xs
xsm
sm
md
lg

“ชัจจ์” ดูท่าเรือเชียงแสน รอ “ปู” เปิด-เสื้อแดงยื่นของบ บอกจะพัฒนา “เกาะในน้ำโขง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - “ชัชจ์” เร่งตรวจงานสร้างสะพานข้ามโขง 4-ท่าเรือเชียงแสน 2 รอ “ปู” ลงพื้นที่ทำพิธีเชื่อมแผ่นดินไทย-ลาว/เปิดท่าเรือ แกนนำเสื้อแดงถือโอกาสร้องของบ บอกจะพัฒนา “เกาะในน้ำโขง” ส่วนแบ่งรายได้จากท่าเรือ

พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม ได้เข้าตรวจดูการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสะพานกว้าง 14.70 เมตร สองช่องจราจร เชื่อมกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว-ถนน R3a ไปถึงจีนตอนใต้ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2556 จากนั้นเดินทางไปยังท่าเทียบเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน และประชุมรับฟังความคืบหน้าจากหน่วยงานต่างๆ ที่ห้องประชุมท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 โดยมีผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปทำพิธีเชื่อมแผ่นดินที่สะพานข้ามแม่น้ำโขง และเปิดท่าเรืออย่างเป็นทางการในวันนี้ (12 ต.ค.)

นายวีระ จินนิกร ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ กล่าวว่า ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 สร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาท่าเรือแห่งแรกไม่สามารถขยายเพื่อรองรับอนาคตได้ โดยมีศักยภาพรองรับสินค้าได้เพียง 2 แสนตันต่อปี แต่ที่ท่าเรือใหม่รองรับได้กว่า 6 ล้านตันต่อปี ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาพบว่าการค้าขายก็คึกคักเช่นเดิม โดยมีเรือสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือลาวประมาณ 400-500 เที่ยว เรือจีน 24 เที่ยว กระนั้นในช่วงฤดูแล้งมีปัญหาเรื่องระดับน้ำเช่นกัน จึงเปิดให้ท่าเรือเอกชนให้บริการที่อยู่ต้นน้ำ บริการรองรับเรือสินค้าได้ชั่วคราว

ด้านนายทรงกรด ดวงหาคลัง ผอ.สำนักเจ้าท่า ภูมิภาค สาขาเชียงราย กล่าวว่า เดือน ก.ย. 55 ที่ผ่านมาแม้จะมีเรือสินค้าไปใช้บริการที่ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 แต่แท้ที่จริงเรือสินค้าที่แล่นเข้าออกมีรวมกันกว่า 709 เที่ยว เพราะส่วนหนึ่งไปเทียบท่าเรือเอกชนที่อนุญาตให้ใช้ได้ชั่วคราว ทำให้ตัวเลขการค้ายังคงมีมากขึ้น

โดยตัวเลขจากศุลกากรพบว่า ปีงบประมาณ 2555 ถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2555 มีการส่งออกถึง 13,626.88 ล้านบาท นำเข้า 512.22 ล้านบาท ทำให้ได้เปรียบดุลการค้าร่วม 13,114.66 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง เนื้อกระบือแช่แข็ง สุกรมีชีวิต รถยนต์ น้ำมันปาล์ม ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้ทับทิมสด ใบหอมซอยแห้ง เมล็ดทานตะวัน ดอกไม้เพลิง แอปเปิลสด กระเทียม ฯลฯ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ระหว่างที่รับฟังข้อมูลได้มีนายสมควร สุตะวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านแซว และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.เชียงราย 52 ที่เคลื่อนไหวมาโดยตลอด แจ้งข้อมูลต่อ พล.ต.ท.ชัจจ์ว่า ทาง อบต.เคยเสนอของบประมาณ 12 ล้านบาทไปยังกรมการปกครองท้องถิ่น เพื่อปรับภูมิทัศน์และพัฒนาเกาะช้างตายในแม่น้ำโขงใกล้ท่าเรือ เพื่อให้มีภูมิทัศน์เหมาะต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี และเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ไม่ได้รับอนุมัติ จึงเสนอผ่านกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง

นายสมควรยังแจ้งด้วยว่า รายได้จากท่าเรือเชียงแสนแห่งใหม่ไม่เคยแบ่งปันให้ อบต.บ้านแซวเลย จึงอยากให้จัดสรรในฐานะองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย

ซึ่ง พล.ต.ท.ชัจจ์ได้รับเรื่องไว้และสอบถามรายได้ของท่าเรือไปยังเจ้าหน้าที่ ทราบว่าท่าเรือมีรายได้ในเดือนที่ผ่านมา 1.8 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายกว่า 2.4 ล้านบาท

พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า เดิมตนคิดว่าการสร้างท่าเรือแห่งใหม่เป็นความผิดพลาดเพราะไกลจากแห่งเดิมมากเกรงว่าจะไม่คุ้มทุน แต่เมื่อไปดูข้อมูลแล้วพบปริมาณการค้ามหาศาล ส่งออกในเดือนนี้แล้วกว่า 1,000 ตัน และนำเข้า 500 ตัน เมื่อถึงสิ้นเดือนตัวเลขก็คงจะมากขึ้นด้วยจึงคิดว่าการลงทุนของรัฐเรื่องนี้คุ้มค่าอย่างมากแล้ว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2552 ด้วยงบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท เปิดใช้งานวันที่ 1 เม.ย. 2555 โดยเป็นท่าเรือตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของปากแม่น้ำสบกก มีพื้นที่ประมาณ 387 ไร่ มีท่าเทียบเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าชายแดนระบุว่าอยู่ไกลจากท่าเรือเดิมประมาณ 10 กิโลเมตรทำให้ต้นทุนสูง มีปัญหาร่องน้ำ และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเรือ คนงานหรือกรรมกร เช่น ที่พักจากอากาศร้อน ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งดูแลพื้นที่กำลังปรับภูมิทัศน์ และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่



กำลังโหลดความคิดเห็น