ตัวแทนภาครัฐและเอกชนจัดงานรำลึก 14 ตุลา รมต.สำนักนายกฯ เป็น ปธ.วางพวงมาลาในฐานะตัวแทน รบ. พร้อมกล่าวสดุดี ขอปชช.สืบเจตนารมณ์ ลั่นทำ รธน.ฉบับใหม่ให้เป็น ปชต. อ้างฉบับปัจจุบันมาจากเผด็จการกระทบต่างชาติลงทุน และพร้อมถกหาทางออก พ.ร.บ.ปรองดอง แนะปล่อยวางเรื่องอำนาจ “ปริญญา” ชี้ต้องยึด ปชต. วอนให้เล่นอยู่กฏ ไม่ควรรัฐประหาร ส่วนญาติวีรชนขอบคุณ “ปู” ช่วยเงินดำรงชีพ
แสดง FLASH VIDEO (ขนาดใหญ่จอ 550 pixel)
วันนี้ (14 ต.ค.) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลาคม 2516 พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะผู้แทนประธานรัฐสภา และผู้แทนผู้นำฝ่ายค้าน รวมถึงผู้แทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนผู้แทนฝ่ายประชาธิปไตยและแรงงาน ผู้แทนชาวบ้านนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้แทนเยาวชน นิสิต นักศึกษา ร่วมกันจัดงาน รำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2555 ซึ่งปีนี้ครบรอบ 39 ปี โดยเริ่มจากพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 14 รูป พิธีทางศาสนา 3 ศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในขณะที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ก็ได้เป็นประธานในการวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีเหตุการณ์ 14 ตุลาว่า ที่บริเวณนี้เมื่อ 39 ปีที่แล้วเป็นสถานที่ที่วีรชนจำนวนมากต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากอำนาจเผด็จการอย่างไม่หวั่นเกรงถึงชีวิต จนในที่สุดสามารถเรียกร้องประชาธิปไตยกลับมาได้อย่างน่าชื่นชม ขณะที่กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้เราต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบอบประชาธิปไตย และควรหาวิธีการว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำหนดนโยบายเพื่อธำรงความยุติธรรมในบ้านเมือง ทั้งนี้ ควรร่วมกันสืบสานเจตนาอันแน่วแน่ในการนำประชาธิปไตยถ่ายทอดสู่ประชาชนให้ยืนยงสืบไป
นายวรวัจน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะมุ่งมั่นหลักการประชาธิปไตย และป้องกันเพื่อไม่มีอำนาจครอบงำใดๆ ตลอดจนได้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านตัวเงินและจิตใจ พร้อมยืนยันว่า ก้าวต่อไปรัฐบาลจะทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ส่วนความกังวลถึงความขัดแย้งก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวรวัจน์ระบุว่า คนไทยทุกคนควรตระหนักว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากอำนาจเผด็จการ ส่งผลกระทบต่อสายตาสังคมโลกที่ไม่มีความไว้วางใจในประเทศไทย จนทำให้สูญเสียโอกาสด้านการลงทุนและด้านอื่นๆ ดังนั้น จึงเรียกร้องขอโอกาสให้ประเทศไทยได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตย โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยต้องการให้ทุกคนปล่อยวางในอำนาจและผลประโยชน์ แต่ควรหาวิธีเดินหน้าไปด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินั้น นายวรวัจน์ กล่าวว่า ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะผลักดันเช่นเดียวกัน แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าว แล้วหันมาช่วยกันหากรอบแนวคิด และวิธีการในการสร้างความปรองดอง เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้
ขณะที่ผู้แทนญาติวีรชน 14 ตุลากล่าวว่า พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ขอยึดมั่นในอุดมการณ์ของวีรชนไม่เปลี่ยนแปลง ที่ต่างต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว ยอมเสียสละทั้งชีวิต และทรัพย์สิน เพื่อแลกกับการได้มาซึ่งประชาธิปไตย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า 39 ปีเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ ที่ถือเป็นบทเรียนล้ำค่า ควรแก่การจดจำ และไม่ควรให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก
ทั้งนี้ ตัวแทนญาติวีรชนได้กล่าวทิ้งท้ายขอบคุณรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้เงินค่าดำรงชีพรายเดือน รวมถึงค่าจัดทำศพเหล่าวีรชนด้วย
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อรำลึกเหตุการณ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืน แต่ที่ผ่านมาประชาชนไม่เคยเรียนรู้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ หวนกลับคืนมาจนเกิดความสูญเสียไม่จบสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าประเทศไทยต้องมีการพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ให้มากขึ้น โดยตระหนักถึงความเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อีกทั้งควรหาวิธีว่าควรเดินหน้าต่อไปอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก แม้ว่าขณะนี้ประเทศชาติจะอยู่บนความขัดแย้ง แต่ทว่ามองในแง่ดีของความขัดแย้งก็มีข้อดี คือทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว จนทำให้ความแตกต่างกลายเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าหลักการที่ถูกต้องที่สุดในการปกครองประเทศคือ ประเทศต้องยึดหลักประชาธิปไตย โดยมองว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยเปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ที่นักฟุตบอลต้องเล่นเกมสภายใต้กฎกติกา ขณะเดียวกัน บุคคลที่คิดต่างกันในสังคม หากอยู่ภายใต้กรอบกติกา ปัญหาหรือความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศชาติไม่ควรสนับสนุนวิธีการที่ไม่ถูกต้องอีก ทั้งการทำรัฐประหาร หรือการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เนื่องจากเชื่อว่าเราต่างมีบทเรียนทางการเมืองที่มากพอ จึงไม่อยากให้เกิดความรุนแรงจนนำไปสู่ความสูญเสียขึ้นอีก แต่ควรเรียนรู้ร่วมกันและเดินหน้าฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้