คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ
1.ศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยจำนำข้าวขัด รธน.หรือไม่ ชี้ ไม่อยู่ในอำนาจ และผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยระงับหรือชะลอการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 84(1) ที่ระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและต้องไม่ประกอบกิจการในลักษณะแข่งขันกับเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้ออกมาประท้วงอาจารย์นิด้าและจี้ให้ยุติการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมขู่ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของอาจารย์นิด้าไว้วินิจฉัย เจอดีแน่
ปรากฏว่า หลังการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ศาลฯ มีมติไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า ศาลฯ ไม่มีอำนาจยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ประกอบกับอาจารย์นิด้า ผู้ร้อง ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพจากบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่ใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญํติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำร้องดังกล่าวจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้ จึงมีมติไม่รับคำร้อง
ด้านนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า บอกว่า เคารพคำตัดสินของศาลฯ และจะทำงานวิชาการต่อไป โดยจะศึกษาความเสียหายที่เกิดจากนโยบายรับจำนำข้าว และเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ “คงไม่ฟ้องที่ไหนแล้ว จะทำงานวิชาการ เสวนาหารือ และประชุมในกลุ่มอาจารย์ที่ทำเรื่องข้าว เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเขียนบทความกัน”
ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า ทั้งคนเสื้อแดงและแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างออกอาการสะใจและดิสเครดิตอาจารย์นิด้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นการใหญ่ โดยคนเสื้อแดงได้มีการเผาหุ่นอาจารย์นิด้า ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการจำนำข้าว ได้ออกมากล่าวหาอาจารย์นิด้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นพวกสุ่มสี่สุ่มหก ต้องการชี้นำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จึงขอให้อาจารย์ลาออกเสีย เพราะเงินเดือนที่รับอยู่ทุกวันเป็นเงินภาษีประชาชน และให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เผื่อจะได้เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และไปอยู่พรรคที่ตัวเองสนับสนุน
ร.ต.อ.เฉลิม ยังโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านที่บอกว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเพราะเป็นโครงการที่เปิดช่องให้มีการทุจริตด้วยว่า เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องแล้ววออกมาพูด พร้อมยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องข้าวหายไปจากสต๊อก “เรื่องนี้เป็นการปล่อยข่าวจากพ่อค้า ผู้ส่งออกที่เสียประโยชน์ เพราะเคยเพลิดเพลินกับการกำหนดราคาเองจึงร่ำรวย พอรัฐบาลเข้ามาเป็นผู้กำหนดราคา ผู้ค้าเหล่านี้จึงไม่พอใจ อิจฉาชาวนา”
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องอาจารย์นิด้าว่า เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเยาะเย้ยถากถางคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ พร้อมแนะว่า ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวสามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองหรือผู้ตรวจการแผ่นดินได้อีกช่องทางหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำด้วยความมั่นใจว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริต และรัฐบาลไม่สามารถจะดำเนินโครงการนี้ไปได้ตลอด เพราะเงินจะไม่พอ พร้อมเชื่อว่า รัฐบาลไม่ได้มีการขายข้าวออกไป 8 ล้านตันตามที่กล่าวอ้าง
ขณะที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 11 ต.ค.เกี่ยวกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้มีการขายข้าวที่รับจำนำมาให้ต่างประเทศจริง โดยนายบุญทรงรีบออกตัวก่อนว่า การแถลงครั้งนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว นายกฯ ไม่ได้สั่งให้ชี้แจงแต่อย่างใด และว่า การซื้อขายข้าวแบบจีทูจีที่ผ่านมา ดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงในเบื้องต้น(เอ็มโอยู) ที่รัฐบาลได้ทำกับประเทศผู้ซื้อ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และอยู่ระหว่างจัดทำกับประเทศโกตติวัวร์ ซึ่งเอ็มโอยูจะมีเวลาบังคับใช้ 3-5 ปี ปริมาณข้าวรวม 8 ล้านตัน
