xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ดันตั้งกรมใหม่คุมก่อสร้างระบบราง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” จ่อตั้งกรมขนส่งระบบราง รวบหน้าที่วางโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง กำกับดูแลระบบรางทั้งหมดแทน ร.ฟ.ท.และ รฟม.ที่จะเป็นผู้ให้บริการอย่างเดียว “ปลัดคมนาคม” คาดตั้งได้ไม่เกินสิ้นปี 56 นี้ เร่ง สนข.ร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนช่วง 2-3 เดือนนี้ให้ตั้งเป็นสำนักพัฒนาระบบรางขึ้นก่อน

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมจัดตั้งกรมขนส่งระบบรางขึ้นเป็นกรมใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการวางโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง และกำกับดูแลระบบรางทั้งหมดของประเทศ รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่จะก่อสร้างในอนาคตด้วย โดยขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างดำเนินการร่างระเบียนกฎหมายเกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งกรมขนส่งระบบราง และขั้นตอนต่อไปจะเสนอที่ต่อรัฐสภาเพื่อออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ในระยะแรกจะมีการตั้งสำนักพัฒนาระบบรางขึ้นมาก่อน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สนข. เพื่อทำหน้าที่แทนกรมขนส่งระบบรางที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสามารถตั้งได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ พร้อมกันนี้จะมีการตั้งสำนักพัฒนาระบบตั๋วร่วมขึ้นด้วย เพื่อทำหน้าที่ดูแลการใช้ตั๋วร่วมกันของบริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถเมล์ เรือ โดยในส่วนของสำนักพัฒนาระบบรางนั้นจะตั้งขึ้นทำหน้าที่เฉพาะกิจ โดยใช้เจ้าหน้าที่และข้าราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าไปดำเนินการก่อน และจะยุบไปรวมกับกรมขนส่งระบบรางที่จัดตั้งแล้วเสร็จ เพราะถือว่าจบภารกิจ

พล.ต.อ.วิเชียรกล่าวว่า กรมขนส่งระบบรางจะมีอำนาจหน้าที่ก่อสร้างเส้นทางรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และกำกับดูแล ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันกับกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีหน้าที่ก่อสร้างถนนทั่วประเทศ และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการเดินรถสาธารณะ ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินโครงการระบบรางอยู่ในปัจจุบัน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำหน้าที่ในการเดินรถเพียงอย่างเดียว

สำหรับภาระหนี้สินของ รฟม.และร.ฟ.ท.ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันจากการลงทุนก่อสร้างระบบรางนั้น รัฐต้องเข้าไปรับภาระ ส่วนที่จะลงทุนใหม่ เป็นหน้าที่ของกรมขนส่งระบบราง ซึ่งตามหลักการต้องใช้งบประมาณรัฐดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ รฟม.และ ร.ฟ.ท.ไม่เกิดปัญหาหนี้สินสะสมเหมือนอีกต่อไป และสามารถสามารถทำหน้าที่ในการเดินรถไฟฟ้าได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น คาดว่าตามขั้นตอนการจัดตั้งกรมขนส่งระบบรางจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี โดยจะพยายามผลักดันให้จัดตั้งให้ได้ภายในปี 2556 นี้ เพื่อให้ทันต่อประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น