“วิเชียร” เข้าทำงานวันแรก ข้าราชการต้อนรับพรึบ มอบนโยบาย 9 ข้อ ลดต้นทุนลอจิสติกส์ สร้างรายได้ของประเทศ ยืนยันทำงานไม่กดดันแม้เป็นคนนอก มั่นใจได้รับความร่วมมือ สานต่อทุกโครงการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไม่มีปัญหา เร่งแก้จราจร คอขวดขึ้นลงทางด่วน และน้ำท่วมถนน ส่วนรถไฟฟ้า 10 สายเร่งตามแผน เผยมีเวลาน้อยแค่ 1 ปี แต่พร้อมทำงานเต็มที่
วันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 07.55 น. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ปลัดกระทรวงคมนาคมได้เดินทางเข้าทำงานเป็นวันแรก โดยเข้าสักการะพระพุทธคมนาคมบพิธ จากนั้นได้ให้นโยบายแก่หัวหน้าหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจของกระทรวงทันที โดย พล.ต.อ.วิเชียรเปิดเผยว่า นโยบายสำคัญคือการลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งเรื่องเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาจราจร เช่น การแก้ปัญหาคอขวดทางขึ้น-ลงทางด่วนและปัญหาน้ำท่วมถนน และเร่งสร้างโครงข่ายด้านคมนาคมซึ่งการสานต่อโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมนั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาและมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการทุกคนในการพัฒนาโครงการเพื่อประชาชน
พล.ต.อ.วิเชียรยืนยันว่า ไม่รู้สึกกดดันในการเข้ามาเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม และเข้ามาตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าเหมาะสมและสามารถประสานงานและเร่งรัดโครงการของรัฐบาลได้ ซึ่งจะทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่าพื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีและประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาจะช่วยให้สานต่อโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมได้ไม่มีปัญหา
“งานของกระทรวงคมนาคมไม่ต่างจากที่ผมเคยทำมามากนัก และกรรมการใน สมช. 5 คน มี รมว.คมนาคมเป็นหนึ่งในกรรมการด้วย ได้ประสานการทำงานกันมาตลอด และเคยทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ทั้งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมเจ้าท่า (จท.) และกรมทางหลวง (ทล.) จึงไม่หนักใจที่เป็นคนนอก แต่ยอมรับว่ามีเวลาทำงานเพียง 1 ปีค่อนข้างน้อยดังนั้น อาจจะต้องทำงานมากขึ้น เสาร์อาทิตย์อาจไม่พัก โดยกำหนดว่าจะพูดคุยแบบสภากาแฟกับหัวหน้าหน่วยงานทุกเช้าวันอังคารก่อนประชุม ครม. และจะพบปะกับผู้สื่อข่าวเพื่อจ้างถึงความคืบหน้าโครงการต่างๆ ทุกๆวันศุกร์” พล.ต.อ.วิเชียรกล่าว
สำหรับนโยบายหลักมีเป้าหมาย 2 ด้าน คือ 1. การพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อลดค่าใช้จ่ายของประเทศ ลดต้นทุนลอจิสติก์และแก้ปัญหาจราจรใน กทม. และเมืองหลักอย่างยั่งยืนเพื่อลดการใช้พลังงาน 2. พัฒนาระบบคมนาคมเพื่อสร้างรายได้ของประเทศ โดยต้องทำให้การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ มีความเชื่อมโยงกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
โดยขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวภายใต้นโยบายหลัก 9 ข้อ คือ 1. เร่งรัดการดำเนินงานทุกโครงการตามนโยบายรัฐบาย 2. เร่งรัดโครงการที่มีผลต่อการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง เร่งจัดหาหัวรถจัดและแคร่รถสินค้า และแก้ปัญหาคอขวดในการขนถ่ายตู้สินค้าที่สถานี ICD ลาดกระบัง
3. เร่งรัดโครงการแก้ปัญหาจราจรในกทม.และปริมณฑลเช่นรถไฟฟ้า 10 สาย พัฒนาสถานีร่วมเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า รถเมล์และเรือ ส่วนมาตรการระยะสั้นคือ บังคับใช้กฎหมายรณรงค์กวดขัดวินัยจราจรขยายพื้นที่แก้คอขวด จุดตัดทางแยกขึ้น-ลงทางด่วน และปรับปรุงการระบายน้ำของถนนไม่ให้เกิดการท่วมขัง 4. เร่งรัดโครงการเชื่อมโยงการขนส่งบก น้ำ อากาศ ( Connectivity) เช่น การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 พัฒนาท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล และเชื่อมโยงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังกับท่าเรือทวายของพม่า เชื่อมเส้นทางคมนาคมกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และพัฒนารถไฟความเร็วสูง ระยะแรก 3 เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์ และระบบรถไฟชานเมือง
5. ปรับปรุงและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นที่มีให้มีมาตรฐานความปลอดภัย 6. เร่งศึกษารายละเอียดและวิธีการดำเนินการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพื่อใช้ในการระดมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านถนน ราง น้ำ อากาศ โดยเร้งกำหนดโครงการนำร่องที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด 7. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรงวงคมนาคมเพื่อประสิทธิภาพและรูปธรรมในการทำงาน 8. บูรณาการการทำงานของหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน และ 9. เน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการบริหารงาน