“ชัชชาติ” สั่ง ทอท.หาจุดยืนและวางเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน ชี้หาก “สุวรรณภูมิ” จะเป็นฮับในภูมิภาคต้องตอบได้ว่ามีบริการที่ดีสะดวกและปลอดภัยหรือยัง จี้วางแผนใช้ระบบไอทีช่วย หวั่นอีก 5 ปี แออัดแน่ พร้อมเร่งหารายได้เพิ่มเชิงพาณิชย์ลดพึ่งพาค่าธรรมเนียมการบิน “สมชัย” ยันแผนเฟส 2 เริ่มก่อสร้าง ส.ค. 57 เสร็จใน ธ.ค. 59
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “ยุทธศาสตร์ทางอากาศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2” เพื่อพัฒนาการขนส่งทางอากาศและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาระบบลอจิสติกส์รวมถึงปรับปรุงการให้บริการขนส่งทางอากาศให้มีความสะดวกมีมาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศและรองรับการเปิด AEC
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะต้องออกแบบเพื่อวางตำแหน่งของตัวเองว่าจะเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ของอาเซียนหรือไม่ และจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง รวมถึงแผนรองรับการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารซึ่งคาดว่า ในอีก 5 ปี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะแออัดแน่ เพราะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 จะยังไม่เสร็จ ทำให้กายภาพของสนามบินมีปัญหา จำเป็นต้องหาระบบเทคโนโลยี (IT) เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารและสายการบิน เช่นการลดระยะเวลาในการเชื่อมต่อเที่ยวบิน เป็นต้น
ทั้งนี้ ทอท.จะต้องมองในมิติสิ่งแวดล้อมและผลกระทบของประชาชนและความปลอดภัยร่วมด้วยด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3, 4 เส้นเสียงที่จะมีผู้ได้รับผลกระทบอยู่ตรงไหน ต้องวางแผนรองรับระยะยาวไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในภาครัฐและไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จะมีการดำเนินงานตามแผนการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จะทำอะไรมีผลกระทบอย่างไรและมีมาตรการเยียวยาอย่างไรต้องชี้แจงให้ชัดเจน
“ทอท.ประกาศวิชันว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจสนามบินในภูมิภาคเอเชียแล้วทำได้จริงหรือไม่ เพราะจากการจัดอันดับของสกายแทรกซ์สุวรรรณภูมิอยู่อันดับ 25 ของโลก และอันดับ 13 ของเอเชีย ก็ต้องมาดูว่าอะไรที่ยังเป็นจุดอ่อน การจะเป็นฮับต้องที่การกระทำไม่ใช่คำพูด หรือแค่สโลแกน หรือบอกว่าจะขยายให้รับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนแต่ไม่มีคุณภาพ หากดูสนามบินอื่นเช่น สนามบินอินชอน ชัดเจนว่าจะเป็น Culture Airport เป็นฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดต่อเชื่อมเข้าจีน ญี่ปุ่น มีบริการเปลี่ยนต่อเครื่องที่สะดวก มีบริการ มีร้านค้าชั้นนำ มีแม้กระทั่วบริการห้องอาบน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ เป็นต้น” นายชัชชาติกล่าว
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ทอท.ควรเพิ่มรายได้จากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้มากขึ้น และพึ่งพารายได้จากด้านการบิน (Aero) ให้น้อยลง ซึ่งสนามบินระดับโลกจะมีรายได้จากการบิน 30% เพราะรายได้ส่วนนี้ ได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินที่เรียกเก็บจากผู้โดยสาร (PSC) และค่า Landing & Parking ที่เป็นภาคบังคับต้องจ่าย และหากขึ้นราคามากๆ ก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ ขณะที่รายได้เชิงพาณิชย์เป็นความสมัครใจ พอใจ ซึ่งปัจจุบันทอท.มีรายได้เชิงพาณิชย์เพียง 40% เท่านั้น
ด้านนายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า เดือนมกราคม 2556 จะประกวดราคาหาผู้ออกแบบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ได้ และจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 10 เดือน จากนั้นจะประกาศประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนสิงหาคม 2557 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งจะทำให้สุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี ส่วนการปรับปรุงบริกาต่างๆ ในระหว่างการขยายเฟส 2 นั้น จะมีการพิจารณาจุดอ่อนทั้งหมด เช่น ห้องน้ำ ความสะอาด อาหารแพง และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายฟรี (wifi) รวมถึงป้ายบอกทางที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท จะมีการขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสารอีก 60,000 ตารางเมตรพร้อมแยกระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และเพิ่มเช็กอิน 3 แถว หรือเพิ่ม 105 เคาน์เตอร์ ก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินใหม่พื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร อาคารจอดรถ 1,000 คัน เป็นต้น โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคนต่อปี รองรับได้จนถึงปี 2561