประเทศไทย) จัดขึ้นเพื่อต้องหารเฟ้นหานักศึกษาที่มีศักยภาพในการเข้าแข่งขันแผนธุรกิจในระดับสากล ในหัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะโน้มน้าวคณะกรรมการงานมหกรรมโลก (บีไออี) ให้เลือกประเทศไทย เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโลกเวิล์ดเอ็กซ์โป 2020”
ล่าสุด จากการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ในวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถคว้าชัยชนะได้โอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมในการแข่งขันดังกล่าว ในรายการ Deloitte International Student Business Forum 2013 ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2556 ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ได้มาจัดการแข่งขันในประเทศไทย
โดย นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (ดีลอยท์ ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เป็นธรรมเนียมของทุกปีที่บริษัทดีลอยท์จะเปิดเวทีเพื่อหาสุดยอดนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมโครงการแข่งขันความสามารถด้านทักษะในการบริหารธุรกิจ International Student Business Forum หรือ ISBF เพื่อส่งเสริมเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ให้มีโอกาสได้แสดงออกถึงความรู้ความสามารถ ความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีมเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนและท้าทาย และปีนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากประเทศไทยถูกเลือกให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขัน ISBF 2013
สำหรับการแข่งขันในปีนี้ ดีลอยท์ประเทศได้จัดโครงการแข่งขันแผนธุรกิจ Deloitte Thailand Business Case 2013 ขึ้นเพื่อเฟ้นหานักศึกษาที่มีศักยภาพในการเข้าแข่งขันแผนธุรกิจในระดับสากล ในหัวข้อ “ทำอย่างไรจึงจะโน้มน้าวคณะกรรมการงานมหกรรมโลก (บีไออี) ให้เลือกประเทศไทย เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมโลกเวิล์ดเอ็กซ์โป 2020” โดยจะต้องเป็นเยาวชนไทยที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 3 และ 4 ในสาขาบริหารธุรกิจหรือสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏว่า มีนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันและผ่านเกณฑ์คัดเลือกในรอบแรก 15 คน จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นายสุภศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เกณฑ์การตัดสินผู้ชนะจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือคะแนนในส่วนทีม และคะแนนส่วนบุคคล โดยคะแนนในส่วนทีม จะพิจารณาจากแผนธุรกิจที่สมบูรณ์ครบถ้วนและครอบคุลมหลักเกณฑ์ที่กำหนด ชัดเจน มีข้อมูลสนับสนุนและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง รวมถึงการทำงานเป็นทีม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการนำเสนอ คะแนนส่วนบุคคล จะพิจารณาโดยดูจากความรู้ความเข้าใจในแผนธุรกิจของทีมและสามารถนำเสนอแผนงานในส่วนที่ตนได้รับมอบหมายได้ดี มีความมั่นใจ มีการเตรียมตัวที่ดีและสามารถตอบข้อซักถามของคณะกรรมการตัดสินได้ดีที่สุด ซึ่งจะคัดเลือกเหลือผู้ชนะเลิศเพียง 2 คนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตัดสินได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ นายอรรคพล สรสุชาติ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน., นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจโฆษณาแห่งประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทิร์นอะราวด์ โฟกัส จำกัด, และผู้บริหารระดับสูงจากดีลอยท์ ประเทศไทย อีก 3 ท่าน ประกอบด้วย นายอภิรักษ์ จาตุกัญญาประทีป พาร์ทเนอร์ บริการที่ปรึกษาธุรกิจ, มร.คาเมรอน แม็คคัลลัฟ (Cameron Mccullough) พาร์ทเนอร์ บริการที่ปรึกษาด้านภาษีและกฎหมาย และ มร.ไมเคิล ฟิโอเร่ (Michael Fiore) พาร์ทเนอร์ บริการที่ปรึกษาด้านสอบบัญชี
ทั้งนี้ จากการแข่งขัน ในวันที่ 19 - 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาผลปรากฎว่า น.ส.ธัชสุดา ศิริฤกษ์พิพัฒน์ นิสิตปีที่ 4 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.ภัสสรา จันทร์ศรีพิบูล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักศึกษาจากประเทศไทยเข้าแข่งขัน ISBF 2013 พร้อมรับทุนการศึกษาคนละ 20,000 บาท โอกาสในการทำงานกับดีลอยท์ และประกาศนียบัตร สำหรับนักศึกษาที่ผ่านรอบแรกอีก 13 คน จะได้รับทุนการศึกษาคนละ 5,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร
“น้องเอม” หรือ น.ส.ธัชสุดา ศิริฤกษ์พิพัฒน์ นิสิตปี 4 จุฬาฯ เผยถึงความรู้สึก ว่า รู้สึกเป็นการแข่งขันที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะจากประสบการณ์ที่เคยผ่านการแข่งขันมา จะเป็นการแข่งเป็นทีมที่มาจากสถาบันเดียวกัน มีความคุ้นเคยรู้ใจกันและซักซ้อมเป็นอย่างดี แต่มาครั้งนี้เป็นอะไรที่ใหม่มากเพราะต่างมาจากคนละสถาบัน มีประสบการณ์และความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน ก็เลยต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ถือเป็นข้อดีเพราะเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากคนอื่นด้วย นอกจากนี้ โจทย์ที่ได้ยังเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นอะไรที่จะเกิดขึ้นจริงๆ จึงรู้สึกดีมากที่เรามีส่วนในการช่วยออกความคิดเห็นในการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก ซึ่งมีความยิ่งใหญ่ระดับประเทศ
ขณะที่ น.ส.ภัสสรา จันทร์ศรีพิบูล หรือ “น้องจิ๊ก” นศ.ปี 3 มธ.เล่าว่า “กิจกรรมดังกล่าวสอนให้มองโลกในแง่ดี เพราะคิดไม่ถึงว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจะสามารถทำแผนออกมาได้ดี สิ่งสำคัญมากคือเรื่องของทีมที่ทุกคนเป็นคนเก่งและมีไอเดียดีๆ การพูดคุยหากเปิดใจรับฟังกันแล้วจะทำให้งานมีประสิทธิภาพมาก ถึงแม้จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ต้องใช้ความอดทนในการทำงานร่วมกันให้เข้าใจและสื่อสารแนวคิดให้ตรงกันที่สุด เพราะเมื่อถึงเวลานำเสนอแผน จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วมาก จิ๊กเชื่อว่าคนไทยมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่รู้ว่าประเทศไทยกำลังเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงาน World Expo 2020 ซึ่งรู้สึกท้าทายมาก การมีโอกาสเข้าไปแข่งขันต่อในระดับ ISBF 2013 ที่จะมีขึ้นก็รู้สึกยิ่งเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งเมื่อเราได้ไปร่วมกิจกรรมกับเค้าก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดี”
สำหรับ น.ส.ธัชสุดา และ น.ส.ภัสสรา ผู้ชนะเลิศ Deloitte Thailand Business Case 2013 จะเข้าร่วมการแข่งขัน ISBF 2013 ในระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2556 นี้ ณ โรงแรมปาร์คนายเลิศ โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากนานาประเทศกว่า 70 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ไอร์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์ โปแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ตุรกี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยที่ผ่านมานักศึกษาจากแต่ละประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน กว่า 4,500 คน