xs
xsm
sm
md
lg

สุริยะใสจี้"3จี"ต้องโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

" สุริยะใส " ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกรณีประมูล 3G วันนี้ ยันไม่ต้องการล้มประมูล แต่เพื่อป้องกันการฮั้วที่จะทำให้รัฐเสียรายได้ หากใช้เกณฑ์การประมูลตามที่กสทช.คิดขึ้นมาใหม่ เชื่อหากกลับไปใช้สูตรเดิมจะไม่ทำให้ล่าช้าแต่อย่างใด

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงการจะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีการประมูล3G ในวันนี้(15ต.ค.) ว่า ไม่ได้ต้องการล้มการประมูล 3G แต่ต้องการให้การประมูลป้องกันการฮั้ว และสามารถนำรายได้จากการประมูลเข้ารัฐอย่างที่ควรจะได้ เพราะเกณฑ์การประมูลที่จะใช้กันในวันที่ 16 ต.ค.นี้ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม จากทีดีอาร์ไอ และนักฎหมายหลายส่วนเห็นตรงกันว่า จะทำให้เกิดการฮั้วไม่มีการแข่งขันจริง ที่สำคัญทำให้รัฐเสียรายได้เฉพาะราคาตั้งต้นก็สูญไปกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทแล้ว

ทั้งนี้ ไม่นับราคาประมูลซึ่งถ้ามีการแข่งขันกันจริงๆ จะทำให้ตัวเลขรายได้ขยับไปเกือบ 2 แสนล้านบาท ดูได้จากสูตรการประมูลอันเก่าก่อนหน้านี้ ที่เรียกว่า สูตร N-1 นั้น มีการคาดการณ์กันของนักเศรษฐศาสตร์ว่า ใบอนุญาตแต่ละใบราคาประมูลอาจสูงถึง 6-8.5 หมื่นล้านบาท แค่ 2 ใบก็เกือบ 1.5 แสนล้านบาทแล้ว

แต่รอบนี้มาคิดสูตรกันใหม่ ลดราคาตั้งต้นจาก 6,444 ล้านบาท เหลือ 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็น 9 ใบ รวมกันก็จะตกราวๆ 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น คำถามคือ รายได้ที่ควรจะได้แสนกว่าล้านบาทหายไปได้อย่างไร จริงๆ แล้ว กสทช. ควรเอาเกณฑ์การประมูล N-1 มาใช้ จะทำให้รัฐจะได้ประโยชน์มากกว่า

การล้มการประมูลครั้งที่แล้ว ศาลไม่ได้บอกว่าสูตร N-1 เป็นปัญหาอะไร เพราะศาลชี้แค่ประเด็นอำนาจในการประมูล ควรเป็นของ กทช.องค์กรเดิมหรือ กสทช.องค์กรใหม่เท่านั้น ฉะนั้นเกณฑ์การประมูลก็ยังสามารถนำมาใช้ได้อีก แต่มาคิดสูตรกันใหม่ จึงเกิดปัญหามีหลายฝ่ายฟ้องร้องไปที่ศาลแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะล่าช้าเป็นปีเหมือนครั้งที่แล้วนั้น ไม่จริง และเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนั้นที่ช้า เพราะยังไม่มี กสทช. ต้องสรรหากันเกือบปี แต่ตอนนี้มี กสทช.แล้ว และกสทช. ก็มีอำนาจสั่งพัก หยุด หรือเลื่อนประมูลได้ ถ้ามีเหตุจำเป็น ตามประกาศหลักเกณฑ์วิธีการประมูลในภาคผนวก ข้อที่ 5 ให้อำนาจ กสทช.ไว้ชัดเจน ซึ่งสามารถแก้เกณฑ์การประมูลได้ภายในวันเดียว ก็ย่อมทำได้ ไม่ได้ล่าช้า หรือเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี อย่างที่พยายามบิดเบือนกัน

นายสุริยะใส ยืนยันว่า ไม่มีใครขัดขวาง 3G ทุกคนก็อยากมีอยากได้ แต่ต้องโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศจริงๆ อย่าให้ทัศนคติแบบนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐโกงได้ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ มาครอบงำกรณี 3G จนสังคมละเลยการตรวจสอบ จะเสียหายในระยะยาว
ทั้งนี้ เวลา 9.00 น.วันนี้ (15ต.ค.) ตนและตัวแทนอีกหลายองค์กร จะไปยื่นฟ้องที่ศาลปกครอง

**อัดกสทช.ตั้งกติกาเอื้อเอกชน

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์. ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ ขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ว่า คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภา35 ที่ต้องการให้ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ กสทช. ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย และ กสทช. มีหน้าที่ กำกับดูแล ให้ผลประโยชน์ของการใช้คลื่นความถี่ตกแก่ประชาชน เท่านั้น กสทช. ไม่ได้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ ที่จะให้เอกชนประมูลแต่อย่างใด

ดังนั้น กสทช. จะต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า การประมูลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ทำไมมีการกล่าวหาว่า กสทช. ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์จากรายได้จากการประมูล ที่น้อยลงจากกรอบเดิมที่เคยกำหนดไว้

ทั้งนี้ จากการที่ กสทช. ได้ถูกประชาชนหลายภาคส่วน ออกมาท้วงติงและแสดงความห่วงใย ว่าการประมูลครั้งนี้ กสทช. ออกหลักเกณฑ์การประมูลที่อาจเอื้อให้เกิดการฮั้วกันของเอกชน และไม่เกิดการแข่งขันกันจริงๆโดยเฉพาะ การไปกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่ 4,500 ล้าน ต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยกำหนดราคาต่ำไปจากเดิมที่ กสทช. กำหนดไว้ที่ 6,440 ล้านบาท และเปลี่ยนรูปแบบโดยการปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอกชนประมูลได้รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เท่ากัน อาจทำให้เอกชนทั้ง 3 ราย สามารถได้รับการประมูลโดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันประมูลแต่อย่างใดในทางปฏิบัติ ซึ่งขัดกับหลักการประมูลที่แท้จริง เพราะเท่ากับว่าการประมูลไม่ได้เกิดขึ้นจริง

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 จึงขอเรียกร้องให้ กสทช. รีบแก้ไขให้เกิดการประมูลที่แท้จริงตามหลักเกณฑ์เดิมที่ให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่โดยเร็ว เพื่อประโยชน์จะได้เกิดแก่ประชาชน
"ผมรู้สึกเสียใจ ที่ กสทช. เอาทรัพย์ของประชาชนที่มอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลไปมอบให้เอกชนในราคาต่ำ ยังช่มขู่เจ้าของทรัพย์ว่าจะฟ้องร้องอีก กสทช. ควรตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง และพร้อมแก่การตรวจสอบจากประชาชนในทุกกรณี" นายอดุลย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น