xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 5 ปีอุตสาหกรรมผลิตเวียดนามแซงหน้าไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผลการสำรวจของดีลอยท์ระบุชัด ปีนี้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 11 ของโลก แต่ในอีกห้าปีข้างหน้าไทยจะตกไปอยู่อันดับที่ 15

นางสาวนวลใจ กิตติศรีบูรณ์กุล หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญสายงานธุรกิจอุตสาหกรรม ดีลอยท์เซาท์อีสต์เอเชีย (Manufacturing Industry Leader, Deloitte Southeast Asia) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกปี 2556 ของดีลอยท์ ซึ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีศักยภาพสูงในแง่ของการแข่งขัน โดยประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น สิงคโปร์, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม สามารถเกาะกลุ่มอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก และคาดว่าในอีกห้าปีข้างหน้าประเทศที่กล่าวมาส่วนใหญ่จะเลื่อนอันดับสูงขึ้นหรืออย่างน้อยก็รั้งอันดับเดิมไว้ได้ โดยเฉพาะตลาดชายขอบที่กำลังมาแรงอย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียในปีนี้อยู่อันดับที่ 17 คาดว่าในอีกห้าปีจะเลื่อนขึ้นไปอยู่อันดับที่ 11 ส่วนประเทศยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่างประเทศจีนซึ่งขณะนี้อยู่ในอันดับ 1 นั้น อีกห้าปีก็จะยังสามารถรักษาอันดับไว้ได้เหมือนเดิม ในขณะที่ยักษ์ใหญ่อีกรายคืออินเดียจะเลื่อนจากอันดับ 4 ในปัจจุบัน เป็นอันดับ 2 รองจากจีน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จีนและอินเดียจะยังโดดเด่นในอุตสาหกรรมการผลิต แต่ในความเป็นจริงผู้ผลิตเริ่มหันความสนใจไปยังตลาดชายขอบมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการตลาดท้องถิ่นที่เติบโตขึ้น รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีความสำคัญในห่วงโซ่สายการผลิตโลก

ขณะเดียวกัน มหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมต่างประสบภาวะสั่นคลอนอย่างรุนแรง ในอีกห้าปีข้างหน้าสหรัฐอเมริกาจะหล่นจากอันดับ 3 ไปอยู่ที่อันดับ 5 ตามมาด้วยเกาหลีใต้ในอันดับ 6 เยอรมนีซึ่งปัจจุบันอยู่ในอันดับ 2 จะหล่นไปอยู่อันดับ 4 ตามหลังบราซิลซึ่งจะขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แทนที่สหรัฐอเมริกา แม้กระทั่งญี่ปุ่นซึ่งตอนนี้อยู่อันดับ 10 จะร่วงหลุดจากโผท็อปเท็นลงไปอยู่อันดับที่ 12 ยิ่งไปกว่านั้น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในยุโรปจะลดลงอย่างมาก เปิดทางให้เอเชียผงาดขึ้นมาแทนที่

ด้านนางเดบอราห์ แอล. วินซ์-สมิธ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาการแข่งขันแห่งสหรัฐอเมริกา แสดงทัศนะว่า การตกอันดับของภูมิภาคอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ จัดว่าเป็นแนวโน้มอันตรายที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาทางกำหนดมาตรการจัดการโดยด่วน

“เราต้องตีโจทย์ให้แตกถึงความซับซ้อนและความเชื่อมโยงที่เป็นตัวขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิต และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหลายอย่างที่เกิดขึ้นที่ทำให้โฉมหน้าเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งมาก นโยบายและการจัดการที่ชาญฉลาดจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อเมริกาเข้มแข็งขึ้น” นางวินซ์-สมิธกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น