xs
xsm
sm
md
lg

ญาติวีรชน’35จี้สภาฯ ถอนพ.ร.บ.ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 ก.ค.) นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง อันเกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังต่างๆทางสังคม ต่อการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งคณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่า อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกหักการปะทะกันระหว่างประชาชน อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียทางสังคมได้
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 จึงขอแถลงท่าที และข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
1. ขอชื่นชมนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องจากทุกฝ่าย ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีผลพวงมาจากเหตุการณ์พฤษภา 35 และเป็นประธานคณะกรรมการอิสระ เพื่อติดตามผู้สูญหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 35 ที่ได้ถอนตัวจากการเป็นพยานในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
2. ขณะที่สถานการณ์การเมืองที่วุ่นวายมากในขณะนี้ ทั้งจากกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ความขัดแย้ง และความรุนแรงทางการเมืองในปี 53 ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุด ขอให้ประธานรัฐสภา ชะลอการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดองแห่งชาติออกไปก่อน เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองลง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และทุกฝ่ายให้มีส่วนร่วมโดยแท้จริง
3. ขอให้กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ใช้สติในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเราเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 สามารถกระทำได้ ทั้งโดยหลักพื้นฐานการพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ และหลักการแก้ไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“นักการเมือง คณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง สภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภา จะต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนอย่างชัดแจ้ง ตรงไปตรงมา ว่าบทบัญญัติมาตราไหน ส่วนไหนของรัฐธรรมนูญ ที่เป็นปัญหา เพราะเหตุใด และจะแก้ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างไร โดยจะต้องปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งการแสดงความเห็น และลงประชามิติในประเด็นต่างๆ ที่ต้องการแก้ไข ไม่ใช่หมกเม็ด ไม่ให้ประชานรับรู้ หรือใช้เป็นเงื่อนไขไปสู่สถานการณ์การแย่งชิงอำนาจ โดยเอาประชาชนแต่ละฝ่ายมาปะทะห้ำหั่นกัน”
การทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว ก็ต้องยึดโยงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับปี 40 และฉบับปัจจุบัน ดำรงไว้ซึ่งการสร้างความเชื่อถือศรัทธา ในการทำหน้าที่ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ต่อประชาชน เพื่อให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลตามหลักการแยกอำนาจเป็นที่พึงของประชาชนได้
ท้ายที่สุด คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 ใคร่ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายคำถึงประโยชน์ของประเทศ และความผาสุกปกติของประชาชนในชาติ หยุดสร้างเงื่อนไขที่นำไปสู่ความรุนแรง และความบอบช้ำให้กับสังคมไทย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสรุปบทเรียนความผิดพลาด และบาดแผลความเจ็บปวดจากการสูญเสียทางเมืองในทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างหลักประกันที่สำคัญมั่นคงว่า เราจะไม่เดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่รังจะก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชัง อันไม่เป็นความพึงประสงค์ของทุกฝ่ายในบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น