xs
xsm
sm
md
lg

ผลศึกษาฯ ชี้ไทยเหมาะเป็นฮับเอทานอล จี้คลังรื้อกฎระเบียบเอื้อส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันปิโตรเลียมฯ เผยผลศึกษาฯ ชี้ไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตเป็นศูนย์กลางการค้าเอทานอลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคลังต้องแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเอทานอลเนื่องจากกำลังการผลิตเอทานอลล้นตลาดอยู่ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของไทย

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพ (ฮับ) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยนั้น พบว่าไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาจากศูนย์กลางการผลิตฯ เป็นศูนย์กลางการค้าเอทานอลและไบโอดีเซลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีวัตถุดิบสำหรับผลิตเอทานอลเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลัง และไทยมีความต้องการใช้เอทานอลอยู่แล้ว 1.3 ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านลิตร/วัน หลังยกเลิกการใช้เบนซิน 91 ในต้นปี 2556 เนื่องจากผู้ใช้รถบางส่วนจะหันไปใช้แก๊สโซฮอล์มากขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตเอทานอลในประเทศอยู่ที่ 3-4 ล้านลิตร/วัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันไปส่งออกยังต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มความต้องการใช้เอทานอลในโลกเพิ่มสูงขึ้น

“ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 20 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็นการใช้แก๊สโซฮอล์ 12 ล้านลิตร หรือคิดเป็น 60% ของความต้องการใช้ เนื่องจากมีรถยนต์ใหม่ที่ใช้อี20 และอี85 เพิ่มขึ้น และประชาชนมั่นใจน้ำมันแก๊สโซฮอล์มากขึ้น ทำให้ยอดการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านลิตร/วัน และตั้งเป้าหมายในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 9 ล้านลิตร/วัน”

แต่เนื่องจากกฎระเบียบล้าสมัยทำให้การส่งออกเอทานอลของไทยยังมีอุปสรรคอยู่มาก จำนวนคลังเก็บเอทานอลที่ติดท่าเรือมีไม่มากพอ ทำให้ต้นทุนการส่งออกสูง และไม่มีโครงสร้างราคาส่งออกเอทานอลที่ชัดเจน แม้ว่าไทยจะมีการส่งออกเอทานอลต่อเนื่องไปยังประเทศคู่ค้า เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ก็ตาม แต่การซื้อขายดำเนินการระหว่างคู่ค้าโดยไม่ได้มีการกำหนดหรือประกาศโครงสร้างราคาเอทานอลสำหรับการส่งออกที่ชัดเจน

แนวทางการแก้ไขอุปสรรคระยะสั้นเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าเอทานอลในภูมิภาคนี้ คือการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการส่งออกเพื่อลดขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการแปลงสภาพเอทานอล จากเดิมต้องเสียภาษีสรรพสามิต 1 บาท/ลิตร ถ้าส่งออกเอทานอลที่แปลงสภาพแล้ว โดยเสนอให้กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีเอทานอลเชื้อเพลิงแปลงสภาพที่ส่งออก และอนุญาตให้แปลงสภาพได้ที่โรงงานผลิตหรือท่าเรือ

นอกจากนี้เสนอให้คลังดำเนินการเพื่ออนุญาตให้ผู้ผลิตหรือผู้ค้าเอทานอลสามารถแลกเปลี่ยนเอทานอลระหว่างกันได้ ซึ่งจะส่งผลดีในด้านการลดต้นทุนการขนส่งเอทานอลทั้งการส่งออกและการใช้ในประเทศ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเชื้อเพลิงชีวภาพของประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว และพัฒนาระบบการค้าโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดค่าใช้จ่ายและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

รวมทั้งภาคเอกชนจะต้องมีความกล้าในการลงทุนสร้างคลังเก็บเอทานอลเพื่อส่งออก เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกนับวันจะสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลขึ้นเป็นวันละ 12 ล้านลิตรในปี 2564
กำลังโหลดความคิดเห็น