นายบุญทรง ยังอ้างด้วยว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการซื้อขายข้าวกับต่างประเทศได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ซื้อ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูงมาก และว่า สิ่งที่จะยืนยันได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เท่าไร ดูได้จากการคืนเงินค่าข้าวที่ระบายแล้วให้กระทรวงการคลัง ซึ่งได้คืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) แล้ว 42,000 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้จะคืนได้ 85,000 ล้านบาท
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาจับโกหกรัฐบาลว่า ที่บอกว่าขายข้าวให้ประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียนั้น ทั้ง 2 ประเทศได้ออกมาปฏิเสธแล้ว จึงอยากถามว่า การขายข้าวกว่า 7 ล้านตันนั้น ขายไปที่ไหนและเป็นสัญญาซื้อขายหรือเอ็มโอยูกันแน่ ถ้าซื้อขายแบบจีทูจี เงินที่ได้ไปอยู่ไหน ตัวเลขปลายทางในการส่งออกข้าวไปอยู่ที่ใด และหากขายข้าวได้กว่า 7 ล้านตันจริง ทำไมรัฐบาลจึงต้องวิ่งหาโกดังเก็บข้าว โดยเฉพาะที่สนามบินดอนเมือง เพื่อเป็นสถานที่เก็บ
ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้จับพิรุธเกี่ยวกับการส่งออกข้าวว่า บริษัทเอกชนที่ส่งออกข้าวได้มากที่สุดในปีนี้สามารถชนะ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกข้าว ทั้งที่เป็นบริษัทที่ไม่เคยประมูลข้าวของรัฐบาลได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือเป็นเพราะเป็นบริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และน่าสงสัยว่า เมื่อประมูลข้าวไม่ได้เลย แล้วบริษัทนี้เอาข้าวที่ไหนไปส่งออก หรือลักลอบนำข้าว 1 ล้านตันที่ล่องหนไปมาเวียนเทียน หรือลักลอบให้เอกชนผู้ใกล้ชิดไปจำหน่าย
ส่วนท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวนั้น ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สำรวจ พร้อมเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรแต่ละจังหวัด พร้อมคาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบทุจริตรับจำนำข้าว จะมีการลงโทษร้ายแรง ทั้งผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน
2.นักวิชาการ ร้องศาล ปค.สั่งระงับประมูล 3 จี 16 ต.ค.นี้ ขณะที่ 10 องค์กรภาค ปชช.จ่อร้องเช่นกัน ด้าน กสทช.ขู่ฟ้องกลับ!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3 จี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จนกว่า กสทช.จะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ใน 3 ประเด็น คือ 1.การกำหนดพื้นที่ และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ 2.กำหนดคุณภาพการให้บริการ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้ และ 3.การกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ และสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านศาลฯ ได้นัดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 11 ต.ค.
ทั้งนี้ ในการไต่สวน นายอนุภาพ ชี้แจงต่อศาลว่า เงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่ กสทช.ประกาศออกมา ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการให้บริการ ทั้งในเรื่องคุณภาพการให้บริการ ค่าบริการ การคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และการนำเงินประมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหาก กสทช.กลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง แม้การประมูลจะล่าช้าออกไป 1-2 เดือน ก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย ในทางกลับกันจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์และความเป็นธรรมสูงสุด
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดประมูล 3 จี โดยยืนยันว่า ทุกขั้นตอนมีความชัดเจน โปร่งใส ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน พร้อมชี้ หากชะลอหรือยกเลิกการประมูล 3 จีจะสร้างความเสียหายอย่างมาก และว่า ตอนที่ศาลสั่งให้ระงับประมูลครั้งแรก ได้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท
นายสุทธิพล ยังประกาศด้วยว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลปกครองจะออกมาอย่างไร กสทช.จะฟ้องผู้ยื่นล้มการประมูลครั้งนี้ทั้งหมด เพราะเป็นการเอาผลประโยชน์ประเทศชาติมาเป็นเครื่องเดิมพัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และสะท้อนว่าข้าราชการที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติกำลังถูกรังแก
ทั้งนี้ ศาลปกครองยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ขณะที่ทาง กสทช.ยังคงเดินหน้าเตรียมการเปิดประมูล 3 จีในวันที่ 16 ต.ค. โดยบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในการเข้าร่วมประมูล 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ,บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัท ทรู มูฟ จำกัด
