xs
xsm
sm
md
lg

10 เรื่องน่าห่วงพาณิชย์ปี 56 มีแต่เผือกร้อน-ของแสลงรอเสิร์ฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุกๆ ปีหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะใช้วิธีสรุปข่าวเด่นข่าวดังในรอบปี 2555 มาให้อ่านกัน แต่ปีนี้ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ขอปรับแนวเป็นการมองอนาคตการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2556 ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจหลักของประเทศ โดยเห็นว่ามี 10 เรื่องที่น่าเป็นห่วง และต้องจับตามอง ดังต่อไปนี้

1. ถังแตก! ขาดเงินรับจำนำข้าว

แม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 จะเริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติวงเงินในการรับจำนำข้าวไว้แล้ว 2.4 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1.5 แสนล้านบาท และเงินอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวในสต๊อกรัฐบาล

ทั้งนี้ ตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2555 กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะคืนเงินจากการขายข้าวประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่จนแล้วจนรอด ก็คืนไปได้เพียงแค่ 4 หมื่นกว่าล้านบาท และในปี 2556 มีแผนที่จะขายข้าวและส่งเงินคืนอีกไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาท แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินตามเป้าที่ตั้งไว้จริงหรือไม่ เพราะการขายข้าวจีทูจี 7.32 ล้านตัน จนถึงวันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือลวงโลก

หากสมมติฐานไม่เป็นไปตามที่คาดกันไว้ ปี 2556 โครงการรับจำนำข้าว จะเริ่มมีปัญหาแน่นอน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ในการจำนำข้าวแล้ว หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ถังแตก นั่นเอง

2. ข้าวค้างสต๊อก! ระบายไม่ออก

ผลพวงต่อเนื่องจากการรับจำนำแบบไม่จำกัดปริมาณ ทำให้โกดังเก็บข้าวสารมีไม่เพียงพอต่อปริมาณข้าวที่จะต้องนำเข้าเก็บ แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมายืนยันเมื่อช่วงปลายปี 2555 ว่า ณ ปัจจุบัน จะมีข้าวที่เหลือค้างสต๊อกอยู่เพียง 4 ล้านตันเศษ (ยังไม่รวมข้าวที่รับจำนำใหม่ ฤดู 2555/56)

แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะวันนี้ข้าวที่รับจำนำมาไม่มีที่เก็บ โกดังที่มีอยู่ก็เต็มจนล้น ข้าวจีทูจีที่บอกว่าขายออกไป ก็ไม่รู้ว่าขายออกไปจริงหรือไม่ หรือขายออกไปแล้ว วนเวียนกลับเข้ามาสู่โครงการรับจำนำใหม่ เลยทำให้สถานที่เก็บไม่ว่างสักที

ยิ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับจำนำข้าวนาปี 2555/56 ที่รัฐบาลตั้งเป้ารับจำนำข้าวอีกประมาณ 15 ล้านตัน ก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น?

3. ส่งออกข้าวจ่อหลุดแชมป์อีกครั้ง

ผ่านมา 11 เดือนของปี 2555 (ม.ค.-พ.ย.) มีตัวเลขส่งออกข้าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยว่า ไทยสามารถส่งออกข้าวได้เพียง 6.4 ล้านตัน มูลค่า 135,254 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีปริมาณ 10.1 ล้านตัน มูลค่า 178,809 ล้านบาท ลดลงทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า 37% และ 25% ตามลำดับ

แพ้คู่แข่งอย่างอินเดียและเวียดนามที่ส่งออกได้ปริมาณมากกว่าไทย

ส่วนในปี 2556 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกข้าว 8.5 ล้านตัน มูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเชื่อว่าจะทำให้ไทยกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวทั้งปริมาณและราคา เพราะในปี 2556 คาดว่าเวียดนามจะส่งออกได้ 7 ล้านตัน อินเดีย 7-8 ล้านตัน

หลายๆ ฝ่ายยังแสดงความกังวลว่า เป้าดังกล่าวจะมีโอกาสทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสถานการณ์ข้าวไทยในวันนี้ ยังไม่ดีขึ้น และโอกาสที่จะหลุดแชมป์ส่งออกข้าวเป็นปีที่ 2 ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้สูง

4. สินค้าจ่อขึ้นราคาตามค่าแรง

แม้กระทรวงพาณิชย์จะออกมานั่งยันนอนยันว่าการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 300 ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าจนทำให้สินค้าต้องปรับขึ้นราคา โดยผลการวิเคราะห์พบว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้ปรับขึ้นค่าแรงไปแล้วตั้งแต่ 1 เม.ย. 2555 ขณะที่ SMEs ภาคเกษตรกรรม ภาคการขนส่ง ภาคการพาณิชย์และบริการ ก็ได้รับผลกระทบไม่มาก โดยได้รับผลกระทบเพียง 0.67-7.86% เท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า

แต่ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการได้เตรียมที่จะผลักดันต้นทุนค่าแรงลงไปในราคาสินค้า และปรับขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว หลายๆ รายได้เริ่มปรับขึ้นราคา และหลายๆ รายมีแผนที่จะปรับขึ้นราคา โดยให้เหตุผลว่า หากไม่ปรับขึ้นราคาสินค้า ก็จะประสบปัญหาการขาดทุน และหากหยุดการผลิตเมื่อใด ก็จะกระทบต่อสถานการณ์สินค้าในภาพรวมที่จะทำให้สินค้าขาดหายไปจากท้องตลาด

ถือเป็นอีกหนึ่งงานหนัก ที่รอกระทรวงพาณิชย์เข้ามาบริหารจัดการ

5. ส่งออกมีโอกาสชะลอตัวสูง

ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ที่วันนี้ดูจะเบาบางลง แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะประเมินกันว่า วิกฤตยุโรปจะยังคงก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป

ในปี 2556 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ว่าจะขยายตัว 8-9% มีมูลค่า 250,410 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่คาดว่าจะส่งออกได้มูลค่า 231,861 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.17%

เป้าหมายดังกล่าวเป็นการขยับขึ้นจากเป้าที่ทูตพาณิชย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นว่าส่งออกปี 2556 จะโตเพียง 6.63% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปี 2556 ยังน่าเป็นห่วง เศรษฐกิจคู่ค้ายังไม่ฟื้นตัวดีพอ และมีการกีดกันทางการค้าสูง

เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเจอ

6. คุมเงินเฟ้อปี 56 ที่ 2.8-3.4%

กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 อยู่ในกรอบ 2.8-3.4% จากปี 2555 ที่คาดว่าจะไม่สูงเกิน 3% โดยมองสมมติฐานที่ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 100-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 28.50-32.50 บาทเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์มองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 ไม่น่าจะขยับขึ้นรุนแรง เพราะสถานการณ์ราคาสินค้าน่าจะควบคุมได้ แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้บอกว่า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร แต่ไม่น่าจะดูดีเป็นแน่

7. เตรียมความพร้อมรับ AEC

ในปี 2556 เป็นปีที่หลายๆ หน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ จะมีแผนงาน แผนปฏิบัติการ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ที่เริ่มเห็นๆ กันบ้างแล้วก็คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีแผน 4 ก้าว ก้าวหน้า ก้าวนำ ก้าวล้ำ ก้าวไกล ในการผลักดันให้ธุรกิจไทยนำ AEC กรมการค้าต่างประเทศ เริ่มปรับแผนการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ AEC กรมทรัพย์สินทางปัญญา เริ่มปรับแผนเชื่อมความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับสมาชิกอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับแผนการทำงานของศูนย์บริการข้อมูลประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กรมการค้าภายใน ที่เริ่มปรับกระบวนการทำงานในเรื่องการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้อาเซียนมีมาตรฐานเดียวกัน และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่มีแผนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาด AEC

ถือเป็นเรื่องยาก ที่แต่ละหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ จะต้องทำให้ง่าย เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจไทยมีความพร้อมมากที่สุดในการเข้าสู่ AEC

8. ลุ้นหลุดบัญชีดำ PWL สหรัฐฯ

ประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จับขึ้นบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มาตั้งแต่ปี 2550 แล้วก็ต้องรอลุ้นในช่วงเดือน เม.ย.ของแต่ละปีว่าไทยจะหลุดพ้นจากบัญชีนี้หรือไม่

ในปี 2556 เป็นปีที่มีโอกาสหลุดพ้นมากที่สุด หลังจากที่ไทยมีความชัดเจนในเรื่องการทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ทั้งการเตรียมการออกกฎหมายควบคุมการแอบถ่าย การจัดการปัญหาการละเมิดทางอินเทอร์เน็ต การเอาผิดเจ้าของสถานที่ปล่อยขายสินค้าละเมิด และอื่นๆ เป็นอีกเรื่องที่ต้องรอลุ้น

9. งานหนัก! เจรจาการค้า

ปี 2556 เป็นปีที่ไทยจะต้องเริ่มเจรจาการค้าในหลายๆ เวที มากมายไปหมด ทั้งของเดิม ของใหม่ ในกรอบอาเซียนจะต้องเดินหน้าเจรจาเรื่องที่ค้างๆ อยู่ทั้งเรื่องบริการ การลงทุน และผลักดันความคืบหน้าในการเข้าสู่ AEC ให้สำเร็จ และยังมีกรอบอาเซียนกับคู่เจรจาอีกหลายประเทศ ยังไม่รวมกรอบ FTA ที่ไทยทำกับคู่เจรจาที่จะต้องมีการเจรจาต่อ

แต่ที่น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญที่สุด คงหนีไม่พ้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และการประกาศว่าไทยสนใจเข้าร่วมเจรจา TPP กับสหรัฐฯ

จะตัดสินใจทางใด ผลดี-ผลเสียเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องบริหารจัดการให้ดี ให้ได้

10. ปลัดหญิงพาณิชย์โชว์กึ๋น

นางวัชรี วิมุกตายน รับตำแหน่งเป็นปลัดหญิงคนแรกของกระทรวงพาณิชย์ มาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2555 ใช้เวลาดำรงตำแหน่งไปแล้ว 3 เดือน หลายๆ คน ต่างก็เฝ้าจับตาดูว่าจะมีผลงานสร้างชื่ออะไรฝากไว้ให้กับกระทรวงพาณิชย์บ้าง เพราะนับจากวันนี้ ก็เหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 9 เดือน ก็จะเกษียณอายุราชการ

สิ่งที่ปลัดหญิงกำลังดำเนินการ ที่ใช้ประสบการณ์ตรงจากการที่เคยเป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน ก็คือ การริเริ่มให้จัดทำเว็บไซต์ ผู้ผลิตผู้บริโภคตื่นตัว (Producer & Consumer Alert) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและผู้ผลิตในการติดตามภาวะราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพได้เป็นรายสัปดาห์ ซึ่งจะเผยแพร่ข้อมูลขายปลีก ขายส่งของ 250 ตลาดทั่วประเทศ และจะเปิดตัวราวๆกลางเดือน ม.ค. 2556 นี้ ถือเป็นงานที่จะช่วยดูแลค่าครองชีพ และสร้างความโปร่งใสในการดูแลค่าครองชีพตามนโยบายรัฐบาล

ส่วนงานริเริ่มอื่นๆ ปลัดหญิงบอกว่า ปี 2556 จะมีอะไรเด็ดๆ ออกมาอีกจำนวนมาก แต่จะเป็นอะไร ไว้คอยจับตาดูกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น