xs
xsm
sm
md
lg

ก.คลัง ร่อนหนังสือด่วน จี้ กสทช.ทบทวนประมูล 3จีฮั้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กวพ.อ.” ส่งหนังสือด่วนที่สุด ระบุ “กสทช.” ดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง ขัดระเบียบวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 4 วอนทบทวน เหตุรัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกสทช.อาจเข้าข่ายทำผิด กม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ต.ค. เมื่อเวลา 23:35 น. สำนักข่าวอิศรา แพร่ข่าวว่า คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ กค (กพวอ) 0421.3/42301 ลงวันที่ 18 ต.ค.2555 ถึงประธาน กสทช. อ้างถึงการประมูลไลเซ่นส์ 3 จีดังกล่าว ที่มีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 ช่วง (สลอต) ซึ่งกำหนดให้ผู้เข้าประมูล 1 ราย ต้องยื่นข้อเสนอ 3 สลอต ผลปรากฏว่า ได้ผู้ชนะการประมูลซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารรายใหญ่ๆ ในประเทศ 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทคเนคเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด โดยทั้ง 3 ราย ประมูลได้คลื่นความถี่ 3 สลอตเท่ากัน

คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในหลักการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ข้อ 4 กำหนดให้การจัดหาพัสดุของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ในสังกัดการบังคับบัญชาหรือการกำกับของฝ่ายบริหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวที่กิจการ โครงการ หรือการก่อสร้างมีมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ดำเนินการตามระเบียบนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจาก กวพ.อ.ให้จัดหาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยเจตนารมณ์ของระเบียบฯ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ถือปฏิบัติโดยทั่วไป ที่ต้องกำหนดเป็นการเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม

“กรณีสำนักงาน กสทช. ปรากฏว่า การดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2555 มีผู้ประมูล 3 ราย โดยมีการเสนอราคาเพิ่มขึ้นน้อยครั้งเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประมูล และคลื่นความถี่ที่ประมูลมีจำนวนพอดีกับผู้เสนอราคาที่สามารถจัดสรรได้รายละ 3 สลอต กรณีจึงถือได้ว่าการประมูลดังกล่าวไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของการประมูลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

“ประกอบกับผู้ชนะการประมูลจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น หากการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่กรณีนี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือมีอาจมีลักษณะการสมยอมราคาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) จะส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล และคณะกรรมการ กสทช.อาจอยู่ในข่ายต้องรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว จึงเรียบมาเพื่อโปรดพิจารณา” หนังสือดังกล่าวระบุ

ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าว ลงนามโดย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 18 ต.ค. 2555

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรายังได้เปิดเบื้องหลังความชุลมุนในการรับรองการประมูลไลเซนส์ 3จี ว่า นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.ได้กล่าวทักท้วงว่า การประมูลไลเซนส์ 3 จี มีเรื่องผิดปกติเพราะงานวิจัยที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นร่างแรกได้คำนวณมูลค่าคลื่นความถี่ 3 จีไว้ที่ 6,676 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ แต่เหตุใดเมื่อจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อ กสทช.จึงเหลือเพียง 6,440 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ นอกจากนี้ การคำนวณราคาขั้นต่ำของทั่วโลกจะต้องดูจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลด้วย ซึ่งตัวเลขขั้นต่ำที่ 67% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่จริงแล้วจะต้องมีผู้เข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 6 ราย ส่วนการประมูลไลเซนส์ 3 จีของ กสทช.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย ถ้าคำนวณจากมาตรฐานของประเทศอื่นๆ จะต้องใช้ตัวเลขขั้นต่ำที่ 82% ของมูลค่าคลื่นความถี่

“ผมอยากดูพฤติกรรมการเคาะราคาของแต่ละบริษัท เพราะสงสัยว่าเหตุใด 6 ใน 9 สลอต ถึงประมูลได้ในราคาตั้งต้น หากได้้เห็นก็เชื่อว่าจะได้รู้ยุทธศาสตร์ของผู้เข้าร่วมประมูล” นพ.ประวิทย์กล่าว

การทักท้วงของ นพ.ประวิทย์เรื่องการกำหนดราคาขั้นต่ำและวิธีการออกแบบการประมูลทำให้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค. กล่าวขึ้่นมาด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ที่ผ่านมามีกรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.บางคนไปให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทำให้องค์กรเสียหาย มีการลือกันว่ากรรมการ กสทช.ถึง 9 คนถูกซื้อตัว ตนเสียใจจริงๆ ที่ กสทช.ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งๆ ที่หากตั้งราคาขั้นต้นไลเซนส์ 3จีไว้สูงกว่า 4,500 ล้านบาท ก็อาจจะไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จนเกิดความเสียหายมากกว่านี้

หลังการทักท้วงไปมาระหว่าง นพ.ประวิทย์และนายสุทธิพล ทำให้ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช.และกรรมการ กทค.กล่าวผ่านไมโครโฟนด้วยน้ำเสียงไม่พอใจว่า ที่เดินทางมาร่วมประชุม กทค.ในวันนี้เพราะต้องการมาลงมติว่ารับรองหรือไม่รับรองการประมูลไลเซ่นส์ 3จีในวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ต้องการจะมาฟังการอภิปรายเพื่มเติมในเรื่องเดิมๆ อีก

การประชุม กทค.ยืดเยื้อไปกว่า 3 ชั่วโมง 30 นาที พ.อ.เศรษฐพงศ์จึงกล่าวขึ้นว่า “ในตอนนี้มี กทค.2 ท่านที่เดินออกจากห้องประชุมไปแล้ว ผมก็อยากจะเดินออกไปด้วย ถ้าไม่ติดว่าต้องเป็นประธานในที่ประชุม” ก่อนตัดบทให้ที่ประชุม กทค.ลงมติว่าจะรับรองผลการประมูลไลเซนส์ 3จีหรือไม่ทันที

นพ.ประวิทย์จึงแย้งขึ้นมาว่า อยากจะขอดูบันทึกการเคาะราคาเสียก่อนไม่เช่นนั้นจะสงวนการลงมติ การประชุม กทค.จึงหยุดไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ นพ.ประวิทย์ได้ดูเอกสารดังกล่าว และได้ลงมติไม่เห็นชอบ โดยให้เหตุผลว่าหลังจากดูพฤติกรรมการเคาะราคาของผู้เข้าร่วมการประมูล เห็นว่ามียุทธการการดึงราคาไว้อย่างชัดเจนจึงขอลงมติไม่เห็นชอบ

ต่อมา รศ.ประเสริฐกล่าวว่า “ที่บอกว่าวอล์กเอาต์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ผมแค่ไปนั่งพักนอกห้องประชุม เพราะเห็นว่าที่พูดกันเรื่องหลักเกณฑ์การประมูล ตอนนี้มันจบแล้ว มันเลยมาแล้ว กลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ควรจะเดินหน้าไปสู่การลงมติเสียที เพราะผมเองก็มีวุฒิภาวะเพียงพอจะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการประมูลไลเซนส์ 3จีดังกล่าว”
กำลังโหลดความคิดเห็น