xs
xsm
sm
md
lg

“เชฟรอนฯ” ยุติการลงทุนชอร์เบสในนครศรีธรรมราช บทเรียนเชิงประจักษ์..ใครได้ใครเสีย?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...นักข่าวชายขอบ
 
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2551 ข่าวการย้ายฐานสนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานกลางอ่าวไทยของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิตประเทศไทย จำกัด มายังนครศรีธรรมราช ได้สร้างความหวังของนักลงทุน และนักธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช และใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักธุรกิจรวมทั้งชาวบ้านร้านตลาดในแถบอำเภอเมืองสงขลามีความเสียดายไม่น้อยกับความคึกคักด้านการค้า การลงทุน เม็ดเงินที่สะพัดจากการจับจ่ายใช้สอยของบุคลากรนับพันคนในพื้นที่อาจต้องย้ายไปอยู่ที่นครศรีธรรมราชแทน
 
นอกจากศูนย์การขนส่งทางอากาศของบริษัทแห่งนี้ได้ย้ายมาใช้พื้นที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ฝั่งทางด้านทิศใต้ เป็นศูนย์การบินขนส่งบุคลากร และเจ้าหน้าที่ไปยังฐานขุดเจาะกลางอ่าวไทยจำนวนมาก ที่สำคัญ ยังมีโครงการศูนย์สนับสนุนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีก 2 ส่วน คือ โกดังอาคารเก็บวัสดุอุปกรณ์ และท่าเทียบเรือสำหรับขนวัสดุอุปกรณ์เหล่านั้นไปยังฐานการขุดเจาะ จากเดิมศูนย์ลักษณะนี้จะอยู่ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งทั้งสองพื้นที่นั้นเป็นตัวอย่างของโอกาสในการยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มด้านต่างๆ อย่างเป็นไปด้วยกันได้
 
หลังจากที่ศูนย์การขนส่งทางอากาศได้เปิดดำเนินการไปนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เริ่มมีปัจจัยบวกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งการใช้บริการจากภาคธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เที่ยวบินโดยสารคึกคักมากขึ้น โรงแรมที่พัก ตลาดอสังหาริมทรัพย์ การจับจ่ายใช้สอยมีแนวโน้มอยู่ในแดนบวก
 
เช่นเดียวกันกับโครงการสนับสนุนการสำรวจและผลิต หรือชอร์เบส ที่มีแนวโน้มในการก่อสร้างในบ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลให้ทิศทางของเศรษฐกิจที่นั่นมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ราคาประเมินที่ดินย่านโครงการสูงขึ้น ขณะที่ราคาซื้อขายจริงนั้นถีบตัวมากกว่าราคาประเมินถึงไร่ละ 2.5-3 ล้านบาท เจ้าของที่ดินหลายรายปฏิเสธที่จะขายด้วยเหตุผลที่ว่า ราคาอาจจะขึ้นไปได้สูงกว่านี้ ซัปพลายเออร์ต่างๆ ที่กำลังย้ายฐานมาที่นครศรีธรรมราชเพื่อรองรับการขยายตัวในด้านต่างๆ 
 
แต่ในเวลาเดียวกัน ในพื้นที่ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ขบวนการอนุรักษ์ และการเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้เริ่มขึ้น ด้วยการคัดค้านโครงการที่ปรากฏในเวลาไล่เลี่ยกันคือ โครงการชอร์เบส และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน โดยเฉพาะไฟฟ้าถ่านหินนั้นอาจเป็นหัวเชื้อกระบวนการอุตสาหกรรมที่สำคัญ เพราะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตัวเอง และยิ่งภาพของถ่านหินเสมือนหนึ่งปีศาจร้ายที่คุกคามทั้งชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม  กฟผ.เองไม่เคยตอบโจทย์นี้ได้จากทั้งแม่เมาะ หรือมาบตาพุด จนเป็นชุดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นักสื่อสารภาคประชาชนนำเอาชุดข้อมูลที่ว่านี้สื่อสารไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของ กฟผ.ได้อย่างแหลมคม และ กฟผ.เองไม่สามารถตอบแจงได้เลย
 
