xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” นำทีมฟ้องศาล ปค.ขอคุ้มครองชั่วคราวระงับประมูล 3 จี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา (แฟ้มภาพ)
“สุริยะใส” พร้อมองค์กรภาคประชาชนฟ้องศาลปกครองกลางขอคุ้มครองชั่วคราวการเปิดประมูลไลเซนส์ 3 จี ยันไม่ได้ต้องการล้มประมูล แต่เห็นว่าการดำเนินการของ กสทช. ส่อผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ทำให้รัฐเสียหาย
แสดง FLASH VIDEO (ขนาดใหญ่จอ 550 pixel)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (15 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาชนกว่า 10 องค์กร อดีตสหภาพ บมจ.ทีโอที และตัวแทนภาคประชาชน และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีการเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือไลเซนส์ 3 จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นไปโดยไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยการประมูลเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2552 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และขอให้ปรับราคาเป็น 6,440 ล้านบาท

นายสุริยะใสกล่าวว่า สิ่งที่ กสทช.ควรดำเนินการในขณะนี้ คือ เลื่อนการประมูลในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ออกไปก่อน เพราะถ้าเดินหน้าในเวลาดังกล่าวจะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทางลบมากกว่าบวก

โดยประเด็นที่ยื่นฟ้องมี 2 ข้อ คือ 1. กสทช.ควรกลับไปใช้สูตรการประมูลเดิมคือ N-1 เพราะจะได้ให้เหลือผู้แข่งขัน 2 รายแย่งใบอนุญาตอย่างเต็มที่ ไม่นับราคาประมูลซึ่งถ้ามีการแข่งขันกันจริงๆ จะทำให้ตัวเลขรายได้ขยับไปเกือบ 2 แสนล้านบาท ดูได้จากสูตรการประมูล N-1 นั้นมีการคาดการณ์กันของนักเศรษฐศาสตร์ว่าใบอนุญาตแต่ละใบราคาประมูลอาจสูงถึง 6-8.5 หมื่นล้านบาทแค่ 2 ใบ ก็เกือบ 1.5 แสนล้านบาทแล้ว

2. ราคาเริ่มต้น รอบนี้มาคิดสูตรกันใหม่ลดราคาตั้งต้นจาก 6,440 ล้านบาท เหลือ 4,500ล้านบาท แบ่งเป็น 9 ใบรวมกันก็จะตกราวๆ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น คำถามคือรายได้ที่ควรจะได้แสนกว่าล้านบาทหายไปได้อย่างไร

“ไม่ได้ต้องการล้มการประมูล 3G แต่ต้องการให้การประมูลป้องกันการฮั้ว และสามารถนำรายได้จากการประมูลเข้ารัฐอย่างที่ควรจะได้ เพราะเกณฑ์การประมูลที่จะใช้กันในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม จากทีดีอาร์ไอและนักฎหมายหลายส่วนเห็นตรงกันว่าจะทำให้เกิดการฮั้วไม่มีการแข่งขันจริง ที่สำคัญทำให้รัฐเสียรายได้เฉพาะราคาตั้งต้นก็สูญไปกว่า 1.7หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ มั่นใจว่าการเลื่อนประมูลไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศตามที่ กสทช.ระบุ เพราะการปรับหลักเกณฑ์ใช้เวลาไม่นานมาก และ กสทช.ได้เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว เมื่อหลักเกณฑ์รูปแบบใหม่เสร็จก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันที และตนไม่มีเป้าหมายเพื่อล้มการประมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นฟ้องศาลปกครองก่อนจะเกิดการประมูลในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ มีทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ยื่นฟ้องว่าการจัดประมูลขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 47 ที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน เช่นเดียวกับสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม กรณี บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค เป็นต่างด้าว แต่ กสทช.ให้ผ่านเข้ารอบการประมูล จึงขอให้ศาลคุ้มครองและตรวจสอบสถานะก่อน

ขณะที่ นายพิราม เกษมพงษ์ อดีตสหภาพแรงงานวิสาหกิจทีโอที ยื่นฟ้องกรณีที่ผู้ให้บริการรายเดิมยังไม่ได้โอนทรัพย์สินให้กับทีโอทีตามสัญญา สร้าง โอน ให้บริการ และนายบุญชัย รุ่งเรืองพิศาลสุข ตัวแทนผู้บริโภคยื่นฟ้องเรียกร้องให้กำหนดค่าบริการเหมาจ่าย 3 จี ในอัตรา 250 บาทต่อเดือน

กำลังโหลดความคิดเห็น