xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” ชำแหละ “กสทช.” ประมูล “3จี” เป็นการจัดฉาก สร้างภาพแข่งขันเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ทีดีอาร์ไอ” ชำแหละ “กสทช.” ประมูล “3จี” ล้มเหลว ชี้ ปมสำคัญ “การออกแบบ” ไม่เหลือการแข่งขัน แถมมีการจัดฉาก สร้างภาพแข่งขันเทียม โดยผู้ชนะเสนอราคาสูง ทิ้งคู่แข่งโดยไม่จำเป็น เสนอราคาสูงขึ้นเองในบางสล็อต ทั้งที่ไม่มีคู่แข่งเลย เพื่อแข่งกับตนเอง ถือเป็นการแสดงเพื่อให้ประชาชนเห็นว่า การประมูลมีการแข่งขัน โดยครั้งนี้ กสทช. ทิ้งความเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกกับประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ขณะที่ผู้ประกอบการได้ "ลาภลอย"

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้เผยแพร่รายงานวิเคราะห์ การประมูล 3จี ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยใช้วิชา “เศรษฐศาสตร์ชันสูตร” (forensic economics) โดยพบว่า มีความผิดปกติในการเคาะราคาประมูล ซึ่งในการประมูลครั้งนี้ เอไอเอส เสนอราคาสูงสุด 14,625 ล้านบาท ส่วน ดีแทค และ ทรู เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต่ำในการประมูล ผลก็คือ ทำให้รัฐได้รายได้รวมทั้งสิ้นเพียง 41,625 ล้านบาท หรือสูงกว่าราคาตั้งต้นเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น และทำให้มูลค่าการประมูล 3จี ในประเทศไทยต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

นายสมเกียรติ ระบุว่า การประมูลล้มเหลว เพราะ กสทช.ออกแบบให้การประมูลแทบไม่เหลือการแข่งขันเลย จึงทำให้ผู้เข้าประมูลทุกรายมั่นใจได้ว่า จะได้คลื่น 3จี ไปตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องแข่งขันกันเสนอราคามาก แต่ เอไอเอส ประมูลสูงกว่ารายอื่นมาก น่าจะเพราะอยากได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อน โดยเลือกที่จะอยู่ติดกับย่านของ ทีโอที ซึ่งทำให้ทั้งสองรายสามารถนำเอาคลื่นของตนมารวมกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ในขณะที่ ดีแทค และ ทรู ไม่ได้สนใจที่จะเลือกย่านความถี่ไหนเป็นพิเศษ ทั้งสองรายจึงประมูลต่ำที่สุดเท่าที่ทำได้ คือ ที่ราคาตั้งต้น การที่ เอไอเอส เสนอราคาสูงกว่ารายอื่น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่ที่น่าแปลกใจ ก็คือ ราคาที่ เอไอเอส ประมูลนั้นสูงกว่ารายอื่นมากเกินความจำเป็น

หลักเบื้องต้นในการประมูล ก็คือ ในกรณีที่มีของชิ้นเดียว ผู้เสนอราคาสูงสุด จะได้รับของในการประมูลนั้นไป ส่วนในกรณีที่มีของหลายชิ้น เช่น ในการประมูล 3G ครั้งนี้ ผู้เสนอราคาสูงสุดจะได้สิทธิ์ในการเลือกของก่อน ในทั้งสองกรณี ราคาที่เสนอสูงสุดไม่จำเป็นต้องสูงมาก แค่ให้มากกว่าผู้ได้อันดับสองเล็กน้อย หรือในกรณีนี้เฉือนกันเพียง 225 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในการเคาะราคาเพิ่มแต่ละครั้ง ก็เพียงพอแล้ว

ส่วนเหตุใด เอไอเอส จึงเสนอราคาประมูลมากกว่า ดีแทค และ ทรู ถึง 1,125 ล้านบาท ทั้งที่เสนอสูงกว่าเพียง 225 ล้านบาท ก็ทำให้ได้เป็นผู้ชนะประมูลตามที่ต้องการแล้ว ทำไม AIS ต้องจ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็นถึง 900 ล้านบาท เมื่อวิเคราะห์ดูการเคาะราคาในการประมูล พบว่า ราคาการประมูลของ เอไอเอส ที่สูงขึ้นเกิดใน 2 กรณี คือ หนึ่ง เมื่อมีผู้ประกอบการรายอื่น เลือกสล็อตความถี่เดียวกันกับที่ เอไอเอส เลือก ก็พบว่า มีการแข่งราคากัน ทั้งที่แต่ละฝ่ายสามารถหลบไปหาสล็อตอื่นที่ว่างอยู่ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าสำหรับทั้งคู่ เพราะไม่ต้องเพิ่มราคาในการประมูล และ สอง เอไอเอส เสนอราคาสูงขึ้นเองในบางสล็อต ทั้งที่ไม่มีคู่แข่งเลย โดยการเสนอราคาสูงขึ้นเพื่อแข่งกับตนเองดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการประมูล ซึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่า ทำไปเพื่อให้มั่นใจว่าชนะรายอื่น เพราะหากจำเป็นต้องเสนอราคาสูงขึ้นเพื่อให้ตนเป็นผู้ประมูลสูงสุด ก็ยังสามารถทำในรอบท้ายๆ ได้

การกระทำของผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย โดยเฉพาะ เอไอเอส จึงเป็นเรื่องที่แปลก เพราะทำให้ต้องเสียเงินประมูลมากเกินความจำเป็น ซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของบริษัทเอง และเห็นว่า การยื่นราคาสูงเกินจำเป็นอาจเกิดขึ้นจากความพยายาม “จัดฉาก” ของบางฝ่าย เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า การประมูลมีการแข่งขัน ทั้งที่ในความเป็นจริง การประมูลนี้ไม่สามารถมีการแข่งขันจริงได้เลย เพราะถูกออกแบบไม่ให้มีการแข่งขันมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ดีแทค และ ทรู ต่างต้องการได้คลื่นความถี่ในราคาต่ำที่สุด โดยไม่สนใจที่จะได้สิทธิในการเลือกย่านความถี่ก่อนเลย การแข่งขันใดๆ ที่เกิดขึ้นจึงน่าจะเป็น “การแข่งขันเทียม” เพื่อสร้างภาพเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น