xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ขีดเส้น ม.ค. 56 ชี้ชะตาปากบารา เดินหน้าหรือยกเลิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คมนาคม” เผยต้องเร่งสรุปท่าเรือปากบาราจะเดินหน้าหรือไม่ ยอมรับมีเสียงคัดค้านทั้งเอกชนและประชาชน เตรียมเวิร์กชอป ม.ค. 56 ก่อนตัดสินใจ “ชัชชาติ” ชี้จุดอ่อนไม่มีอุตสาหกรรมสนับสนุนท่าเรือเกิดยาก หากจะสร้างอาจต้องปรับรูปแบบ ด้าน “ประเสริฐ” ลงพื้นที่หารือเอกชนและดูพื้นที่จริงเก็บข้อมูลเสียงค้านเป็นคนในพื้นที่จริงๆ หรือไม่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูลว่า จะต้องเร่งสรุปความชัดเจนของโครงการว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่และในรูปแบบใด เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งในหลายส่วน โดยประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังไม่เห็นด้วยเพราะกังวลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคเอกชนไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนท่าเรือ ทำให้ไม่มีสินค้าใช้บริการ ขณะที่หน่วยงานราชการต้องการก่อสร้าง

“ยังมีความเห็นต่อต้านโครงการอยู่ ดังนั้นหากจะดำเนินการจริงต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบ กรณีเป็นท่าเรือน้ำลึกแต่ไม่มีอุตสาหกรรมสนับสนุน จะสามารถตั้งนิคมอุตสาหรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) ได้หรือไม่ หรือต้องปรับรูปแบบโครงการให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ หรือท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างอ่าว เป็นต้น” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะกำกับดูแลกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่จังหวัดสตูลเพื่อหารือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัดสตูล รวมถึงดูพื้นที่การก่อสร้าง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา และในเดือนมกราคมนี้กระทรวงคมนาคมจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) การขนส่งทางน้ำ เชื่อว่าโครงการจะชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือหยุดโครงการ

ส่วนประเด็นที่มีประชาชนต่อต้านโครงการนั้น จะต้องพิจารณาว่าเป็นเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงหรือไม่ หรือเป็นคนจากนอกพื้นที่ ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน โดยปัจจัยที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือหยุดโครงการนอกจากผลตอบแทนการลงทุนว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่แล้ว ยังมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย

“ต้องเร่งสรุปโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบาราเพราะล่าช้ามานานแล้ว ปัจจุบันการศึกษาต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้สร้างถนนเข้าไปยังพื้นที่การก่อสร้างแล้ว แต่หากไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็ต้องหยุด แล้วไปพิจารณาทำโครงการอื่นที่เป็นประโยชน์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าต่อไป ส่วนตัวผมเห็นว่าหากมีท่าเรือปากบาราประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ และยังเป็นนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้มีการพัฒนาท่าเรือฝั่งอันดามัน และโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจุดที่กำหนดท่าเรือปากบาราถือว่าเหมาะสมที่สุด แต่การดำเนินโครงการต้องมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน” นายประเสริฐกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น