กิจกรรมการคัดค้าน “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ “แลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา” ที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่อย่างล้นหลามยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ละงู รวมกลุ่มคัดค้านอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพซึ่งพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลเป็นหลัก ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และประมงพื้นบ้าน เสียงจาก ส.ส.ฮอซาลี ม่าเหร็ม ผู้แทนในพื้นที่ ก็ระบุว่าผลการศึกษาชี้ชัด “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่คุ้มทุน!”
การก่อสร้างท่าเรือปากบาราไม่คุ้มทุนตรงจุดไหน อย่างไร?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ในปี พ.ศ. 2551 - 2553 ทางกระทรวงคมนาคม โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร และสภาฯ ก็ได้อนุมัติงบประมาณดังกล่าวในการศึกษาเกี่ยวกับระบบรางรถไฟ ระบบการขนส่ง และรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่างๆ โดยหลักๆ คือ แนวเส้นหรือระบบรางรถไฟ 3 - 4 แนว ในการเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง คือฝั่งอันดามัน ที่บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กับฝั่งอ่าวไทย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่งผลการศึกษาดำเนินการโดยบริษัทเอกชนที่รับงานจาก สนข. อีกที ซึ่งมี 2 บริษัท ผลการศึกษาออกมาเป็นรูปเล่มเรียบร้อยแล้ว ทั้งฉบับที่เป็นรายละเอียดและฉบับของผู้บริหาร ระบุว่า แนวหลักๆ ของการขนส่งระบบรางที่จะจัดทำจากปากบารา ไปทางเขาพระ ตัดตรงรางรถไฟไปที่ริมท่าเรือนาทับ อ.จะนะ นี่คือแนวที่ตรง สั้น และในเชิงวิศวกรรมศาสตร์สำรวจแล้วว่าเหมาะสมที่สุด เวนคืนที่ดินน้อยที่สุด จากการศึกษามา 3 - 4 แนว ซึ่งใช้เงิน 100 กว่าล้านในการศึกษาตรงนี้
ประเด็นที่ผมให้ความสนใจมากที่สุดคือเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเป็นการใช้งบประมาณของรัฐบาล ตรงนี้ผลการศึกษาระบุออกมาชัดเจนในเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการ ความคุ้มทุน ความคุ้มค่า และในเชิงของการลงทุนว่าคุ้มค่าแค่ไหนกับงบประมาณที่เราลงทุนไป รวมทั้งผลตอบแทนที่ได้คืนมาด้วย
ผลการศึกษา ถามความต้องการเกี่ยวกับเรื่องแลนด์บริจด์ รางรถไฟ และท่อน้ำมัน ว่านักลงทุน นักธุรกิจที่ทำการเดินเรือ หรือทำเกี่ยวกับลอจิสติกส์ รวมทั้งบริษัทหลักๆ ที่ส่งตู้คอนเทนเนอร์ไปทั่วทั้งโลก เท่าที่ผมอ่านรายละเอียด ผลปรากฏว่าใน 100% มีแค่ 20% เท่านั้นเองที่ให้ความสนใจในการใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์และระบบรางที่เชื่อมเส้นทางระหว่างฝั่งยุโรป คือฝั่งตะวันตก และฝั่งอันดามัน ซึ่งมาขึ้นที่ท่าเรือปากบารา และขนไปยังเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแปซิฟิก
นักธุรกิจที่ทำเรื่องลอจิสติกส์เขาไม่ให้ความสนใจที่จะใช้ระบบตรงนี้ เพราะว่าหลายขั้นตอนเหลือเกิน สินค้าบรรทุกจากยุโรป ตะวันนออกกลาง มาขึ้นที่ปากบารา จะต้องมีการยกตู้คอนเทนเนอร์มาลงที่ท่าเทียบเรือปากบารา และยกสินค้าขึ้นรถไฟ หรือไม่ก็ขึ้นรถในระบบแลนด์บริจด์บนถนน ซึ่งระบบรถไฟตรงนี้ก็ต้องรอให้ตู้เต็ม ซึ่งต้องใช้เวลา ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยกขึ้นลง จากรางรถไฟจะต้องวิ่งจากปากบาราไปยังนาทับ เมื่อถึงนาทับแล้วจะต้องยกของลงมาที่ลานกองตู้คอนเทนเนอร์อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ยกจากลารนกองตู้คอนเทนเนอร์ไปยังเรืออีกที ซึ่งจะมีเรืออีกลำหนึ่งมารับสินค้าไปยังประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ
