xs
xsm
sm
md
lg

เอทานอลปี56รุ่งรับเลิกเบนซิน91 ราคาจ่อขึ้นหลังต้นทุนวัตถุดิบพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- อุตฯเอทานอลปี 2556 ทิศทางโตต่อเนื่องรับอานิสงค์นโยบายรัฐบาลยกเลิกเบนซิน 91 มีผล 1 ม.ค. 56 นี้คาดดันการใช้เอทานอลเพิ่มอย่างน้อย 4 แสนลิตรต่อวัน ขณะที่ราคาเอทานอลภาพรวมส่อขยับเพิ่มรับราคาวัตถุดิบพุ่งโดยเฉพาะโมลาสเหตุผลผลิตอ้อยต่ำ จี้รัฐกำหนดราคาในประเทศให้สอดรับตลาดโลกไม่เช่นนั้นอาจขาดแคลนได้

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเอทานอลในปี 2556 จะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าในปี 2555 จากนโยบายกระทรวงพลังงานที่ยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 91 ในวันที่ 1 ม.ค. 56 โดยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 แสนลิตรต่อวันหรือส่งผลให้การใช้เอทานอลจากปัจจุบัน 1.3.-1.4 ล้านลิตรต่อวันเป็น 1.7-1.8
ล้านลิตรต่อวัน

“การยกเลิกเบนซิน 91 ถ้าผู้ใช้รถยนต์หันมาเติมแก๊สโซฮอล์ที่จะใช้เอทานอลผสมทั้งหมดก็จะทำให้เกิดการใช้เอทานอลได้ถึง 8 แสนลิตรต่อวันหรือการใช้เอทานอลจะเพิ่มไปถึง 2 ล้านลิตรต่อวันแต่เราคิดว่าผู้ใช้รถยนต์ส่วนหนึ่งจะหันไปใช้ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)หรือก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) และเบนซิน 95 จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพียง 50% “นายสิริวุทธิ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มราคาเอทานอลในปี 2556 ภาพรวมจะสูงขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากวัตถุดิบทั้งจากมันสำปะหลังและโมลาส(กากน้ำตาล) มีราคาที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโมลาสที่ขณะนี้เริ่มมีการซื้อขายพบว่าราคาเริ่มขยับเป็น 3.70 บาทต่อกิโลกรัม(กก.)จากเดิมเฉลี่ยที่ 3.50-3.60 บาทต่อกก.เนื่องจากคาดว่าปริมาณอ้อยปีฤดูการผลิตปี 55/56 ที่กำลังเปิดหีบจะมีผลผลิตต่ำที่ระดับเพียง 90 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่อ้อยมีผลผลิตถึง 97 กว่าล้านตันซึ่งจะส่งให้ต่อกระบวนการผลิตน้ำตาลที่จะมีผลพลอยได้เป็นโมลาสต่ำไปด้วย

อย่างไรก็ตามรัฐได้กำหนดเกณฑ์การคำนวณและการซื้อเอทานอลใหม่เนื่องจากมีนโยบายที่จะช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังและช่วยให้ผู้ผลิตเอทานอลจากมันฯอยู่ได้เพราะขณะนี้ต้นทุนสูงกว่าการผลิตจากโมลาส โดยกำหนดการนำเอาเอทานอลมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ตามสัดส่วนการใช้เอทานอลที่ผลิตจากโมลาส 62% กับเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลัง 38% ดังนั้นรัฐจะต้องบริหารจัดการราคาในประเทศให้เหมาะสมไม่เช่นนั้นเอทานอลอาจขาดตลาดได้

“ข้อเท็จจริงคือเอทานอลจากมันฯต้นทุนสูงกว่ามากแต่เมื่อรัฐกำหนดสัดส่วนการซื้อทำให้รัฐกำลังพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาให้เท่ากับโมลาสทั้งที่ก่อนหน้ารัฐบอกเอทานอลคือแอลกอฮอล์ไม่ใช่เชื้อเพลิงเท่ากับดับเบิ้ลแสตนดาร์ด และจุดตายคือถ้ารัฐกำหนดราคาในประเทศต่ำกว่าส่งออกก็อาจขาดแคลนได้โดยราคาส่งออกขณะนี้เกือบ 21 บ.ต่อลิตรแต่ราคาอ้างอิงในประเทศกำหนดไว้ 20.30 บ.ต่อลิตรเท่านั้นและที่สำคัญการผลิตเอทานอลจากมันฯจริงวันนี้ทำได้เพียง 3 แสนลิตรต่อวันเมื่อรัฐกำหนดสัดส่วนที่เหลือโมลาสจะทำการส่งออกหมดได้ถ้าราคาดี”นายสิริวุทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น