xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ยอมขยายผ่อนผันน้ำหนักอีก 1 ปี คุมไม่เกิน 53 ตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” ยอมผ่อนผันน้ำหนักบรรทุกอีก 1 ปี แต่ลดเหลือ 53 ตัน จากเดิม 58 ตัน “วิเชียร” เผยตามกฎหมายให้แค่ 50.5 ตัน การผ่อนผันทำถนน-สะพานพังเร็ว พร้อมสั่งคุมเข้มหวั่นส่วยทางหลวงระบาด มอบ ขบ.ศึกษาน้ำหนักที่เหมาะสมให้เสร็จใน 6 เดือน ชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว เหตุเปิด AEC น้ำหนักบรรทุกจะเหลือที่ 38 ตัน

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมขยายเวลาผ่อนผันน้ำหนักรถบรรทุก ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และตัวแทนผู้ประกอบการขนส่ง วานนี้ (19 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาผ่อนผันน้ำหนักรถบรรทุกประเภทรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556-31 ธันวาคม 2556 ที่น้ำหนักรวม 53 ตัน จากการผ่อนผันเดิมที่น้ำหนัก 58 ตัน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นี้ โดยได้มอบหมายให้ ขบ.ศึกษาน้ำหนักบรรทุกที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย. 56) เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาต่อไป

“ที่ผ่านมามีการบรรทุกน้ำหนักเกินจนทำให้ถนนเสียหายมาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ซึ่งได้กำชับให้ ทล.และ ทช.แจ้งมติที่ประชุมและทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการขนส่งให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการตามความเหมาะสม ส่วนตัวยอมรับว่ากังวลเรื่องส่วยรถบรรทุกจะกลับมาใหม่ ซึ่งได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมากขึ้น และจะรายงานผลการประชุมต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม และ พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคมให้รับทราบ และให้ ทล.และ ทช.ดำเนินการออกประกาศการผ่อนผันอย่างเป็นทางการต่อไป” พล.ต.อ.วิเชียรกล่าว

ทั้งนี้ ตามกฎหมายกำหนดน้ำหนักบรรทุกรถพ่วง 7 เพลา 24 ล้อ ไว้ที่ 50.5 ตัน แต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ได้มีการผ่อนผันให้สามารถบรรทุกได้ถึง 58 ตัน ซึ่งได้ส่งผลกระทบทำให้ถนนได้รับความเสียหายเร็วกว่าปกติและต้องเสียงบซ่อมบำรุงจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะสะพานสามารถรับน้ำหนักได้ 50 ตัน โดยพบว่าสะพานถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงทั่วประเทศจำนวน 16,000 แห่งมีการเสื่อมสภาพจากผลกระทบดังกล่าวถึง 436 แห่ง

พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า ในปี 2558 ที่จะเปิด AEC นั้นมีข้อตกลงน้ำหนักบรรทุกอยู่ที่ 38 ตัน ซึ่งทุกประเทศต้องปรับแก้ให้สอดคล้อง ส่วนผู้ประกอบการขนส่งไทยต้องเตรียมปรับตัวด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบเมื่อต้องขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งกำหนดน้ำหนักตามมาตรฐาน AEC ส่วนจะกำหนดน้ำหนักที่เท่าใดนั้นจะต้องรอผลศึกษาของ ขบ. และหารือกับฝ่ายนโยบายให้ชัดเจนอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น