โดย กสทช.ได้มีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูล 3 จีให้บริษัทผู้ร่วมประมูลทราบ พร้อมพาตัวแทนผู้ประมูลเข้าชมสถานที่จัดการประมูล นอกจากนี้ยังได้เตรียมทำเรื่องเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อให้วันที่ 16 ต.ค.เป็นวันหยุดของพนักงาน กสทช.ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูล 3 จี เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดการประมูล นอกเหนือจากการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยกว่า 50 นาย และหากการประมูลยืดเยื้อ กสทช.อาจขยายวันหยุดของพนักงานเพิ่มเติมจนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้นด้วย
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว เผยว่า วันที่ 15 ต.ค. ตนพร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน 10 องค์กรจะไปศาลปกครอง เพื่อยื่นขอให้มีคำสั่งระงับการประมูล 3 จี และหวังให้ศาลสั่งให้ กสทช.ปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยเฉพาะการตั้งราคาตั้งต้นของการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ “ส่วนตัวต้องการสนับสนุนการประมูล 3 จี หากแต่ในการประมูลจะต้องมีความโปร่งใสและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่านี้ รวมทั้งกฎการประมูลต้องไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลฮั้วประมูลได้”
นายสุริยะใส บอกด้วยว่า ข้อกล่าวหาที่จะยื่นฟ้อง กสทช.ครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นข้อกล่าวหาที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เคยทักท้วง กสทช.มาแล้วทั้งสิ้น และว่า นอกจากจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ยังจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ด้วย
ขณะที่นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อประชาชน เผยว่า วันที่ 15 ต.ค. ตนจะไปยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูล 3 จี เช่นกัน เพราะเห็นว่ากติกาในการประมูลของ กสทช.ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
3.อัยการ สั่งไม่ฟ้อง “สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ” คดีสลายพันธมิตรฯ อ้างหลักฐานไม่พอเอาผิด ด้าน ป.ป.ช.เดินหน้าฟ้องต่อศาลเอง!
หลังศาลปกครองกลาง พิพากษาเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรียุคนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ได้กระทำผิดฐานละเมิดกรณีใช้อาวุธปืนและระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาและหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บที่ฟ้องต่อศาลปกครองกว่า 200 คนเป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท ปรากฏว่า สังคมเริ่มถามหาความคืบหน้าในแง่คดีอาญา หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติน และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดย ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนและความเห็นเรื่องดังกล่าวให้อัยการเพื่อพิจารณาส่งฟ้องคดีต่อศาลต่อไปนั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาบอกว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพราะเห็นว่าคดีไม่มีพยานและหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดผู้ถูกฟ้อง จึงมีมติส่งเรื่องกลับไปยัง ป.ป.ช.นานแล้ว ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.ว่าจะฟ้องคดีเองหรือไม่
ซึ่งวันต่อมา(10 ต.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง โดยขณะนี้สภาทนายความได้ส่งชื่อทนายความที่จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มาให้ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า หลักฐานที่มีอยู่มากพอที่จะฟ้องดำเนินคดีได้ และจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
4.ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ กม.อาญา ม.112 ไม่ขัด รธน. -ไม่กระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย หรือเอก หงส์กังวาน จำเลยในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาให้ตุลาการฯ วินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 8 ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่ หลังประชุมแล้วเสร็จ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8
ส่วนจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่นั้น ตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองต่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศ การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด จึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง แต่อย่างใด นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นมาตรา 112 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นอกจากนี้ อัตราโทษที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำหนดไว้ ยังเป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็น และไม่ได้เฉพาะเจาะจง รวมทั้งไม่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองแต่อย่างใด
5.ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ “ทักษิณ” คดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย นัดตรวจพยานหลักฐาน 25 ม.ค.ปีหน้า!
