คมนาคมเปิดโต๊ะเจรจาสหภาพ กทท. “ชัชชาติ” โยนอำนาจบอร์ด พิจารณาปลด “วิโรจน์” ชี้มีขั้นตอนและระเบียบชัดเจนอยู่แล้ว พร้อมเตรียมแผนสำรองกันพลาดไม่ให้กระทบนำเข้า-ส่งออก
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย (สร.กทท.) ได้หารือร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเป็นการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นใน กทท.ที่ทำให้สหภาพ กทท.ออกมาประท้วงขับไล่ เรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท. โดยนายชัชชาติเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้แจ้งกับสหภาพ กทท.ว่ากระทรวงคมนาคมยินดีรับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และร่วมกันหาทางแก้ไข โดยไม่ต้องการให้พนักงานหยุดงาน ซึ่งทางสหภาพฯก็ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง แต่หากมีปัญหาเกิดขึ้นกระทรวงคมนาคมก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว โดยเตรียมท่าเรือเอกชนที่มีอยู่ไว้รองรับการขนถ่ายสินค้าแทน รวมถึงท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ด้วย
“เป็นการพูดคุยทำความรู้จักกันเนื่องจากยังไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ในอดีตผู้บริหารและฝ่ายนโยบายอาจจะไม่รับฟังปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่สมัยนี้พร้อมรับฟังทุกปัญหา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะนัดหยุดงาน ส่วนการทำงานก็ต้องเข้าใจว่าพนักงานกับผู้บริหารก็อาจจะมีความขัดแย้งกันบ้าง” นายชัชชาติกล่าว
ส่วนที่เรียกร้องให้ปลดเรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการ กทท.ออกจากตำแหน่งนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ที่มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน จะพิจารณาตามขั้นตอนและระเบียบที่มีกำหนดไว้ โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาก่อน คือ ข้อมูลเป็นอย่างไร มีเอกสารหลักฐานอะไรที่จะบ่งชี้ให้เห็นความผิดที่ชัดเจนหรือไม่ ส่วนเรื่องการลาออกหรือไล่ออก เป็นลำดับถัดมาที่จะพิจารณา ส่วนกรณีค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) นั้นเรื่องอยู่ที่ศาล ควรดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเมื่อศาลตัดสินออกมาอย่างไรต้องเป็นไปตามนั้น
นายจเร หมีดนุ ประธาน สร.กทท.กล่าวว่า ในวันเดียวกันได้มีการประชุมกิจการสัมพันธ์โดยฝ่ายบริหารยอมรับทุกเรื่องที่สหภาพฯได้เรียกร้องไป จึงไม่มีปัญหาแล้ว แต่ในการประชุมวิสามัญที่ผ่านมาสมาชิกได้ลงมติแล้วว่าไม่เอาผู้อำนวยการ กทท.คนปัจจุบัน เนื่องจากเป็นคนที่ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจโดยไม่มีเมตตาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา แม้แต่ระดับกรรมการบอร์ด เรือตรี วิโรจน์ ยังใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลด้วยการปัดเอกสารข้าวของลงจากโต๊ะทำงานของกรรมการบอร์ดนั้นๆเพื่อแสดงความไม่พอใจ
ทั้งนี้ สหภาพฯ ได้เสนอให้ดำเนินการกับเรือตรี วิโรจน์ 3 แนวทาง คือ 1. ลาออกเอง ซึ่งเชื่อว่าคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่ได้ค่าชดเชย 2. ให้บอร์ดพิจารณาไม่ผ่านการประเมินในเดือนมีนาคมนี้ แต่เห็นว่าอาจจะช้าเกินไป และ 3. ให้บอร์ดพิจารณาเลิกจ้างทันที โดยจ่ายชดเชย 6 เดือน หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท จากเงินเดือน 3 แสนบาท ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถดำเนินการได้ทันที และเรือตรีวิโรจน์ ยังได้รับผลตอบแทนก่อนออกจากตำแหน่งด้วย
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสหภาพฯ และเรือตรี วิโรจน์ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างพนักงานของ กทท.ทุกคนกับเรือตรี วิโรจน์