ASTVผู้จัดการรายวัน-บอร์ด กทค. นัดประชุมด่วนวันนี้ รับรองผลประมูล 3 G มูลค่าสุดถูก "หมอลี่"ลั่นไม่ยอมรับผลประมูล เหตุไม่เชื่อมีการแข่งขันกันจริง และส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว "สุภิญญา"ลั่นหากไม่ประมูลใหม่ ก็ต้องมีหลักประกันให้ประชาชน "ยะใส"ยื่นศาลเพิ่มเติม เบรกรับรองผลประมูล ด้าน ป.ป.ช.รับลูก สอบฮั้ว สรุปล่าสุดมีคดี 3 จีถึง 6 คดี อยู่ในศาลปกครอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะเรียกประชุมบอร์ดกทค. วาระพิเศษ เพื่อรับรองผลการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ให้กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่ประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่านความถี่ หรือ 3 สล๊อต ในราคา 14,625 ล้านบาท บริษัทเรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ประมูล 3 ย่านคลื่นความถี่หรือ 3 สล๊อต ในราคา 13,500 ล้านบาทเท่ากัน
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการหารือถึงผลการประมูลใบอนุญาตดังกล่าวว่าควรจะนำเสนอเข้าสู่ประชุมบอร์ดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีพล.อ.ธเรศ ปุณศรี เป็นประธาน หรือไม่ เนื่องจากกรรมการ กสทช. บางคน เสนอว่าไม่จำเป็นต้องเสนอบอร์ด กสทช. อนุมัติอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอำนาจของบอร์ด กทค. อยู่แล้ว ขณะที่บอร์ดบางคนเสนอให้นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. อนุมัติอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ครบถ้วน เช่นเดียวกับการออกประกาศการประมูล 3G และกฎเกณฑ์อื่นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาภายหลัง
น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กทค.ที่จะมีขึ้นในวันนี้ ตนจะยังไม่รับรองผลการประมูล เนื่องจากไม่ได้รับรองประกาศการประมูลเมื่อครั้งก่อน ที่สำคัญราคาประมูล ก็ยังเป็นไปตามคาดการณ์ว่าจะไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะราคาประมูล ไม่มีการเคลื่อนไหวจากราคาเริ่มต้นที่ 4,500 ล้านบาท ถึง 6 ใบ
นอกจากนี้ ตนจะขอรายละเอียดของการเคาะราคาของการประมูลอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายการฮั้วราคาหรือว่าการออกแบบการประมูลที่ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งหากมีความไม่โปร่งใส่จริง ก็อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
รายงานข่าวจาก กสทช. ระบุว่า บอร์ด กทค. สามารถประชุมเพื่อมีมติรับรองผลหลังการประมูลวันที่ 16 ต.ค.สิ้นสุดได้ทันที แต่การประชุมไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีกรรมการคนใดกล้าลงมติรับรอง หลังจากราคาการประมูลไม่ขยับถึง 6 ใบ
***"สุภิญญา"เสนอ กสทช.ถกด่วน
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช. กล่าวว่า ได้เสนอให้นัดประชุมบอร์ด กสทช. ด่วน เพื่อหาทางแก้ปัญหา โดยเชื่อว่า ยังพอหาทางออกที่สังคมรับได้ โดยข้อเสนอแบบด่วนๆ คือ 1.ถ้า กสทช. ไม่รีบจัดประมูลใหม่ ก็ 2.เร่งออกประกาศกำหนดราคาค่าบริการใน 3 เดือนนี้ 3.จับ 3 รายมาทำสัญญาประชาคม เพราะตอนนี้รัฐเสียหาย แต่เอกชนได้มาก ส่วนผู้บริโภคยังไม่มีหลักประกันใดเลย ถ้า กสทช. แก้เรื่องรัฐเสียหายไม่ได้ ควรมาแก้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์แทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 16ต.ค. น.ส.สุภิญญา ทวิตข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว @supinya ข้อความว่า
