xs
xsm
sm
md
lg

อย่ายอมตายเพื่อนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ความจริงห้วงเวลานี้เราควรจะร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่คนไทยลุกขึ้นมาขับไล่เผด็จการทหารด้วยสามัญสำนึกปกติ มิได้ลุกตื่นขึ้นมาเพื่อทวงอำนาจโดยมีนักการเมืองหนุนหลังแบบพฤษภา 53 และค่ายผู้จัดการก็ได้พิสูจน์ตัวตนมาแล้วในการยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการในครั้งนั้น

แต่ความตั้งใจพูดถึงพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดก็คงเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์พฤษภา 35 ได้อยู่ดี

เหตุการณ์พฤษภา 35 นั้นเราคงได้เห็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์อยู่บนเวทีร่วมกับตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ แล้วค่อยๆ หายไปจากเวทีเมื่อทหารเริ่มใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน จากนั้นหวนกลับมาใช้พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นเหยื่อวาทะ “จำลองพาคนไปตาย” เพื่อไต่บันไดการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ

ประชาธิปัตย์กลับมามีอำนาจทางการเมืองในครั้งนั้น และจบลงด้วยการทุจริต สปก.4-01 วันนี้นักการเมืองเหล่านั้นยังคงลอยนวลเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น

สมการการเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปไหน จากพรรคหนึ่งสู่พรรคหนึ่ง และพัฒนามาจนเกิดทฤษฎีสองขั้วอำนาจในปัจจุบันระหว่างฝ่ายทักษิณกับฝ่ายประชาธิปัตย์ และมีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต

ความจริงแล้วปรากฏการณ์เป็นฝ่ายค้านอมตะนิรันดร์กาลของพรรคประชาธิปัตย์นั้น น่าจะเกิดตั้งแต่ทักษิณนำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแล้ว เพียงแต่ทักษิณใช้อำนาจอย่างเหิมเกริมก็ก่อเกิดภาคประชาชนในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นมาต่อกรกับอำนาจของระบอบทักษิณ นี่ต่างหากที่ทำให้ประชาธิปัตย์สามารถหวนคืนสู่อำนาจได้ระยะหนึ่ง และทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สานความฝันในวัยเยาว์ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้

ห้วงเวลานี้เมื่อฝ่ายทักษิณกลับมามีอำนาจ มีคนพูดกันหนาหูว่า พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ควรจะจับมือกันเพื่อต่อกรกับระบอบทักษิณ มีการพูดกันขนาดว่า แม้พันธมิตรฯ มิอาจบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปทางการเมืองอย่างที่ต้องการ แต่การที่สามารถโค่นล้มระบอบทักษิณลงได้ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือของทักษิณ

ถึงไม่ชนะ แต่ก็ไม่แพ้

คิดเผินๆ ก็เหมือนดี แต่ถ้าย้อนกลับไปมองยุคที่ประชาธิปัตย์มีอำนาจกับยุคที่เพื่อไทยมีอำนาจนั้นไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย เพียงแต่มวลชนของฝ่ายเสื้อแดงก็ชื่นชมรัฐบาลของตัวเอง และมวลชนฝ่ายประชาธิปัตย์ก่นด่ารัฐบาลเพื่อไทย ถ้าประชาธิปัตย์มีอำนาจมวลชนของตัวเองก็ชื่นชมและมวลชนของเพื่อไทยก็ก่นด่า

ฝ่ายหนึ่งดีฝ่ายหนึ่งเลว คุณค่าและความหมายของความดีความเลวมันอยู่คนละด้าน ด้านที่ดีของฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายมองว่าเลว ด้านที่เลวของฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายมองว่าดี บรรทัดฐานความดีเลวของสังคมไม่อาจมาบรรจบกันได้อีกแล้วบนแผ่นดินนี้

แต่สำหรับพวกเราคุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูดเสมอว่า สองฟากขั้วที่แย่งชิงอำนาจทางการเมืองนั้นไม่มีอะไรที่ต่างกันหรอก สำหรับประชาชนแล้วมันมีผลลัพธ์ที่เหมือนกัน คือ ถูกนักการเมืองปล้นชิงเหมือนกันไม่ว่าจากฝ่ายไหน เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งเป็นไอ้เสือเอาวา ตะโกนมาแต่ไกลว่านี่คือ การปล้น แต่อีกฝ่ายเป็นโจรใส่เสื้อสูท เข้าหาประชาชนแบบสุภาพนอบน้อม

วันก่อนผมอ่านข่าวคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ออกมาตั้งคำถามเรื่องคดีเขาพระวิหารที่กำลังอยู่ในกระบวนการของศาลโลกว่า “สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดในตอนนี้ก็คือเรื่องการต่อสู้คดีในศาลโลกเพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้เปิดเผยข้อมูล เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ทราบว่าแนวทางการต่อสู้จะเป็นอย่างไร แม้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดไม่ได้ แต่ก็ต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงจัง และความพร้อมในการที่จะรับผิดชอบกับผลที่จะตามมา”