จากตรงนี้ นักธุรกิจที่ทำด้านลอจิสติกส์บอกว่า กับการที่เอาสินค้าตู้เดียวและเรือลำเดียววิ่งผ่านสิงคโปร์ วิธีการนี้จะสะดวกและไม่ต้องขนส่งขึ้นลงหลายครั้ง สินค้าไม่เสียหาย เพราะฉะนั้น ผลการศึกษาจึงสรุปว่า ถ้ารัฐบาลสร้างเองก็ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนกับเงินงบประมาณของแผ่นดินที่จะมาทุ่มกับตรงนี้ แต่ถ้าหากจะมีบริษัทต่างชาติ จีน สิงคโปร์ หรือบริษัทอื่น มารับเหมาทำเอง ทั้งท่าเรือ แลนด์บริจด์ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และระบบราง รัฐบาลก็จะได้เปอร์เซ็นต์จากการมาเช่าสถานที่ ซึ่งถ้าจะใช้วิธีนี้รัฐบาลก็จะต้องมีการหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าเป็นแนวทางที่ให้ต่างประเทศมาลงทุนก็จะช่วยทุ่นเงินที่รัฐบาลจะใช้ลงทุนในการก่อสร้าง?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ใช่ นั่นคือมองในมุมของเศรษฐกิจ ไม่ได้มองในมุมของสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน และผลกระทบต่างๆ
ในแง่ความคุ้มทุนที่ชาวบ้านจะได้รับ ส.ส.ฮอซาลี มองว่าเป็นอย่างไรบ้าง?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : จากผลการศึกษามองว่าถ้ารัฐบาลเอาเงินมาสร้าง มองในเรื่องเศรษฐกิจและความคุ้มค่า ผลการศึกษาก็ระบุชัดว่าทำแล้วเจ๊ง ทำแล้วไม่คุ้มทุน เพราะฉะนั้น มองในมุมของชาวบ้านคือ ถ้ารัฐบาลทำเรื่องนี้ก็ต้องใช้งบประมาณของประชาชนทั้งประเทศมาสร้างตรงนี้ ก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
นอกจากนั้นแล้ว ผลการศึกษายังได้เสนอไปในสมัยของรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเมื่อเห็นผลการศึกษาตรงนี้แล้วก็ได้ลดระดับของโครงการลง นั่นหมายความว่าลดระดับให้เป็นเพียงท่าเทียบเรือเล็ก ถ้าจะก่อสร้างก็อาจก่อสร้างเพื่อเป็นท่าเรือเอนกประสงค์หรือท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่าที่จะเป็นเมกะโปรเจกต์ ซึ่งมีเรือเดินสมุทรเข้ามา แล้วก็ซ้อนทับกับแหล่งท่องเที่ยว หลังจากผลการศึกษาตัวนี้ออกมา จึงทำให้ความสนใจเชิงนโยบายไปลงที่ท่าเรือทวาย ประเทศพม่า เพราะมีความคุ้มค่าในเชิงการลงทุนมากกว่า ประเทศได้ไปลงทุน และให้ความสนใจในการทำถนนจากท่าเรือเชื่อมมายัง จ.กาญจนบุรี เข้า กทม. เข้าแหลมฉบัง
เราจะพูดได้ไหมว่า ถ้ามีท่าเรือทวายแล้ว ถ้าเรือปากบาราก็ไม่จำเป็น?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ใช่ครับ ผลการศึกษาออกมาชี้ชัดอย่างนั้น เมื่อผลออกมาชี้ชัดอย่างนี้แล้วรัฐบาลก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ รัฐบาลปัจจุบันต้องตัดสินใจว่าเราจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะมันมีเรื่องที่คาราคาซังอยู่ เช่น แผนการที่จะเวนคืนที่ดิน ผังเมือง ฯลฯ รัฐบาลจะต้องให้ความชัดเจนว่าจะเดินหน้าหรือจะยุติโครงการตรงนี้
ขั้นตอนการดำเนินงาน การประกาศเพิกถอนอุทยาน ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ยังไม่คืบหน้า เพราะว่าทางกรมอุทยานก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้เพิกถอนอุทยาน เป็นเพียงข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม การเดินหน้าของกระทรวงคมนาคมโดยกรมเจ้าท่าในการขอเวนคืนพื้นที่ของอุทยานเพื่อที่จะมาทำเป็นท่าเรือ
ตรงนี้มันต้องดูว่ารัฐบาลจะเอายังไงก่อน ถ้ารัฐบาลชี้ชัดว่าจะเดินหน้า เขาก็ต้องเดินหน้าในเรื่องของการเวนคืน และทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ต้องพิจารณาอีกที ตอนนี้เท่าที่ติดตามยังไม่มีความคืบหน้า เพราะว่านโยบายของรัฐบาลก็ยังไม่ชัด