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลยคดี ที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ,นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 จากกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ บมจ.กฤษดามหานครโดยมิชอบนับหมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ที่ไม่เดินทางมาศาล ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลจึงได้นัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 25 ม.ค. 2556 เวลา 09.00 น. โดยให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัด 14 วัน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ศาลฯ ถือว่าได้รับทราบนัดโดยชอบแล้ว มีเหตุให้สงสัยว่าจำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากสารบบความชั่วคราว
สำหรับคดีนี้ มีการกล่าวหาว่าผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร 3 กรณี คือ 1. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด วงเงิน 500 ล้านบาท 2. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท และ 3. อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด กว่า 1.18 พันล้านบาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานครโดยมิชอบ
1.ศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยจำนำข้าวขัด รธน.หรือไม่ ชี้ ไม่อยู่ในอำนาจ และผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องของนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ที่ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยระงับหรือชะลอการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 84(1) ที่ระบุว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและต้องไม่ประกอบกิจการในลักษณะแข่งขันกับเอกชน ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มคนเสื้อแดงได้ออกมาประท้วงอาจารย์นิด้าและจี้ให้ยุติการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมขู่ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของอาจารย์นิด้าไว้วินิจฉัย เจอดีแน่
ปรากฏว่า หลังการประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ศาลฯ มีมติไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย โดยให้เหตุผลว่า ศาลฯ ไม่มีอำนาจยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ประกอบกับอาจารย์นิด้า ผู้ร้อง ไม่ใช่ผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพจากบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่ใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญํติของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คำร้องดังกล่าวจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้ จึงมีมติไม่รับคำร้อง
ด้านนายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า บอกว่า เคารพคำตัดสินของศาลฯ และจะทำงานวิชาการต่อไป โดยจะศึกษาความเสียหายที่เกิดจากนโยบายรับจำนำข้าว และเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ “คงไม่ฟ้องที่ไหนแล้ว จะทำงานวิชาการ เสวนาหารือ และประชุมในกลุ่มอาจารย์ที่ทำเรื่องข้าว เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเขียนบทความกัน”
ทั้งนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยโครงการรับจำนำข้าว ปรากฏว่า ทั้งคนเสื้อแดงและแกนนำพรรคเพื่อไทย ต่างออกอาการสะใจและดิสเครดิตอาจารย์นิด้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวเป็นการใหญ่ โดยคนเสื้อแดงได้มีการเผาหุ่นอาจารย์นิด้า ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการจำนำข้าว ได้ออกมากล่าวหาอาจารย์นิด้าที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นพวกสุ่มสี่สุ่มหก ต้องการชี้นำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย จึงขอให้อาจารย์ลาออกเสีย เพราะเงินเดือนที่รับอยู่ทุกวันเป็นเงินภาษีประชาชน และให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เผื่อจะได้เป็นรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และไปอยู่พรรคที่ตัวเองสนับสนุน
ร.ต.อ.เฉลิม ยังโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายค้านที่บอกว่าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเพราะเป็นโครงการที่เปิดช่องให้มีการทุจริตด้วยว่า เป็นพวกที่ไม่รู้เรื่องแล้ววออกมาพูด พร้อมยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเรื่องข้าวหายไปจากสต๊อก “เรื่องนี้เป็นการปล่อยข่าวจากพ่อค้า ผู้ส่งออกที่เสียประโยชน์ เพราะเคยเพลิดเพลินกับการกำหนดราคาเองจึงร่ำรวย พอรัฐบาลเข้ามาเป็นผู้กำหนดราคา ผู้ค้าเหล่านี้จึงไม่พอใจ อิจฉาชาวนา”
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องอาจารย์นิด้าว่า เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเยาะเย้ยถากถางคนที่หวังดีต่อประเทศชาติ พร้อมแนะว่า ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวสามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองหรือผู้ตรวจการแผ่นดินได้อีกช่องทางหนึ่ง นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำด้วยความมั่นใจว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริต และรัฐบาลไม่สามารถจะดำเนินโครงการนี้ไปได้ตลอด เพราะเงินจะไม่พอ พร้อมเชื่อว่า รัฐบาลไม่ได้มีการขายข้าวออกไป 8 ล้านตันตามที่กล่าวอ้าง
