นักวิชาการตั้งข้อสังเกตพม่าหยุดจ่ายก๊าซอาจทำผิดสัญญา สามารถเรียกร้องขอลดราคารับซื้อก๊าซได้ร้อยละ 25 เพื่อนำมาลดค่าไฟฟ้า ส่วนระยะยาวควรหาแนวทางการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
นายนพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและนโยบายพลังงาน ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “วิกฤตพลังงาน ไทยจะประสบวิกฤตไฟฟ้าไม่พอใช้จริงหรือ” โดยมองว่าไทยยังมีความเสี่ยงปัญหาไฟตกไฟดับ ในช่วงระหว่างวันที่ 5-14 เมษายนนี้ ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาหยุดการจ่ายก๊าซฯ เนื่องจากความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในช่วงนั้น มีระดับใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
อย่างไรก็ตาม 3 การไฟฟ้ายืนยันตรงกันว่ามีหลายมาตรการรองรับวิกฤต ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ เพราะเจรจากับภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ แต่มองว่าควรเพิ่มการขอความร่วมมือจากภาคราชการ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการที่ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม จึงอาจขอความร่วมมือหยุดการทำงานของหน่วยงานในสังกัดช่วงวันที่ 8-11 เมษายน ซึ่งจะช่วยลดความต้องการในการใช้ไฟฟ้าลงอีก
ส่วนระยะยาว ไทยควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย โดยเฉพาะพลังงานทดแทน พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) โดยมีการออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อกำหนดนโยบายในการลดใช้พลังงาน ซึ่งกฎหมายนี้จะส่งเสริมให้ย้ายเวลาการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงบ่ายที่มีความต้องการใช้ไฟสูง ขณะเดียวกันเปิดช่องให้ประมูลให้มีการลงทุนแข่งขัน ในการลดใช้พลังงาน เพื่อให้ความสามารถในการผลิตไฟฟ้ากับความต้องการมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ควรส่งเสริมระบบ Smart Grid ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปสามารถลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และขายไฟฟ้าคืนเข้าระบบได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนอุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนถูกลง และทำให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ในที่สุด
นายนพพรกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ตามที่บางกลุ่มเสนอแนะ เพราะยังมีทางเลือกอื่นๆ โดยเฉพาะการลดใช้ไฟฟ้าของทุกภาคส่วน ซึ่งหากบริหารจัดการอย่างจริงจังจะลดการใช้ได้อีกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินควรพิจารณาหลังจากดำเนินการเรื่องนี้จนครบทุกด้านแล้ว
ด้าน น.ส.ชื่นชม สง่าราศรี ผู้ช่วยวิจัยด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. กับพม่า ระบุว่า การหยุดซ่อมแท่นขุดเจาะก๊าซฯ จะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าทุกปี ครั้งละไม่เกิน 15 วัน แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดังนั้นจึงควรเลื่อนการซ่อมแซมมาอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าไม่สูง ต่างจากช่วงเดือนเมษายนที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงจากอากาศร้อน
นอกจากนี้ สัญญายังระบุว่าระหว่างการซ่อมจะต้องจัดส่งก๊าซฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณจัดส่งตามสัญญา และหากไม่สามารถนำส่งก๊าซฯ ได้ ก็มีบทลงโทษ คือ ฝ่าย ปตท.จะได้สิทธิ์ซื้อก๊าซฯ เฉพาะส่วนที่ขาดหายไปได้ภายหลังในราคาลดลงร้อยละ 25 ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ได้เรียกร้องสิทธิ์นี้และนำส่วนลดที่ได้มาช่วยมาลดค่าไฟหรือไม่ เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาแหล่งก๊าซฯ ในพม่าหยุดเพื่อปิดซ่อมทุกปี