ผ่าประเด็นร้อน
ยืนยันมาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ว่ายังคงเดินหน้าจัดการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล IMT ย่าน ๒.๑ Ghz หรือการประมูล 3 จี ในวันอังคารที่ 16 ตุลาคมนี้ตามปกติ
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ออกมาจากทางศาลปกครองว่าจะมีการออกคำสั่งใดๆ ออกมา ก่อนหรือหลังวันที่ 16 ตุลาคม กับคำฟ้องที่มีกลุ่มผู้ร้อง คือนักวิชาการอิสระ นายอนุภาพ ถิรลาภ รวมถึงตัวแทนจากสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ที่ได้ไปยื่นต่อศาลปกครองเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในส่วนคำฟ้องของนายอนุภาพ ฟ้องว่า ข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ยังมิได้แสดงให้เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการประมูล ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 47 ที่บัญญัติว่า
“คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น”
คำฟ้องยังระบุด้วยว่า หลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดออกมาในการประมูลตามหลักแล้วต้องกำหนดพื้นที่และระยะเวลาที่ประชาชนจะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน แต่ กสทช. กำหนดเพียง 80 % ใน 4 ปี จึงเป็นการกำหนดคุณภาพในการให้บริการที่ไม่ได้เป็นตามมาตรฐาน รวมทั้งไม่ได้กำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการอาจถูกเรียกเก็บในราคาแพง
ผู้ฟ้องจึงขอฟ้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ กสทช.ยุติการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลดังกล่าวไว้ก่อน จนกว่าจะได้ทำประกาศ ระเบียบ หรือมติใดตามกฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ตามรธน.2550 มาตรา 47
ขณะที่การฟ้องของสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค ฟ้องในประเด็นที่เห็นว่า บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด หนึ่งในผู้เข้าประมูล 3 จี ที่มี นายจอน ทราวิส เอ็ดดี้ หรือ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นคนต่างด้าว เป็นกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท จึงมีลักษณะเป็นการมีอำนาจควบคุม หรือมีอิทธิพลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการกำหนดทิศทางการบริหารได้
ดังนั้น จึงขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน และกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว โดยต้องการให้ศาลมีคำสั่งห้ามเปิดการประมูล 3 จี ที่ กสทช. จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.
อย่างไรก็ตาม คำฟ้องที่หลายคนจับตามุ่งไปที่คำฟ้องของนายอนุภาพเป็นหลัก เนื่องจากได้ยกเรื่องบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและการออกหลักเกณฑ์การประมูลที่ไม่เป็นธรรม ประชาชนส่วนรวมไม่ได้ประโยชน์จึงทำให้คนมองว่าเป็นประเด็นใหญ่กว่า
การยื่นฟ้องของนายอนุภาพ เจ้าตัวบอกไว้แล้วว่า ไม่มีเจตนาล้มการประมูลคลื่น 3 จี เพียงอยากให้ กสทช. เพิ่มกฎเกณฑ์การประมูลตามที่ได้เรียกร้องไป หากกสทช. จะทำก็ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันในการแก้ไข จึงน่าจะเสร็จทันก่อนเริ่มประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้
ทางศาลปกครองได้เรียกคู่ความ ทั้งผู้ฟ้องและตัวแทนจากกสทช. คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ที่เป็นมือกฎหมายคนสำคัญของกสทช.ในฐานะอดีตคนในแวดวงตุลาการและอดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาให้ข้อมูลกับศาลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมาโดยใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง
ที่ฮือฮาพอควรก็คือ คำให้สัมภาษณ์ของสุทธิพล ทวีชัยการ ที่บอกว่า เมื่อศาลยังไม่มีคำสั่งใดๆ ก็จะเดินหน้าประมูลตามกำหนด 16 ต.ค. จนกว่าศาลมีคำสั่งออกมา แต่หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศกว่าวันละ 210 ล้านบาท และหากต้องใช้เวลาดำเนินการอีก 1 ปี ก็จะสูญเสียกว่า 76,950 ล้านบาท
คำฟ้องคดีนี้ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องพากันลุ้นหนัก ทั้งบริษัทเอกชนที่เข้าประมูล -กสทช.-ผู้ฟ้อง รวมถึงประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ ที่สนใจติดตามเรื่องการประมูล 3 จี ว่าศาลปกครองจะรับคำฟ้องหรือไม่รับ และศาลปกครองจะมีคำสั่งใดๆ ออกมาหรือไม่ จะคุ้มครองฉุกเฉินจนทำให้การประมูลในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เลื่อนออกไปหรือไม่
แต่เมื่อรอกันถึงช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม ก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา ทำให้ฝ่าย กสทช. ก็ต้องเตรียมการประมูล 3 จีในวันที่ 16 ตุลาคม ต่อไป หลังกสทช.โดย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้สรุปผลการพิจารณาเอกสารผู้เข้ามาขอยื่นเอกสารการประมูลไปแล้ว
โดยพบว่าผู้ยื่นประมูลทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด-บริษัทในเครือ เอไอเอส, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด-บริษัทในเครือ ดีแทค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์- บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ผ่านคุณสมบัติการตรวจสอบเอกสารตามที่สำนักงานกสทช. กำหนดและย้ำว่าการประมูลครั้งนี้กฎเกณฑ์ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะได้ให้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เข้ามาตรวจสอบหลักเกณฑ์แล้ว
สำหรับการประมูลวันที่16 ต.ค.นี้ คลื่นความถี่จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ จะแบ่งออกเป็น 9 สล็อต ผู้ประมูลรายใดเสนอราคาสูงสุดก็มีโอกาสเลือกคลื่นความถี่ก่อน โดยราคาเริ่มต้นประมูลขั้นต่ำจะอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท/สล็อต อันเป็นราคาที่กสทช. บอกว่าหากผลประมูลได้ตามราคาเริ่มต้น 4,500 ล้านบาท/สล็อต ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในการจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว และหลังจากเสร็จสิ้นการประมูล 3 จี ก็น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่ประชาชนตามเมืองใหญ่จะได้ใช้บริการ 3 จี และจะมีบริการครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 4 ปี
การประมูลวันที่ 16 ตุลาคมนี้ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือจะต้องเลื่อนออกไปก่อน ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป โดยเฉพาะในวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งใดๆ ออกมาหรือไม่ อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ก็ต้องลองติดตามกัน
ลำดับแรกก็คงต้องลุ้นกันว่า ศาลจะรับหรือไม่รับคำฟ้อง เพราะศาลก็ต้องดูว่า ผู้ยื่นฟ้องยื่นฟ้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประมูลครั้งนี้หรือไม่ อันเป็นการพิจารณาตามหลักทั่วไปตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ถ้าศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง เหตุเพราะผู้ฟ้องไม่มีสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้เสียหาย การประมูล 3 จี ก็ฉลุย
สิ่งสำคัญคือ เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ และเคารพการพิจารณาคดีของศาล เนื่องจากศาลปกครองได้พิจารณาทุกอย่างแบบเที่ยงธรรม ยึดมั่นในตัวบทกฎหมาย
และดำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนที่จะเกิดขึ้นจากการประมูลโครงการ 3 จี