xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เตรียมทบทวนแหลมฉบังเฟส 3-ปากบารา เอกชนชี้ไม่คุ้ม แนะผุดท่าเรือมาบตาพุดแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“จารุพงศ์” รับลูกสมาคมเรือทบทวนแผนแหลมฉบังเฟส 3 ชี้ไม่จำเป็นเหตุเฟส 2 ยังไม่เต็ม ด้านเอกชนแนะสร้างท่าเรือใหม่ที่มาบตาพุดเหมาะสมกว่า ขณะที่ปากบาราไม่คุ้มลงทุนเพราะไม่มีสินค้า เชียร์ผุดสงขลา 2 แทน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาพาณิชยนาวีไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบขนส่งและลอจิสติกส์ รวมถึงการสร้างเครือข่าย ระหว่างกันของระบบการขนส่งทางน้ำให้มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงกัน โดยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะมีการทบทวนการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จ.สตูลใหม่ เนื่องจากขณะนี้ทางประเทศจีนจะมีการก่อสร้างท่าเรือ KALAQAUK ที่ประเทศพม่า ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 นั้น ภาคเอกชนเห็นว่ายังไม่ควรดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 2 ยังไม่เต็มขีดความสามารถและยังมีปัญหาที่ต้องแก้ไขอีกมาก ซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรไปดำเนินการก่อสร้างท่าเรือที่บริเวณมาบตาพุดแทน ซึ่งปัจจุบันมีท่าเรืออยู่แล้วแต่เป็นของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้ให้ กทท.พิจารณา พร้อมกับพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสม

ทั้งนี้ หากจะผลักดันให้การขนส่งสินค้าทางเรือเติบโตมากขึ้นจะต้องแก้ไขกฎระเบียบหลายเรื่อง ซึ่งจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอจากผู้เกี่ยวข้องจัดทำแผน และยุทธศาสตร์ในการดำเนินการในเรื่องพาณิชยนาวีของไทยต่อไป

ด้านนายสุวัฒน์ อัศวทองกุล ประธานสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ กล่าวว่า เห็นว่าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เพราะเฟส 2 ยังใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ และหากพัฒนาให้เต็มศักยภาพจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 10 ล้านทีอียูต่อปี ในขณะที่ปัจจุบันมีตู้สินค้าประมาณ 5 ล้านทีอียูต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างท่าเรือปากบาราเพราะจะไม่มีสินค้าไปใช้ เนื่องจากสินค้าภาคใต้มีประมาณ 2-3 แสนทีอียูต่อปีเท่านั้น หากจะดำเนินการท่าเรือปากบาราจะต้องสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดสินค้าสำหรับขนส่งโครงการจึงจะประสบความสำเร็จ ส่วนการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือปากบารากับทางเรือสงขลานั้นอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากสายเรือ เพราะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน และมีค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งสินค้าโดยเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกาของมาเลเซีย แต่เห็นว่าควรผลักดันการก่อสร้างท่าเรือสงขลา 2 มากกว่าเพราะมีสินค้าพร้อมส่งออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะยางพาราที่ส่งไปยังประเทศจีน

“ควรหาจุดก่อสร้างท่าเรือใหม่แทนการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เช่นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ค่อนข้างเหมาะสมเพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก สามารถขนส่งสินค้าออกไปได้ทันที อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของไทยคือ การให้บริการที่ยังไม่เชื่อมโยงกันระหว่างท่าเรือกับบนฝั่ง เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะคนขับรถหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ที่มีไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่พนักงานขับรถจะกลับไปต่างจังหวัดเพื่อทำนากันหมด เนื่องจากมีรายได้ดีกว่าทำงานในท่าเรือ” นายสุวัฒน์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น