ได้ยินคำถามแล้วทำให้ผมหวนนึกถึงคุณอภิสิทธิ์ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีกับตอนที่เป็นพรรคฝ่ายค้านตอนนี้นั้นราวกับเป็นคนละคนกัน แต่สิ่งที่ผมคิดนั้นมันเป็นความจริงไปไม่ได้ อย่างไรเสียอภิสิทธิ์ตอนนี้กับอภิสิทธิ์ตอนนั้นก็ต้องเป็นคนคนเดียวกัน

แต่อะไรที่ต่างกันล่ะครับ ก็อำนาจและตำแหน่งทางการเมืองไงล่ะครับ อภิสิทธิ์ตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีมีมุมมองอย่างหนึ่ง แต่อภิสิทธิ์ที่เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านกลับมีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง

วันนี้คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินสายปลุกระดมประชาชนในภาคใต้ สุเทพบอกว่า ตนกำลังสร้างที่ยืนให้กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคนเสื้อแดง และไม่ได้เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะมีการชักชวนกลุ่มบุคคลในการตั้งเวทีประชาชนสานเสวนาในพื้นที่ต่างๆ โดยตนจะพูดความจริงให้ประชาชนทราบว่า การที่รัฐบาลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยอ้างเรื่องความปรองดองแห่งชาติ แท้จริงแล้วเป็นความพยายามทำเพื่อประโยชน์ของพวกเขา เมื่อประชาชนได้รับทราบแล้วจะตัดสินใจอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประชาชน

เมื่อไม่กี่วันก่อนสุเทพยังเป็นนักการเมืองที่ศรัทธาต่อระบบรัฐสภา และบอกว่าทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง

สุเทพในวันนั้นกับสุเทพในวันนี้เป็นคนคนเดียวกันใช่หรือไม่ครับ คำตอบคือ ใช่ครับ แต่ต่างกันตรงที่วันนั้นสุเทพกำลังสนุกกับอำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือ แต่สุเทพวันนี้กำลังอดอยากปากแห้งเพราะมีทีท่าว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต จึงต้องออกมาปลุกปั่นประชาชนให้ลุกขึ้นสู้กับระบอบทักษิณ

นี่เป็นคำตอบว่า พันธมิตรฯ จะออกมาสู้อีกครั้งเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์กลับไปสู่อำนาจเพื่ออะไร ในเมื่อขึ้นชื่อว่า นักการเมืองแล้วไม่ได้มีใครดีเลวไปกว่ากัน ต่างกันตรงวิธีการเท่านั้นเอง

มีคนเตือนให้คุณสนธิเปลี่ยนวิธีการต่อสู้ คือ เรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่กับฝ่ายที่มีอำนาจ คุณสนธิบอกพวกเราว่า อายุ 64 ปีแล้ว จะให้เปลี่ยนแปลงโดยละทิ้งอุดมการณ์ที่เคยต่อสู้มาได้อย่างไร ถ้าองค์กรนี้จะต้องล่มสลายเพราะไม่สยบยอมต่ออำนาจฝ่ายไหนก็ปล่อยให้มันล่มไป จะไม่ยอมเป็นแบบสื่อบางค่ายที่สมยอมแม้ยอดขายจะลดลงมาก แต่มีกำไรจากเงินที่หน่วยงานรัฐเอาไปใส่ให้ก็ไม่มีศักดิ์ศรียอมเป็นอย่างนี้ดีกว่า

แน่นอนครับพันธมิตรฯ และประชาธิปัตย์มีศัตรูคนเดียวกันควรจะร่วมมือกันเพื่อกำจัดศัตรูที่เป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน แต่ศัตรูของพันธมิตรฯ นอกจากระบอบทักษิณและยังมีระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

บางคนบอกว่าแค่ร่วมมือกันกำจัดระบอบทักษิณให้ได้ก่อน แต่คำตอบก็คือ มันเคยมีบทเรียนมาแล้วในอดีตว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ก้าวขึ้นสู่อำนาจก็ไม่ได้แตกต่างกับพรรคของทักษิณตรงไหนมิใช่หรือ

ผมคิดว่าสำหรับประชาชนแล้วเป้าหมายที่ควรจะต่อสู้ก็คือการทำลายล้างวงจรอุบาทว์ของนักการเมือง วันนี้ประชาชนเสื้อแดงกำลังได้รับบทเรียนจากนักการเมืองฟากทักษิณ หลังจากประชาชนเสื้อเหลืองได้รับบทเรียนจากอีกฟากพรรคหนึ่งมาแล้ว

ถ้าเราก้าวข้ามนักการเมืองไปสู่การปฏิรูปการเมืองร่วมกันได้ ถึงจะคุ้มค่าที่ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้สละเลือดเนื้อเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต่อสู้เพื่ออำนาจของนักการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น