ส่วนโครงการชอร์เบสของบริษัทเชฟรอนฯ มีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนของโกดัง และส่วนของท่าเรือที่เป็นจุดขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ไปยังกลางทะเลแหล่งขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นข้อกังวล และมีความตึงเครียดกับชุมชน โดยฝั่งเชฟรอนฯ มีชุดข้อมูลที่ต้องอยู่ในกระบวนการจัดทำ EHIA ส่วนขบวนการคัดค้านได้ศึกษาจัดทำชุดข้อมูลขึ้นด้วยตัวเองจากหลายภาคส่วนมาคานกับชุดข้อมูลของเชฟรอนฯ โดยได้ชี้ช่องถึงความไม่สมบูรณ์ของฝ่ายเชฟรอนฯ รวมทั้งข้อกังวลถึงเรื่องทรัพยากรในอ่าวท่าศาลา ที่ถูกขนานนามขึ้นมาใหม่ด้วยวาทกรรม
 
“อ่าวทองคำ”
 
ที่แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยคุณค่า และเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่มีคุณค่าประดุจทองคำ และมีการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อสนับสนุนอ่าวทองคำแห่งนี้ให้มีความมั่นคง รวมทั้งอนุรักษ์สืบต่อไปให้เป็นแหล่งอาหารของชาวโลก ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ที่สวยงาม แหลมคม แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางอาหารที่มนุษย์ทุกคนต้องบริโภค การแสดงออกที่ต่อต้านคัดค้านโครงการของบริษัทเชฟรอนฯ จึงมีหลายแง่มุม ทั้งข้อโต้แย้งทางวิชาการ การเคลื่อนไหวมวลชนที่เป็นกลุ่มก้อน ที่บางครั้งเป็นความดุดันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญของโครงการเลยทีเดียว
 
เมื่อหันไปดูประมงพื้นบ้านริมอ่าวท่าศาลาตลอดทั้งแนว และรวมถึงอำเภออื่นๆ ชายฝั่งอ่าวไทยของนครศรีธรรมราช เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นอยู่ตามอัตภาพ ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง ที่ต้องแย่งชิงกับการประมงที่ผิดกฎหมายจากประมงเพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ยี่หระกับราคาน้ำมัน ในเมื่อขบวนการน้ำมันราคาถูกมีอยู่ดาษดื่นนอกอ่าว ส่วนประมงชายฝั่งออกไปจากฝั่งได้ไม่ไกล เมื่อราคาน้ำมันแพงย่อมได้รับผลกระทบ หลายคนเริ่มดัดแปลงเครื่องยนต์ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ดูเหมือนว่าประหยัดต้นทุนมากกว่า ส่วนปูปลาที่ได้จากการทำประมงเมื่อกลับมาถึงฝั่งจะส่งขายไปยังพ่อค้าคนกลาง หรือไปส่งขายเอง แล้วแต่วิธีการของใคร แต่ความร่ำรวยส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่พ่อค้าคนกลางมากกว่าพี่น้องชาวประมงที่กรำคลื่น กรำแดด กร้านลมอยู่กลางทะเล ราคาสินค้าที่หามาได้เท่าเดิม หรือถูกลงเป็นวงจรที่มีมาช้านานในยุคทุนนิยมเสรี และยิ่งทวีกลายเป็นทุนสามานย์มากขึ้นทุกวัน
 
และอีกส่วนเครือข่ายภาคประชาสังคมเหล่านี้ คาดหวัง และอาจเรียกว่าเป็นอุดมการณ์ในการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ รักษาปิโตรเลียมเหล่านั้นไว้ได้ หวังไว้ว่าจะร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไข หรือผลักดัน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ปิโตรเลียมไม่ใช่ของรัฐอีกต่อไป แต่เป็นของประชาชน เป็นของสาธารณะที่จะต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน ใช่ว่าจะเป็นเพียงแค่ของบริษัทใหญ่น้อย การกระจายผลประโยชน์จากทรัพยากรจะต้องทั่วถึง และเป็นธรรม
 