“ขอถามทุกท่านว่า ในฐานะเสียงข้างน้อย ข้าพเจ้าควร (เสี่ยง) ร่วมรับรองผลการประมูลคลื่น 2.1 GHz เพื่อชาติไทยไหม ขอแบบตอบจริงใจนะคะ เรื่องนี้ถ้าใช้หลักการตัดสิน ง่ายมาก แต่พอมองถึงผลกระทบมันก็ลำบากใจ อย่างไรก็ตาม ทุกการตัดสินใจต้องไม่ขัดต่อมโนสำนึก (conscience) ของตนเอง สุดท้ายเสียงของคนทั้งโลกมันจะไม่ดังเท่าเสียงที่ก้องอยู่ในหัวใจ และท้องของเราเอง หลังการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าอาจจะไม่ต้องตัดสินใจเรื่องนี้ เพราะฟังข่าววิทยุ ท่านกสทช. เศรษฐพงศ์บอกว่าจะเอาเข้าบอร์ด กทค.(ด้านโทรคมนาคม) ให้ 5 ท่านรับรอง ดิฉันอยู่บอร์ดฝั่งกระจายเสียง (กสท.) ดังนั้น ถ้าเรื่องไม่เข้าบอร์ดใหญ่ ดิฉันก็ไม่ต้องลงมติใด ความรับผิดชอบอยู่ที่บอร์ด กทค.(เสียงส่วนใหญ่)”
** สุริยะใสยื่นฟ้องศาลเพิ่มเติม
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) กล่าวว่า วันนี้ (18 ต.ค.) จะเข้ายื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพิ่มเติม และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินกรณีที่ กทค. จะประชุมบอร์ดวันที่ 18 ต.ค. เพื่อลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาต 3 G ทั้งที่การประมูลมีข้อน่าสงสัยและไม่เกิดการแข่งขัน โดยจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาถึง 6 ใบ เนื่องจากราคาสุดท้ายยังคงเป็นราคาเริ่มต้นที่ใบละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลของ กสทช. เข้าข่ายพ.ร.บ.ฮั้ว
“ผลการประมูลที่เกิดขึ้นเลวร้ายกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะไม่ใช่การประมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ แต่เป็นการจัดสรรคลื่นให้เอกชนอย่างลงตัว ซึ่งขณะนี้กลายเป็นวาระของคนทั้งประเทศที่ตั้งคำถามเรื่องราคาต่ำกว่ามาตรฐาน และ กทค. ควรใส่ใจสังคมบ้าง”นายสุริยะใสกล่าว
นอกจากการยื่นคำฟ้องเพิ่มเติมแล้ว ยังจะใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญทุกช่องทางเพื่อตรวจสอบการประมูลครั้งนี้ ทั้งการเข้ายื่นให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อดำเนินการตรวจสอบการกระทำของกสทช.ในครั้งนี้ด้วย
**ป.ป.ช.รับลูกใช้กฎหมายสอบฮั้ว
ที่สำนักงาน ป.ป.ช. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลคลื่นโทรศัพท์ระบบ 3 จี เข้าข่ายฮั้วประมูลนั้น จะต้องไปดูกฎหมายว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐ หรือพ.ร.บ.ฮั้วประมูล มาตรา 4-9 และมาตรา 10-13 ซึ่งหากเข้าข่ายก็เป็นอำนาจของป.ป.ช.ที่จะรับไว้ดำเนินการสอบสวน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดยื่นเรื่องให้กรรมการป.ป.ช.สอบสวนในเรื่องดังกล่าว หรือหากป.ป.ช.เห็นว่าเข้าข่ายความผิดก็สามารถตั้งเรื่องสอบสวนเองได้
**บี้ค่ายมือถือคายเงิน 1.6 หมื่นล้าน
ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา และรมว.ไอซีที เงา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังการประชุมครม.เงาว่า ที่ประชุมครม.เงา ได้หารือถึงการประมูลคลื่น 3จี โดยตั้งข้อสังเกต 3ประเด็น คือ 1.ตั้งราคาประมูลต่ำไป 2.ไม่มีการแข่งขันกับบริษัทผู้เข้าประมูล และ3.เหตุใดจึงไม่กำหนดการประมูลให้เป็นช่วงเวลา จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. ชี้แจงกับสังคมว่าจะมีมาตรการอย่างไร ที่จะเอาส่วนต่างที่รัฐเสียประโยชน์ 1.6หมื่นล้านบาท จ่ายกลับคืนสู่ประชาชน ในรูปแบบการให้บริการ และพรรคจะให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร สอบถามไปยังกสทช.ว่าจะทำอย่างไรให้เงินที่รัฐเสียหายไปอยู่กับประชาชน แทนที่จะกลายเป็นกำไรของบริษัทโทรศัพท์มือถือ