ถ้าสมมติว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้นจริงๆ จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนที่จะมาลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมมากกว่าชาวบ้านหรือเปล่า?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ผมมองว่าปากบาราเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยว และเหมาะสำหรับอุตสาหกรรม คือเหมาะจะเป็นท่าเทียบเรือด้วย แต่อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้ประโยชน์ทางด้านไหน เพราะทั้ง 2 อย่างมันไปด้วยกันไม่ได้ เราจะเลือกการท่องเที่ยว เลือกปะการังเจ็ดสี จะเลือกให้คนทั้งโลกมาเที่ยวทะเลที่นี่ หรือว่าเราจะให้เรือเดินสมุทร เรือส่งสินค้าเข้ามา แล้วมีท่าเรือน้ำลึกเกิดขึ้นที่นี่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเลือก ซึ่งเลือกได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้าเลือกอุตสาหกรรมมันต้องทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าทางภาครัฐจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ผมเชื่อว่า ณ ขณะนี้เขาชะลอแล้ว แต่เราก็ยังต้องจับตามองกันต่อไป
สำหรับเรื่องท่าเทียบเรือ โดยภาพรวมพรรคประชาธิปัตย์มองเรื่องนี้ว่าอย่างไรบ้าง?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : ในสมัยที่เราเป็นรัฐบาล ประเด็นสำคัญที่เราหารือกันภายในพรรค ในระดับนโยบายพรรค คือเรามองทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความคุ้มค่าของการลงทุน เพราะฉะนั้น เมื่อประชาชนของเรามีความคิดแตกต่างกัน 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่อยากให้สร้าง และฝ่ายที่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะต้องนำข้อมูลต่างๆ มาประกอบการตัดสินใจ ในสมัยที่เราเป็นรัฐบาลจากการประมวลผลข้อมูลคือเราไม่สามารถเดินหน้าโครงการนี้ได้ รัฐบาลจึงหันไปสนใจโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายแทน
ท่าทีของชาวบ้านในพื้นที่ สัดส่วนระหว่างคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นอย่างไร?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : มันประเมินเป็นตัวเลขแน่ชัดไม่ได้ คนที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาทำกิจกรรมในเวทีสาธารณะ ออกมาบอกว่าเขาไม่เห็นด้วย ส่วนคนที่เห็นด้วยเขาก็ยังนิ่งๆ อยู่ เขาไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว ผมเป็นผู้แทนในพื้นที่ผมรู้ว่าชาวบ้านมีทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในขณะนี้ผมมองว่าเราควรจะเลือกทำในสิ่งที่ยั่งยืนสำหรับพื้นที่ของเราก่อน ทำในสิ่งที่เห็นได้เฉพาะหน้าก่อน ซึ่งผมก็ได้ผลักดันในส่วนของท่าเรือท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ท่าเรือท่องเที่ยวปากบาราสร้างเสร็จแล้ว และได้มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล
ผมคิดว่าเราควรพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยว มาเสริมในเรื่องการศึกษา พยายามผลักดันให้มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ นอกจากนั้นก็พัฒนาสตูลไปตามศักยภาพของจังหวัด ไม่ต้องไปพยายามบิดเบือน ตรงไหนดีเราก็ขายตรงนั้น
แล้วศักยภาพของ จ.สตูล ที่คิดว่าจะต่อยอดได้ นอกจากเรื่องการท่องเที่ยว มีอะไรบ้าง?
ส.ส. ฮอซาลี ม่าเหร็ม : อุตสาหกรรมด้านการเกษตร คือเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลก็น่าจะมาใช้พื้นที่ของ จ.สตูล ได้ ไม่ใช่อุตสาหกรรมพวกปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมหนักที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ในพื้นที่ก็มีโรงงานปลากระป๋องอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นระบบ และในพื้นที่ จ.สตูล ก็มีจุดเด่นตรงความมั่นคง ซึ่งนักลงทุนสามารถวางใจในความปลอดภัยได้
เราควรพัฒนาสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย คนที่ต่อต้านเขาก็รับได้ คนที่อยากให้มีการพัฒนาก็สามารถมาลงในโครงการต่างๆ ได้ ซึ่งตอนนี้สตูลเองก็เป็นเมืองท่า มีการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซียอยู่เป็นระยะๆ ผ่านทางท่าเรือตำมะลัง ผมคาดว่าถ้าท่าเรือท่องเที่ยวปากบาราเปิดให้บริการ และมีนักท่องเที่ยวมากพอก็สามารถให้บริการเดินเรือระหว่าง สตูล-ลังกาวี ประเทศมาเลเซียได้