แต่โจทย์ใหญ่ที่จะต้องตามจัดการนั้นไม่ใช่บริษัทเหล่านี้ที่เป็นผู้รับสัมปทาน แต่คือ “รัฐ” และกฎหมายที่ออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นมิติที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปด้วย แม้ว่าเชฟรอนฯ จะยุติโครงการชอร์เบสแห่งนี้ด้วยเหตุผลใดสุดแท้แต่จะว่ากันไป ส่วนการผลิต การขุดเจาะยังคงมีอยู่ต่อไป เช่นเดียวกับ ปตท.สผ. ซาราเมนเดอร์ เพิร์ลออยล์ หรือใครต่อใคร ยังตั้งหน้าตั้งตาขุดเจาะผลิตปิโตรเลียมกันต่อไป และเรายังต้องใช้ผลผลิตปิโตรเลียมนั้นกันทุกคน
 
เมื่อย้อนมาดูถึงนครศรีธรรมราช นับแต่อดีตแม้ว่าจะเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรในย่านนี้ แม้มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางการค้าการขาย แต่จากวันนี้นับเนื่องย้อนไปไม่ถึงชั่วอายุคนคงพอจำได้ โอกาสในการสร้างบ้าน สร้างเมือง สร้างความเจริญ คล้ายกับถูกฉกฉวย แย่งชิงออกไปจากศูนย์กลางอาณาจักรย่านนี้ไปอย่างมีข้อสงสัย ด้วยเหตุอันใดคงคาดเดาได้ไม่ยาก โชคดีที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์ย้ายไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้นคงเห็นปรากฏการณ์ย้ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์ไปประดิษฐานอยู่ที่สุราษฎร์ธานีไปแล้ว
 
หลายโอกาสที่มีความสำคัญถูกโยกย้ายจากนครศรีธรรมราช ไปอยู่ที่สุราษฎร์ธานีอย่างเหลือเชื่อ การค้าการลงทุนที่สำคัญพลาดจากที่นี่ไปลงที่สงขลาอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่นครศรีธรรมราชมีความพร้อมทั้งภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของทรัพยากรวัตถุดิบทางการเกษตรที่สำคัญ และที่สำคัญระบบการขนส่งที่มีความพร้อมสูงไม่ได้เป็นตัวดึงดูดในการลงทุนเลย
 
ทว่า การลงทุนหลายอย่างได้ประสบความสำเร็จสร้างการขยายตัวให้แก่สุราษฎร์ธานี และสงขลา จึงเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน นักท่องเที่ยว และยังส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ มีสูงมากขึ้นไปด้วย
 
ดังนั้น ไม่แปลกเลยที่นครศรีธรรมราชจะอยู่ในสถานะเดิมๆ นักท่องเที่ยว นักลงทุน หรือแขกต่างบ้านต่างเมืองจะเห็นเป็นเพียงแค่ทางผ่าน แวะเที่ยวสนุก กินอร่อย เจรจาลงทุนที่สุราษฎร์ธานี แวะผ่านมาสักการะขอพรองค์พระบรมธาตุเจดีย์ให้มีความสำเร็จ แล้วไปแวะปั๊มน้ำมันเข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัวที่พัทลุง ก่อนไปตกลงธุรกิจกันที่สงขลา
 
นครศรีธรรมราชเสียโอกาสอีกครั้ง และต้องบันทึกขีดเส้นใต้ไว้อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุคการค้า การลงทุน และการแข่งขัน พลเมืองชาวนครศรีธรรมราชไม่นับรวมประชากรแฝงกว่า 1.5 ล้านคนที่นี่ไม่มีใครชนะ อยู่ที่ว่าจะยอมรับหรือไม่เท่านั้น
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น