xs
xsm
sm
md
lg

ไม่พบโจมตีบาท โพลชี้พ่อค้า42%กระอัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าแบงก์ชาติเผยไม่มีสัญญาณการโจมตีค่าเงินบาทหรือลักษณะทุบราคา แม้ช่วงนี้เงินบาทแข็งค่าและมีเงินไหลเข้าลงทุนบอนด์ระยะสั้นมาก ปลื้มไทยยังมีมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินช่วยสกัดเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติได้ระดับหนึ่ง เผยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ม.หอการค้าชี้ผู้ประกอบการ 42.5%กระอัก กลุ่มส่งออกโดนหนักสุด

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เงินทุนไหลเข้ามาในไทยช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ต้นปียังไม่เห็นสัญญาณในการโจมตีค่าเงินบาทหรือมาในลักษณะทุบราคาหรือสร้างราคาที่ชี้นำไปทางใดทางหนึ่ง โดยยอมรับว่าเงินทุนไหลเข้ามาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพันธบัตรไทย โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่มีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติอาจไม่แน่ใจทิศทาง จึงลงทุนในช่วงเวลาสั้นๆมากขึ้น ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นก็มีน้อยลง เพราะอัตราส่วนกำไรต่อหุ้นค่อนข้างสูงขณะนี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติระมัดระวังการลงทุนลักษณะนี้

“ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดตราสารหนี้ทุกสิ้นวันในแง่ของเม็ดเงินค่อนข้างสมดุลทั้งปริมาณขาซื้อและขาขาย ขึ้นกับว่านักลงทุนจะเลือกซื้อหรือขายเวลาใด แต่ก็ไม่เห็นเกิดการโจมตีค่าเงินในลักษณะชี้นำไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือทุบราคายังไม่เห็น อีกทั้งมองว่าปัจจุบันประเทศไทยก็มีมาตรการป้อมปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่บ้าง อาทิ ต่างชาติลงทุนเป็นเงินบาท ถ้าไม่มี Underlying รองรับ เราจะมีข้อห้าม ทำให้นักลงทุนต่างชาติทำได้เล็กน้อยเท่านั้น”ผู้ว่าการธปท.กล่าว

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐจากแหล่งต่างๆ และหลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เพิ่มเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 2% พร้อมทั้งประกาศแผนผ่อนคลายมาตรการทางการเงินอื่นๆ ได้ส่งผลเม็ดเงินจากญี่ปุ่นไหลเข้ามาในไทยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายนโยบายการเงินของญี่ปุ่นจะส่งผลอย่างไร แต่ ธปท.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย

ขณะเดียวกัน ช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านเงินบาทแข็งค่า 3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อรวมในปีก่อนมาด้วยแล้วเงินบาทแข็งค่า 5-6% ถือว่าแข็งน้อยกว่าประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 9% เงินเปโซฟิลิปปินส์ 7% ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนริงกิตของมาเลเซียแข็งค่ากว่า 5% หรือเงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าเกือบ 5% ถือว่าใกล้เคียงเงินบาทไทย

ต่อข้อซักถามที่ว่ามีความเป็นห่วงเงินบาทเคลื่อนไหว 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐหรือไม่นั้น ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.จะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้และจะไม่พูดว่าจะใช้เครื่องมืออะไรช่วงเวลาใด จะทำอะไรหรือยัง หรือเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทหรือไม่ รวมถึงตอนนี้เงินบาทยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มภูมิภาคหรือไม่ เพราะมองว่าจะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ แต่ควรจะมีวิธีทำงานคล่องตัวมากขึ้น

**โพลชี้ผู้ประกอบการ 42.5%กระอัก ***

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการเกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่า โดยสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 400 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18-22 ม.ค.2556 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-22 ม.ค.2556 ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว 3% โดยแข็งค่ากว่าเงินในสกุลอื่นในเอเชีย และเงินสกุลสำคัญในโลก ทั้งค่าเงินเยน เงินยูโร ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึง 3% ผู้ตอบมากถึง 42.5% ระบุส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตนเองมาก ส่วนอีก 39.1% ระบุกระทบปานกลาง อีก 18.3% ระบุกระทบน้อย มีเพียง 0.1%ที่ระบุไม่กระทบ

สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งมากที่สุด คือ กลุ่มส่งออก รองลงมา คือ กลุ่มส่งออก-นำเข้า, กลุ่มส่งออก-ขายสินค้าในประเทศ, กลุ่มนำเข้า-ส่งออก และขายในประเทศ ขณะที่กลุ่มนำเข้าจะได้ประโยชน์มากที่สุด ตามด้วยกลุ่มนำเข้า-ขายในประเทศ โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ระบุว่า ยอดส่งออกสินค้าจะลดลง 8.7% ส่วนยอดนำเข้า จะเพิ่มขึ้น 10.2% ต้นทุนการส่งสินค้า เพิ่มขึ้น 15.4% ต้นทุนการผลิตสินค้า เพิ่มขึ้น 11.8% ยอดรับคำสั่งซื้อ เพิ่มขึ้น 2.1% สินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้น 5.6%

ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.00-29.50 บาท/เหรียญสหรัฐ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผลกระทบในด้านต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น โดยยอดการส่งออกสินค้า จะลดลง 14.7% ยอดการนำเข้า เพิ่มขึ้น 9.8% ต้นทุนการส่งสินค้า เพิ่มขึ้น 20.4% ต้นทุนผลิตสินค้า เพิ่มขึ้น 14.3% ยอดรับคำสั่งซื้อ ลดลง 2.7% และสินค้าคงคลัง เพิ่มขึ้น 4.8%

“ผู้ประกอบการเห็นว่าเงินบาทที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจควรอยู่ที่ 31 บาท/เหรียญสหรัฐ ระดับที่ไม่ส่งผลต่อการส่งออกอยู่ที่ 30.2 บาท/เหรียญสหรัฐ ขณะที่อัตราที่ยังรับได้อยู่ที่ 29.40 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่จะแบกรับได้นานเพียง 1 เดือนครึ่งเท่านั้น ซึ่งรัฐต้องเข้ามาดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป และไม่ให้แข็งกว่าคู่แข่ง หากประคองได้ การส่งออกปีนี้ก็ไม่น่าสะดุด โดยศูนย์ฯ มองว่า การส่งออกจะยังขยายตัวได้ 6-8%”นายธนวรรธน์กล่าว

****สอท. หามาตรการรับบาทแข็งชงธปท.สัปดาห์หน้า

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศเทศ (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้(25 ม.ค.)ส.อ.ท.จะมีการหารือผลกระทบจากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า เพื่อเตรียมมาตรการในการนำเสนอต่อนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายในวันที่ 28-29 ม.ค.2556 นี้ ซึ่งเบื้องต้นภาคเอกชนเห็นว่าที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพราะเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาดูแล

สำหรับการประชุมภาคเอกชน จะมีการสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการส่งออกทั้งหมด รวมถึงแนวทาง ข้อเสนอต่างๆ เพื่อเตรียมหารือกับผู้ว่า ธปท. โดยข้อเสนอ เช่น เสนอให้เก็บเงินสำรองจากเงินทุนไหลเข้า เพื่อป้องกันการเข้ามาเก็งกำไร และลดแรงกดดันค่าเงินบาท แนวทางประกันความเสี่ยงการส่งออก หรือมาตรการลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งต้องดูว่าทางธปท.จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

“เอกชนเป็นห่วงค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้ โดยในช่วง 1 เดือนกว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 1-2 ของภูมิภาค ใกล้เคียงกับค่าเงินเยน ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการส่งของไทย ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศค่อนข้างมาก จึงอยากให้ ธปท.เข้ามาดูแล ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกาะกลุ่มไปกับภูมิภาค”นายพยุงศักดิ์กล่าว

***บาทแข็งสบช่องตุนดอลล์ลงทุนเพื่อนบ้านหนีค่าจ้าง300บ.

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตาสหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรักษาการประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะมีผลให้นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันและได้ตัดสินใจจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน
เริ่มมีการตุนเงินสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกามากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการไปสร้างโรงงานและซื้อที่ดินเพราะค่าเงินที่แข็งค่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลดรายจ่ายด้านการลงทุนค่อนข้างมาก

“ ธุรกิจที่มีแผนไปตั้งฐานผลิตกำลังเก็บเงินดอลลาร์เพื่อไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านเพราะเดิมผู้ประกอบการไทยต้องใช้เงินไทยแลก 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก็จะใช้เงินเพียง 29.50 บาทต่อดอลลาร์ หากลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ก็จะใช้เงินเพียง 2,950 ล้านบาท จากเดิมที่ต้องใช้เงิน 3,050 ล้านบาทหรือประหยัดเงินได้ถึง100 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้จะช่วยให้คนที่ตัดสินใจจะไปต่างประเทศอยู่แล้วก็จะเป็นตัวเร่งให้ไปเร็วขึ้น แต่หากคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะไปลงทุนในเพื่อนบ้านเรื่องค่าเงินยังไม่จูงใจอะไรมากนัก เพราะการทำธุรกิจต้องศึกษาตลาด ทำเลที่ตั้ง และกฎระเบียบแต่ละประเทศก่อน”นายธนิตกล่าว


***บาทขณะนี้ควรอยู่ที่ 30

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารัฐบาลควรร่วมมือกับธปท.ในการหามาตรการดูแลโดยให้สอดคล้องกับภูมิภาคแต่ขณะนี้พบว่าไทยมีอัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่านำประเทศคู่แข่งและมีการแข็งค่าที่เร็วกว่าซึ่งข้อเท็จจริงในขณะนี้ค่าเงินบาทไทยไม่ควรจะอยู่ที่ประมาณ 30บาทต่อเหรียญสหรัฐเพื่อให้การส่งออกของไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันเทียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าได้

“รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก ค่าเงินบาทจึงเหมือนกับกลไกสำคัญที่จะทำให้ส่งออกมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากสุดขณะนี้เพราะค่าแรงที่ปรับขึ้นก็ทำให้ต้นทุนสินค้าไทยสูงไปแล้ว ประกอบกับตลาดโลกก็ยังซบเซา”นายสมมาตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น