เชียงราย - พบเรือลาวครองน่านน้ำโขง ส่งสินค้าเข้า-ออกผ่านท่าเรือเชียงแสน 2 ตั้งแต่เกิดเหตุปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพตั้งแต่ปลายปี 54 ล่าสุดมีเรือ สปป.ลาวขึ้นทะเบียนกว่า 200 ลำ ขณะที่เรือจีนลดเหลือเพียง 30-40 ลำ
รายงานข่าวจาก จ.เชียงรายแจ้งว่า วันนี้ (11 ต.ค.) พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.กระทรวงคมนาคม มีกำหนดการเดินทางไปตรวจการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 4 อ.เชียงของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และความก้าวหน้าในการให้บริการของท่าเทียบเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ซึ่งได้เปิดใช้งานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา
โดยมีกระแสข่าวว่าเป็นการเดินทางมาดูความพร้อม ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีเชื่อมแผ่นดินไทย-สปป.ลาว ที่สะพาน และเปิดใช้ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ หรือวันที่ 12 เดือน 12 ปี 2012 ต่อไป
นายวีระ จินนิกร ผู้จัดการท่าเรือเชียงแสนและเชียงของ เปิดเผยว่า หลังการเปิดใช้ท่าเรือแห่งใหม่แทนสะพานเดิมแล้ว พบว่าช่วงแรกๆ ผู้ประกอบการเดินเรือสินค้าในแม่น้ำโขงยังคงมีไม่มากนัก และต้องใช้เรือนำร่องเพื่อให้คุ้นเคยร่องน้ำ กระทั่งปัจจุบันเรือเริ่มเข้าไปใช้บริการมากขึ้น
แต่มีปรากฏการณ์ใหม่คือมีเรือสินค้าสัญชาติลาวมาใช้บริการที่ท่าเรือเป็นจำนวนมาก โดยในเดือน ก.ย. 55 ที่ผ่านมาพบมีเรือลาวเข้าไปใช้บริการกว่า 400-500 เที่ยว ส่วนเรือจีนมีแค่ 24 เที่ยว คิดเป็นสัดส่วนเรือลาวใช้บริการกว่า 90% โดยเรือลาวเหล่านี้มีระวางกินน้ำลึกประมาณ 0.80-1.20 เมตร บรรทุกสินค้าได้ลำละไม่เกิน 80-90 ตัน จึงถือเป็นเรือขนาดเล็กแต่คล่องแคล่ว ส่วนเรือจีนสามารถบรรทุกได้ตั้งแต่ 100-300 ตัน รวมถึงกรณีเหตุปล้น-ฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพเมื่อปลายปี 54 ก็ส่งผลให้เรือจีนหายไปจากแม่น้ำโขงอย่างผิดหูผิดตาด้วย
โดยปัจจุบันมีเรือลาวในระบบกว่า 200 ลำ เรือจีน 30-40 ลำ สินค้าส่วนใหญ่ที่ขนกันไปมาคือผลไม้จากจีนและสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปพม่าและจีน โดยเรือลาวจะขนสินค้าอาหาร เช่น ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ฯลฯ ไปส่งที่ท่าเรือสบหรวย ประเทศพม่า และขนส่งทางบกไปส่งที่เมืองลาเมืองใหญ่ชายแดนพม่า-จีน
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกบางส่วนเริ่มมีสินค้าผ่านแดนเช่นกัน เช่น เนื้อกระบือจากอินเดียที่ส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังและขนส่งทางบกไปลงเรือที่ท่าเรือเชียงแสนเพื่อส่งไปขายที่จีน ลูกอัลมอนด์จากสหรัฐอเมริกาส่งไปจีน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เรือลาวแล่นจากท่าเรือเชียงแสนไปถึงแค่ท่าเรือสบหรวยเท่านั้น ไม่สามารถไปได้ไกลถึงท่าเรือในจีนตอนใต้ ดังนั้นเชื่อว่าในอนาคตเรือจีนก็คงจะกลับมาแล่นคึกคักเหมือนเดิม เพราะความต้องการขนส่งสินค้าไทย-จีนมีสูงกว่ามาก และถนนเชื่อม อ.เมือง-ท่าเรือก็กำลังก่อสร้างแล้วด้วย
และเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ไปร่วมการประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือ JCCCN (The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong RiverAmong CHINA, LAO PDR, MYANMAR AND THAILAND) ก็ได้มีการหารือกันในหลายเรื่อง ทั้งการอำนวยความสะดวกในการเดินเรือให้มากขึ้นโดยเฉพาะการขุดลอกในอนาคต การปล่อยน้ำของจีนเพื่อการเดินเรือ รวมทั้งมีการแสดงความกังวลกรณีคดียิงเรือจีน 13 ศพอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ด้านนายอรรถภัณฑ์ รังษี ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงแสน กล่าวว่าการมีท่าเรือเชียงแสนแห่งใหม่ถือเป็นเรื่องที่ดี และรัฐก็ได้ลงทุนก่อสร้างไปมากรวมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบ แต่ก็ยอมรับว่าที่ตั้งของท่าเรือใหม่อยู่ไกลจากตัวเมืองเชียงแสนกว่า 10 กิโลเมตรทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงกว่า มีปัญหาเรื่องร่องน้ำ ล่าสุดสะพานข้ามแม่น้ำคำเชื่อมเชียงแสน-ท่าเรือแห่งใหม่ ก็เสียหายจนต้องสร้างใหม่หลายเดือนทำให้รถบรรทุกสินค้าแล่นไปท่าเรือลำบาก ต้นทุนค่าบริการที่ท่าเรือเอกชนก็ถูกกว่า ดังนั้นคงต้องใช้เวลาในการปรับตัว และในอนาคตเมื่อทุกอย่างลงตัวก็คงจะไปใช้บริการที่ท่าเรือแห่งใหม่ได้ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 กรมเจ้าท่าได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างเพื่อใช้ทดแทนท่าเรือเชียงแสนแห่งแรก ซึ่งตั้งอยู่ในตัวเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสนทำให้ไม่สามารถขยายศักยภาพได้ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2552 ด้วยงบประมาณ 1,546.4 ล้านบาท โดยเป็นท่าเรือตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของปากแม่น้ำสบกก มีพื้นที่ประมาณ 387 ไร่ ประกอบด้วย ท่าเทียบเรือแบบทางลาด 2 ระดับ จำนวน 2 ท่า ใช้สำหรับขนถ่ายสินค้าทั่วไป และท่าเทียบเรือแนวดิ่ง 1 ท่าสำหรับขนถ่ายสินค้าทั่วไป และตู้คอนเทนเนอร์
ท่าเทียบเรือมีความยาว 300 เมตร สามารถรับเรือขนาดยาว 50 เมตรได้พร้อมกัน 3 ลำ ท่าเทียบเรือทางลาดด้านทิศใต้ ความยาว 300 เมตร จำนวน 6 ท่า สามารถรับเรือขนาดยาว 50 เมตรได้พร้อมกัน 3 ลำ ท่าเทียบเรือแนวดิ่ง ความยาวท่าเทียบเรือ 200 เมตร สามารถรับเรือขนาดความยาว 50 เมตรได้พร้อมกัน 4 ลำ ในอาณาบริเวณท่าเรือได้เตรียมแอ่งจอดเรือขนาด 200x800 เมตร พร้อมด้วยโรงพักสินค้า ขนาด 30x30 เมตร จำนวน 2 หลัง และลานวางพักสินค้า ไว้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนได้จัดเตรียมเครื่องมือทุ่นแรง ประกอบด้วย ปั้นจั่นเคลื่อนที่ขนาด 10 ตัน รถยกขนาด 10 ตัน และรถยกขนาด 3.5 ตัน
สำหรับการค้าชายแดนผ่านท่าเรือเชียงแสนถือว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2554 ที่ผ่านมามีการส่งออก 8,992.65 ล้านบาท นำเข้า 1,100.12 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2555 ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554-ก.พ. 2555 มีการส่งออกแล้ว 4,480.40 ล้านบาท และนำเข้า 180.08 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการค้ากับจีน โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำมันปาล์ม ส่วนน้ำมันดีเซลมีการส่งออก 354.78 ล้านบาท ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เมล็ดทานตะวัน กระเทียม ดอกไม้เพลิง เห็ดหอม ฯลฯ