xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมแล้วสะพานข้ามโขง 4 ต่อยอดขนส่งไทย-ลาว-จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - รองนายกฯ รมว.คมนาคมไทย-ลาว พร้อมผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ร่วมเทคอนกรีตชุดสุดท้ายสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 เชื่อมแผ่นดินไทย-ลาว เชื่อเสร็จเมษายน ปี 56 แน่ พร้อมนัดหารือวางระบบสินค้าผ่านแดนเชื่อมจีน 20 ธ.ค.นี้ ต่อด้วยการประชุมร่วมระดับรัฐบาล 2 ประเทศมีนาคม ปีหน้า สางปัญหากฎระเบียบการค้า

วันนี้ (12 ธ.ค.) นายสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการทรวงการต่างประเทศ ดร.ทองพูน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว (สปป.ลาว) ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ณ บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมมาตร พลเสนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว นายหลี เป่ย รองผู้ว่าการมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เข้าร่วม โดยเทคอนกรีตชุดสุดท้ายบริเวณกลางสะพานในเวลาประมาณ 12.12 น. ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือน 12 ปี 2012 ด้วย

นายสุรพงศ์กล่าวว่า สะพานแห่งนี้เชื่อมกลุ่มอาเซียนเข้าด้วยกัน และรัฐบาลก็มีนโยบายการเชื่อมโยงโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หลังจากที่ผ่านมาก็มีสะพานไทย-สปป.ลาวแล้วหลายแห่ง โดยแห่งนี้ถือเป็นแห่งที่ 4 ซึ่งถือเอาฤกษ์ 12/12/12 ในการเทคอนกรีตเชื่อมแผ่นดิน จากนั้นคาดว่าภายในเดือนเมษายน 2556 จะสร้างเสร็จได้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าที่สูงอยู่แล้วมีมากขึ้นไปอีก โดยตนจะรวบรวมตัวเลขการค้าสิ้นปีนี้เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับปีหน้าหลังสะพานก่อสร้างเสร็จ ซึ่งการประชุมระดับรัฐบาลกับ สปป.ลาวราวเดือนมีนาคม ปีหน้าจะได้หารือกันในรายละเอียดเรื่องนี้

“ผลจากการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ทำให้ที่ดินใกล้เคียงพุ่งสูงขึ้น บางแห่งซื้อ-ขายกันไร่ละกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนเมืองชายแดนเชียงของในอนาคตคาดว่าจะคึกคักใกล้เคียงกับชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย ซึ่งคนในพื้นที่มีความพร้อม เพราะคุ้นเคยกับด่านแม่สายอยู่แล้ว”

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า สะพานแห่งนี้เชื่อมถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ซึ่งที่เชียงรายยังมีถนนอาร์สามบีไทย-พม่า-จีนตอนใต้ ผ่านทาง อ.แม่สาย ทั้งสองเส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯ-คุนหมิง มณฑลยูนนาน ระยะทางประมาณ 1,800 กิโลเมตร คาดว่าเมื่อเชื่อมสะพานแล้วจะเปิดใช้งานได้ทันเดือนเมษายนปีหน้าแน่นอน จากนั้นจะเปิดให้เดินรถบรรทุกสินค้า ขณะเดียวกัน ทางกระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมที่ดินเอาไว้ใกล้สะพานประมาณ 200 ไร่ และใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาทสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพราะตามปกติจะมีรถบรรทุกสินค้าไทย-จีนเป็นจำนวนมาก ถ้ารถบรรทุกของจีนสามารถเปลี่ยนถ่ายสินค้าในฝั่งไทยได้จะลดปัญหาสภาพรถและการจราจรที่ต่างกันได้

“แม้สะพานจะสร้างเสร็จ โครงสร้างพื้นฐานการค้ามีความพร้อม แต่ยังมีปัญหาเรื่องวิธีการ กฎระเบียบ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ที่จะต้องปรับปรุง เพราะปัจจุบันสินค้าไทยและจีนเมื่อผ่าน สปป.ลาวก็จะกลายเป็นสินค้านำเข้า-ส่งออกของ สปป.ลาว ทำให้ผู้ประกอบการต้องทำพิธี 2 ครั้ง ดังนั้นต้องผลักดันให้เป็นการค้าผ่านแดนแทน โดยปิดผนึกครั้งเดียวแล้วส่งทะลุถึงกันเลย ซึ่งเรื่องนี้จะหารือกับระดับรัฐมนตรีของ สปป.ลาวในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันจะพัฒนาด้านถนนอาร์สามบีผ่านพม่าด้วย เพราะเส้นทางสายนี้ยังไม่เคยมีการขนส่งทางรถบรรทุก ทั้งที่ระยะทางใกล้กว่า สามารถเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการได้ ซึ่งจะได้หารือกับทางการพม่าเร็วๆ นี้”

นายชัชชาติกล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการใน จ.เชียงราย ทราบว่าปัจจุบันยังไม่มีถนนเลี่ยงเมือง ทำให้การขนส่งต้องผ่านถนนสายหลักกลางเมือง ซึ่งมีสี่แยกหลายแห่ง ส่งผลให้การจราจรติดขัด จึงจะนำไปพิจารณาดำเนินการ ขณะเดียวกัน ได้หารือเรื่องมอเตอร์เวย์เชียงราย-เชียงใหม่ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง การพัฒนาสนามบินที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ปีละกว่า 1 ล้านคน การพัฒนาระบบรางที่กำลังศึกษา แต่คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 8 ปีเพื่อเชื่อมเด่นชัย-เชียงราย และรถไฟความเร็วสูงเชียงราย-เชียงใหม่

ทั้งนี้ ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ มีการค้าชายแดนในปี 2554 มูลค่ารวม 8,199 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 2,268.3 ล้านบาท ส่งออก 5,931.1 ล้านบาท และปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้า 3,071 ล้านบาท ส่งออก 9,453.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นพืชผัก เครื่องจักร รถยนต์จากประเทศจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 7% ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค

ด้านการก่อสร้างสะพานนั้น รัฐบาลไทย จีน และ สปป.ลาว ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนร่วมระหว่างบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน. 5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน และบริษัท กรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย งบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,486.5 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2553 เดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธันวาคม 2555 รวมระยะเวลา 30 เดือน แต่ช่วงกลางปี 2554 มีปัญหาเรื่องการใช้ค่าเงินจ้างเอกชน ทำให้ล่าช้าออกไปถึงกลางปี 2556 ส่วนตัวสะพานมีความยาวประมาณ 480 เมตร เสาตอม่อ 4 ต้น มีความกว้าง 14.70 เมตร มีสองช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2 เมตร ทางเท้าข้างละ 1.25 เมตร เอกชนไทยทำการก่อสร้างถนนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รวม 11 กิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งไทย 5 กิโลเมตร สปป.ลาว 6 กิโลเมตร รวมทั้งอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่งด้วย







กำลังโหลดความคิดเห็น