“บีโอไอ” เผย ม.ค. 56 ยอดขอรับส่งเสริมฯ 185 กิจการยังโตต่อเนื่อง มั่นใจยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ยังไม่มีผลต่อการชะลอตัวการลงทุนทั้งปียังอยู่ภาวะปกติ 6-7 แสนล้านบาท พร้อมเคลียร์ปัญหาคาใจเอกชนสิทธิประโยชน์ใหม่ เผยนักลงทุนภาคอีสานเริ่มตื่นตัวมองการไปลงทุนในพม่า-ลาวเพิ่ม
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ : เพื่ออุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน ว่า การปรับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ยังไม่มีผลต่อการชะลอการลงทุนในขณะนี้ โดยล่าสุดคำยื่นขอรับการส่งเสริมฯ เดือน ม.ค. 56 มียื่นมาทั้งสิ้น 185 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 7.48 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบกับ ม.ค. 55 ที่มีการยื่นขอทั้งสิ้น 102 โครงการ มูลค่า 7.34 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2556 ทั้งปีจะอยู่ระดับ 6-7 แสนล้านบาท
“ภาพรวมการลงทุนปี 2555 ที่สูงเป็นประวัติการณ์โดยมีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทเนื่องจากเป็นปีที่มีอัตราการเติบโตที่ผิดปกติจากที่อั้นมาจากน้ำท่วมในช่วงปี 2554 อย่างไรก็ตาม ปีนี้ภาพรวมการลงทุนน่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในระดับ 6-7 แสนล้านบาท ส่วนการปรับยุทธศาสตร์ลงทุนใหม่ของบีโอไอน่าจะไปมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในปี 2557มากกว่า” นายอุดมกล่าว
สำหรับการรับฟังความเห็นจากเอกชนครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นวันที่ 18 ก.พ.ที่ จ.สุราษฎร์ธานีหลังจากนั้นจะเปิดเวทีย่อยรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อที่จะนำมาปรับให้เหมาะสม ซึ่งหากการดำเนินงานทั้งหมดเสร็จสิ้น มี.ค.ก็จะประกาศได้ภายใน มิ.ย. 56 อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความเห็นครั้งที่ผ่านมาจะพบว่ามีประเด็นที่แนะนำ เช่น
เขตส่งเสริมฯ ที่แบ่งเป็นเขต 1-2-3 ที่เอกชนติงว่าเมื่อค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่พร้อมในเรื่องระบบสาธารณูปโภคอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งเรื่องนี้บีโอไอได้เน้นการส่งเสริมฯ แบบใหม่จะเน้นที่การรวมกลุ่ม(Cluster) ที่จะมองในเรื่องของมูลค่าสินค้ามากกว่ารายกิจการ นอกจากนี้ยังมีความเห็นประเภทกิจการที่จะยกเลิกส่งเสริมฯ จุดนี้คงจะต้องมาเคลียร์กันในรายละเอียด เช่น กรณีอาหาร ลูกอม การผลิตไม่ได้มีเทคโลยีหรือเชื่อมโยงอะไรก็จะไม่ส่งเสริมฯ แต่ถ้าเป็นอาหารที่มีเทคโนโลยีในการเพิ่มคุณค่าทางสารอาหารก็จะพิจารณาให้ เป็นต้น
น.ส.รัตนวิมล นารี ศุกรีเขตร ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 (ขอนแก่น) กล่าวว่า การลงทุนในภาคอีสานตอนบนขณะนี้นักลงทุนในพื้นที่ของไทยได้ติดต่อและหารือมายังศูนย์ฯ ถึงแนวทางการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับตลาดที่จะมีกำลังซื้อสูงจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเฉพาะพม่า และลาว
“ตัวอย่างบริษัท K.C. Metal Sheet สนใจที่จะไปลงทุนที่พม่า และบางรายก็มองการลงทุนในเรื่องของพลังงานน้ำในลาว เป็นต้น ก็ถือว่ามีการตื่นตัวพอสมควรซึ่งก็สอดรับกับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่บีโอไอที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศด้วย” น.ส.รัตนวิมลกล่าว
น.ส.ชุติมา พุ่มศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 2 (นครราชสีมา) กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นประตูการค้าสู่อินโดจีนที่จะเชื่อมกับ AEC ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการลงทุนในอีสานตอนล่างขณะนี้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและพลังงานทดแทนได้รับความนิยมสูง