xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เชิญอดีต ผอ. GSP สหรัฐฯ ติวผู้ส่งออกใช้สิทธิ ชี้อะไหล่รถ-เกษตรแปรรูป-อิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมการค้าต่างประเทศเชิญอดีต ผอ.โครงการ GSP สหรัฐฯ ติวเข้มผู้ส่งออกไทยใช้ GSP ส่งสินค้าเจาะตลาดสหรัฐฯ เผยล่าสุดมีสินค้าได้สิทธิกว่า 3,400 รายการ แนะอะไหล่รถยนต์ เกษตรแปรรูป อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ อาหารอินทรีย์ สินค้ารีไซเคิล เร่งใช้ประโยชน์

นางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญ Mrs.Marideth J. Sandler, CEO/International Trade Advisor บริษัท Sandler Trade LLC ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการโครงการ GSP ประจำสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ GSP และชี้แนะกลยุทธ์การใช้ประโยชน์จาก GSP สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะการชี้ช่องทางการส่งออกสินค้าใหม่ๆ ที่ได้รับสิทธิ GSP ที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ต้องการนำเข้า

โดยในปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งมีกำลังซื้อสูงและมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการที่หลากหลาย และยังเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง การที่ไทยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ยกเว้นภาษีนำเข้าทำให้ไทยมีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง โดยมีสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP มากกว่า 3,400 รายการ สินค้าสำคัญๆ เช่น อะไหล่รถยนต์ เกษตรแปรรูป อัญมณี อิเล็กทรอนิกส์ อาหารอินทรีย์ (Organic Food) และสินค้าที่ผลิตจากวัสดุใช้แล้ว (Recycled Materials) เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมฯ มีกำหนดจัดงานเรื่อง GSP สหรัฐฯ ให้แก่ผู้ผลิต และผู้ส่งออกไทยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยที่กรุงเทพฯ จะจัดวันที่ 5 ก.พ. 2556 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ และในพื้นที่ภาคตะวันออกที่โรงแรมมณเฑียร พัทยา จ.ชลบุรี ในวันที่ 7 ก.พ. 2556 เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก

“ได้เชิญนายพีรพัฒก์ อุทัยศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำสำนักงานพาณิชย์ต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาให้ความรู้เรื่องกระบวนการนำเข้าและการขอรับสิทธิพิเศษภายใต้ GSP สหรัฐฯ ระบบตรวจสอบสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP การดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าสหรัฐฯ และยังได้เชิญผู้แทนบริษัท American Commercial Transport ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าดำเนินพิธีการผ่านศุลกากรในสหรัฐฯ และประกอบธุรกิจด้านการขนส่งทางเรือในไทยมาให้ข้อมูลที่ผู้ส่งออกไทยควรทราบ เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและสร้างโอกาสในการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ DFT Center 1385” นางปราณีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น