xs
xsm
sm
md
lg

คลัง-คมนาคมถกแผนกู้ 2 ล้านล. คาดชงเข้า ครม. เดือน ม.ค.ปีหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลัง - คมนาคมถกปรับแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2 ล้านล้านบาท เน้นระบบลอจิสติกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หั่นโครงสร้างด้านการสื่อสาร และพลังงานออกจากแผน คาดวงเงินอยู่อยู่ที่ 1.8-1.9 ล้านล้านบาทไม่เต็มวงเงินที่ร่างในกฎหมาย คาดชงเข้า ครม.ได้ในเดือน ม.ค.ปีหน้า

นายสุวิชญ โรจนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังเร่งเร่งจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ทาง สบน.กำลังพิจารณาโครงการร่วมกับทางกระทรวงคมนาคมเพื่อบรรจุในแผนลงทุน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนธันวาคมนี้และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนมกราคม 2556 เพื่อเสนอเข้าสู่รัฐสภาต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากที่พิจารณาโครงการลงทุนในเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคมเกือบทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคมล่าสุด ซึ่ง รมว.คมนาคมมีความจริงจังที่จะผลักดันโครงการต่างๆ เข้ามาไว้ในแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศระยะ 7 ปี ดังกล่าว โดยเฉพาะการลงทุนทางระบบราง และรถไฟทั้งรถไฟฟ้าธรรมดา และรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะถูกบรรจุในแผนลงทนทั้งหมด ทั้งการปรับปรุงระบบรางคู่ทั่วประเทศ รวมอาณัติสัญญาณ และรั้วกั้นบริเวณที่เป็นจุดตัดกับถนนทั่วประเทศ คาดใช้เงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ซึ่งตัดสั้นลงจากเดิมที่จะยาวไปถึงเชียงใหม่ เนื่องจากง่ายต่อการก่อสร้าง และผ่านการทำอีไอเอ ส่วนการขยายต่อไปเชียงใหม่น่าจะเป็นแผนระยะต่อไป และยังมีสายกรุงเทพฯ-โคราช กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเส้นที่น่าจะมีผู้ใช้บริการมาก และมีรายได้เลี้ยงตัวได้ โดยรวมแล้วน่าจะใช้เงินหลายแสนล้านบาท

“ขณะนี้กระทรวงคมนาคมให้ทางจีน และญี่ปุ่นเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะเลือกใครเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ในการลงทุน หรือให้สัมปทาน หรือใช้รูปแบบใด ส่วนรถไฟสายสีต่างๆ ที่เชื่อมโยงการเดินทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมดก็จะอยู่ในแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวด้วย แต่ขณะนี้ กำลังหารือกับคมนาคมเพื่อดูความชัดเจนว่าสายใดจะลงมือก่อสร้างได้จริงภายใน 7 ปีนี้ เพราะบางสายก็อาจใช้เวลาเป็น 10 ปี อย่างสายสีแดงผ่านมา 3 ปีแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก” นายสุวิชญกล่าว

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้มีการปรับใหม่โดยได้ตัดโครงการเกี่ยวกับพลังงาน สื่อสาร สาธารณูปการออกทั้งหมด เพราะไม่พร้อม และอาจมาเบียดการลงทุนทางด้านระบบขนส่งที่มีความจำเป็นกว่า โดยนอกจากขนส่งทางรางแล้ว อาจมีทางอากาศ และทางบกบางส่วนที่เป็นถนนเชื่อมจากกาญจนบุรีไปยังทวาย ส่วนท่าเรือนั้นอาจจะทำได้ยาก โดยเฉพาะที่ปากบารา เนื่องจากมีการต่อต้านจากชุมชน จึงอาจไม่อยู่ในแผนลงทุนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ ที่ยังสรุปไม่ได้เพราะยังหาโครงการที่พร้อมมาใส่ให้ครบไม่ได้ เพราะหน่วยงานนั้นๆ ไม่อยากถูกผูกมัด โดยจริงๆ แล้ววงเงินอาจจะเหลือ 1.8-1.9 ล้านล้านบาท แต่หากรวมการลงทุนของเอกชนที่ได้รับสัมปทานไปผ่านระบบพีพีพี ในโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ก็น่าจะถึง 2 ล้านล้านบาทพอดี นอกจากนั้น ทาง รมว.คลังได้ขอให้บรรจุโครงการลงทุนพัฒนาด่านศุลกากรทางภาคใต้ที่ผ่านไปมาเลเซียด้วยเพื่อให้มีความทันสมัยเท่าเทียมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น