** “มาร์ค”จี้ กสทช.แจงผลประมูล3จี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กสทช.ต้องชี้แจงว่า ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากตรงนี้อย่างไร เชื่อว่าประชาชนคาดหวังและรอคอย อยากเห็นเป็นรูปธรรมว่ามีหลักประกันอะไรเรื่องคุณภาพการบริการ มีหลักประกันในเรื่องค่าบริการที่จะไม่สูงเกินไป
**สตง.ขอเวลาพิจารณาฮั้วหรือไม่
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะตัวแทนสตง. ที่เป็นตัวแทนสังเกตการณ์การประมูลใบอนุญาต3 G กล่าวในรายการ "เจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์" ถึงเรื่องการฮั้วประมูลว่า หากสมยอมในการประมูลเป็นหน้าที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ส่วน สตง.จะดูว่า กรณีนี้เป็นการรักษาประโยชน์ต่อประเทศที่พอสมควรหรือไม่ สิ่งยืนยันความถูกผิดในการประมูลครั้งนี้ ควรลงลึกรายละเอียดและเปรียบเทียบศึกษาด้วย เพราะการล้มประมูลครั้งที่แล้ว ไม่มีสิ่งเปรียบเทียบต่อการประมูลครั้งนี้
**เผยมีฟ้องคดี 3 จีรวม 6 คดี
วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักประชาสัมพันธ์ ศาลปกครองกลาง แจ้งว่า การฟ้องคดีประมูล 3 จี มีผู้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์ระบบ 3จี คลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต จำนวนทั้งสิ้น 6 คดี ได้แก่ 1.คดีหมายเลขดำที่ 2635/2555 ของนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระ ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งยกฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบไปแล้ว ก่อนหน้านี้ 2.คดีหมายเลขดำที่ 2644/2555 ของสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวก 3.คดีหมายเลขดำที่ 2656/2555 ของพล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ 4.คดีหมายเลขดำที่ 26632555 ของนายสุริยะใส กตะศิลากับพวก 5.คดีหมายเลขดำที่ 2665/2555 ของนายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข และ 6.คดีหมายเลขดำที่ 2670/2555 ของนายพงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอทีกับพวก ยื่นฟ้อง ซึ่งปรากฎว่าขณะนี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งในคดีที่สมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวก และคดีที่พล.ร.อ.ชัย ฟ้องออกมาแล้วโดยอยู่ระหว่างการจัดส่งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีและคู่กรณีทราบทางไปรษณีย์ คาดว่าภายหลังผู้ฟ้องคดีได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการ ก็จะสามารถเผยแพร่ต่อสาธารณะได้ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 26632555 ของนายสุริยะใส กตะศิลากับพวก คดีหมายเลขดำที่ 2665/2555 ของนายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข และคดีหมายเลขดำที่ 2670/2555 ของนายนราพล ปลายเนตร พนักงาน บมจ.ทีโอทีกับพวก ยังอยู่ในระหว่างการตรวจคำฟ้องของคณะตุลาการเจ้าของคดี