xs
xsm
sm
md
lg

พม่าสั่งปิดท่าเรือริมเมย ห้ามคน สินค้าเข้า-ออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก- ทหารพม่าสั่งปิดท่าเรือริมแม่น้ำเมยแม่โกนเกน เหตุไม่พอใจเจ้าของท่าข้ามไทยปฏิเสธส่งเรือรับคนป่วยฝั่งเมียวดีเข้ารักษา รพ.แม่สอด ขณะที่ ปธ.หอการค้าตากเชื่อไม่กระทบการค้าชายแดน

วันนี้ (11 มิ.ย.) มีรายงานข่าวจาก อ.แม่สอด จ.ตาก แจ้งว่า ทหารพม่าที่ประจำการในท้องถิ่น ได้สั่งปิดท่าเรือริมแม่น้ำเมย บริเวณบ้านมิลลาป่าน ฝั่งพม่า ตรงข้ามบ้านแม่โกนเกน ต.มหาวัน อ.แม่สอด พร้อมห้ามชาวพม่าข้ามไปมา ฝ่ายผู้ประกอบการไทยก็ปิดท่าที่อยู่ตรงข้ามตอบโต้ ไม่ให้ชาวพม่าข้ามมาเช่นกัน ทำให้ขณะนี้บริเวณชายแดนบ้านแม่โกเกน รวมถึงท่าข้ามบริเวณฐานตำรวจตระเวนชายแดนที่ 346 อำเภอแม่สอด ถูกสั่งปิดไม่ให้คนข้ามไปมาแล้ว

ทั้งนี้ การสั่งปิดท่าเรือริมแม่เมยดังกล่าวของพม่านั้น เนื่องจากไม่พอใจเจ้าของท่าเรือไทยที่ไม่ยอมนำเรือไปรับคนป่วยที่ต้องการเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด ซึ่งขณะนั้นทางฝ่ายเจ้าของเรือไทยไม่สามารถไปรับได้เนื่องจากเรือไม่ได้ติดเครื่องยนต์ใช้เชือกลากไปมา และในช่วงที่ฝ่ายพม่าต้องการให้ไปรับผู้ป่วยก็ไม่สามารถนำเรือออกไปได้เพราะมีฝนตกลงมา น้ำเมยเชี่ยวกรากมากเกรงว่าจะเกิดอันตรายได้

ผู้ประกอบการท่าเรือไทยกล่าวว่า ปกติทางพม่าไม่เคยมีปัญหาอะไร และฝ่ายเจ้าของท่าเรือก็ให้ความร่วมมืออยู่แล้ว แต่วันที่ทางพม่าจะเอาผู้ป่วยข้ามมารักษาตัวในเขตไทยเราไม่สามารถไปรับได้เพราะเกิดน้ำหลาก เรือไม่มีเครื่องยนต์อันตรายมาก จึงไม่ได้นำเรือไปรับตามที่ฝ่ายพม่าขอมา

ด้านนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า กรณีทหารพม่าระดับท้องถิ่นสั่งปิดท่าเรือเอกชนตรงข้ามบ้านแม่โกนเกน ไม่ให้ชาวพม่าและชาวไทยข้ามฝั่งไปมา รวมทั้งห้ามนำสินค้าจากไทยข้ามไปฝั่งพม่า เพื่อตอบโต้เจ้าของท่าเรือไทยที่ไม่ยอมนำเรือไปรับคนป่วยในฝั่งพม่ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลแม่สอด

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนที่ขนถ่ายมาทางสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ผ่านด่านศุลกากรแม่สอด เนื่องจากท่าข้ามของเอกชนที่มีปัญหาอยู่ในเขตตำบลมหาวัน ห่างจากด่านศุลกากรแม่สอดมาก

ขณะเดียวกัน สินค้าที่ขนผ่านท่าข้ามดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้สักที่นำเข้ามาจากพม่า ถือเป็นท่าข้ามและด่านการค้าที่พม่าได้ประโยชน์ จึงไม่น่าจะมีปัญหายาวนานและลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนทั้งระบบได้ เป็นเพียงปัญหาเล็กๆ ที่จะแก้ไขได้ด้วยการพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น