“คมนาคม” ยอมผ่อนผันน้ำหนักบรรทุกที่ 58 ตันไปอีก 1 ปี สั่งกรมทางหลวงแก้ไขประกาศใหม่ เหตุต้องรอการศึกษาน้ำหนักเหมาะสมก่อนบังคับใช้ ด้านผู้ประกอบการพอใจ ชี้ลดน้ำหนักทันทีราคาสินค้าพุ่งแน่
พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) และสมาพันธ์ผู้ประกอบการรถบรรทุกวานนี้ (14 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาการผ่อนผันน้ำหนักบรรทุก รถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อไม่เกิน 58 ตันออกไปอีก 1 ปี และตั้งคณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมของน้ำหนักบรรทุก โดยมีผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า และสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยจะจ้างที่ปรึกษาที่มีความเป็นกลางเข้ามาศึกษาพิกัดน้ำหนักที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พร้อมกันนี้ได้มีการทำบันทึกช่วยจำระหว่างกระทรวงคมนาคมกับตัวแทนผู้ประกอบการขนส่งเป็นหลักฐานว่าทั้งสองฝ่ายจะยอมรับและปฏิบัติตามผลศึกษาที่ออกมา
“ภายในสัปดาห์นี้กรมทางหลวงจะต้องแก้ไขประกาศใช้พิกัดน้ำหนักบรรทุกรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ใหม่ จากเดิมที่ให้ไม่เกิน 53 ตัน เป็นไม่เกิน 58 ตัน ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม-31 ธันวาคม 2556 เพราะหลังศึกษาเสร็จเดือน ส.ค.จะต้องให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวอีก 6 เดือน โดยขณะนี้รถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อทั่วประเทศมีประมาณ 5 หมื่นคัน ซึ่งน้ำหนักของประเทศอาเซียนจะไม่เกิน 38 ตัน ต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งข้ามแดนเพราะหากในประเทศบรรทุกได้มากกว่าเมื่อจะข้ามแดนต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อถ่ายสินค้าออก 20 ตันอีก” พล.อ.พฤณท์กล่าว
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ลงนามในบันทึกช่วยจำกับตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบการรถบรรทุกซึ่งมี 11 สมาคมแล้วเพื่อให้ยอมรับผลการศึกษาและการผ่อนผันในช่วง 1 ปีนี้ ซึ่งจากข้อมูลสะพานของ ทล.และ ทช.นั้นสามารถรับน้ำหนักสูงสุดได้ไม่เกิน 50 ตันเท่านั้น และที่ผ่านมาต้องใช้งบซ่อมแซมปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ได้กดดันหรือขู่ปิดถนน พร้อมทำตามกฎหมาย จึงขอมาเจรจาบนโต๊ะ โดยเห็นว่าหากลดน้ำหนักบรรทุกทันทีจะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นและกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน โดยยืนยันว่าจะยอมรับผลการศึกษาที่ออกมาไม่ว่าน้ำหนักจะไปในทางใด
ด้านนายทองอยู่ คงขันธ์ รองประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า พอใจกับข้อตกลงที่ผ่อนผันน้ำหนักรถ 7 เพลา 24 ล้อ ที่ไม่เกิน 58 ตันออกไปอีก 1 ปี และให้คนกลางเข้ามาศึกษาวิจัยมาตรฐานกำหนดพิกัดน้ำหนักบรรทุกที่เป็นมาตรฐานก่อนที่จะบังคับใช้ โดยสิ่งที่การวิจัยต้องคำนึงถึง คือ 1. โครงสร้างทางวิศวกรรมของถนนและสะพานสามารถรับน้ำหนักได้เท่าไร 2. ผู้ประกอบการรถยนต์จะมีเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมยานยนต์อย่างไร เช่น แรงม้า การลดมลภาวะ 3. ผู้ประกอบการขนส่งต้องยอมรับและพัฒนาให้สอดคล้องกับน้ำหนักตามผลศึกษา 4. น้ำหนักบรรทุกในประเทศควรสอดคล้องกับมาตรฐานน้ำหนักของอาเซียน (AEC) เพื่อประสิทธิภาพในการเชื่อมโยง 5. ยุทธศาสตร์เชิงพาณิชย์ ว่าต้นทุนด้านลอจิสติกส์มีความคุ้มค่าหรือไม่ หากกำหนดน้ำหนักมากอาจจะกระทบต่องบประมาณซ่อมบำรุงถนนที่เสียหาย และผลประโยชน์สุดท้ายอยู่ที่กลุ่มไหน
“ได้เสนอที่ประชุมให้แยกวิจัยศึกษาการกำหนดมาตรฐานน้ำหนักบรรทุกในประเทศและน้ำหนักบรรทุก AEC เนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศจะมีมาตรฐานน้ำหนักกลาง ซึ่งกรณีที่ใช้คนละน้ำหนักจะมีการเปลี่ยนถ่ายก่อนข้ามแดนและมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ดังนั้นการพิจารณาต้องดูภาพรวมโดยเฉพาะภาคสังคม เพราะถ้าบรรทุกมากแล้วราคาสินค้าลดลงด้วยหรือไม่” นายทองอยู่กล่าว
ผู้ประกอบการรถบรรทุกรายหนึ่งกล่าวว่า การบรรทุกน้ำหนักได้ 58 ตัน ผู้ประกอบการจะมีกำไรเพิ่มแต่ไม่มากนักเพราะค่าใช้จ่ายน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงรถที่สึกหรอเพิ่มตามมาด้วย ซึ่งสาเหตุที่ต้องบรรทุกน้ำหนักมากเพราะมีปัญหาขาดแคลนคนขับรถ การขนในแต่ละเที่ยวจึงต้องทำให้มากที่สุด โดยรถ 6 เพลา 22 ล้อ กำหนดน้ำหนักไม่เกิน 53 ตัน เป็นรถที่แบกน้ำหนักมากที่สุดในขณะนี้สูงสุดที่ 80-90 ตัน โดยส่วนใหญ่ขนส่งหิน ทราย น้ำตาล และข้าว และยังคงมีการจ่ายส่วยอยู่ โดยข้อมูลจาก ขบ.มีการจดทะเบียนรถบรรทุก 7 เพลา 24 ล้อ ไปแล้วกว่า 20,000 คัน ที่เหลือเป็นรถที่ไม่ถูกกฎหมาย