ขณะที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 11 ต.ค.เกี่ยวกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ได้มีการขายข้าวที่รับจำนำมาให้ต่างประเทศจริง โดยนายบุญทรงรีบออกตัวก่อนว่า การแถลงครั้งนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว นายกฯ ไม่ได้สั่งให้ชี้แจงแต่อย่างใด และว่า การซื้อขายข้าวแบบจีทูจีที่ผ่านมา ดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงในเบื้องต้น(เอ็มโอยู) ที่รัฐบาลได้ทำกับประเทศผู้ซื้อ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ และอยู่ระหว่างจัดทำกับประเทศโกตติวัวร์ ซึ่งเอ็มโอยูจะมีเวลาบังคับใช้ 3-5 ปี ปริมาณข้าวรวม 8 ล้านตัน
นายบุญทรง ยังอ้างด้วยว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการซื้อขายข้าวกับต่างประเทศได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ซื้อ เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูงมาก และว่า สิ่งที่จะยืนยันได้ว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เท่าไร ดูได้จากการคืนเงินค่าข้าวที่ระบายแล้วให้กระทรวงการคลัง ซึ่งได้คืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) แล้ว 42,000 ล้านบาท และในสิ้นปีนี้จะคืนได้ 85,000 ล้านบาท
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาจับโกหกรัฐบาลว่า ที่บอกว่าขายข้าวให้ประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียนั้น ทั้ง 2 ประเทศได้ออกมาปฏิเสธแล้ว จึงอยากถามว่า การขายข้าวกว่า 7 ล้านตันนั้น ขายไปที่ไหนและเป็นสัญญาซื้อขายหรือเอ็มโอยูกันแน่ ถ้าซื้อขายแบบจีทูจี เงินที่ได้ไปอยู่ไหน ตัวเลขปลายทางในการส่งออกข้าวไปอยู่ที่ใด และหากขายข้าวได้กว่า 7 ล้านตันจริง ทำไมรัฐบาลจึงต้องวิ่งหาโกดังเก็บข้าว โดยเฉพาะที่สนามบินดอนเมือง เพื่อเป็นสถานที่เก็บ
ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้จับพิรุธเกี่ยวกับการส่งออกข้าวว่า บริษัทเอกชนที่ส่งออกข้าวได้มากที่สุดในปีนี้สามารถชนะ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ส่งออกข้าว ทั้งที่เป็นบริษัทที่ไม่เคยประมูลข้าวของรัฐบาลได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือเป็นเพราะเป็นบริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และน่าสงสัยว่า เมื่อประมูลข้าวไม่ได้เลย แล้วบริษัทนี้เอาข้าวที่ไหนไปส่งออก หรือลักลอบนำข้าว 1 ล้านตันที่ล่องหนไปมาเวียนเทียน หรือลักลอบให้เอกชนผู้ใกล้ชิดไปจำหน่าย
ส่วนท่าทีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทุจริตโครงการรับจำนำข้าวนั้น ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่สำรวจ พร้อมเรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรแต่ละจังหวัด พร้อมคาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง หากพบทุจริตรับจำนำข้าว จะมีการลงโทษร้ายแรง ทั้งผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน
2.นักวิชาการ ร้องศาล ปค.สั่งระงับประมูล 3 จี 16 ต.ค.นี้ ขณะที่ 10 องค์กรภาค ปชช.จ่อร้องเช่นกัน ด้าน กสทช.ขู่ฟ้องกลับ!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการระงับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 3 จี ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จะจัดให้มีการประมูลในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จนกว่า กสทช.จะมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ใน 3 ประเด็น คือ 1.การกำหนดพื้นที่ และระยะเวลาที่จะได้รับบริการที่จะต้องครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศในระยะเวลาที่ทัดเทียมกัน โดยไม่สัมพันธ์กับระดับรายได้และปริมาณการใช้บริการ 2.กำหนดคุณภาพการให้บริการ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงความเสถียรของโครงข่ายและคุณภาพของสัญญาณในระดับสูงสุดที่มาตรฐานทางเทคนิคจะให้บริการได้ และ 3.การกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บได้ และสัญญามาตรฐานตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ด้านศาลฯ ได้นัดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 11 ต.ค.
ทั้งนี้ ในการไต่สวน นายอนุภาพ ชี้แจงต่อศาลว่า เงื่อนไขในสัญญาต่างๆ ที่ กสทช.ประกาศออกมา ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการให้บริการ ทั้งในเรื่องคุณภาพการให้บริการ ค่าบริการ การคุ้มครองผู้ด้อยโอกาส และการนำเงินประมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหาก กสทช.กลับไปแก้ไขให้ถูกต้อง แม้การประมูลจะล่าช้าออกไป 1-2 เดือน ก็ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย ในทางกลับกันจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์และความเป็นธรรมสูงสุด
ด้านนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดประมูล 3 จี โดยยืนยันว่า ทุกขั้นตอนมีความชัดเจน โปร่งใส ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน พร้อมชี้ หากชะลอหรือยกเลิกการประมูล 3 จีจะสร้างความเสียหายอย่างมาก และว่า ตอนที่ศาลสั่งให้ระงับประมูลครั้งแรก ได้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท
นายสุทธิพล ยังประกาศด้วยว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลปกครองจะออกมาอย่างไร กสทช.จะฟ้องผู้ยื่นล้มการประมูลครั้งนี้ทั้งหมด เพราะเป็นการเอาผลประโยชน์ประเทศชาติมาเป็นเครื่องเดิมพัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และสะท้อนว่าข้าราชการที่ทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติกำลังถูกรังแก
ทั้งนี้ ศาลปกครองยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ขณะที่ทาง กสทช.ยังคงเดินหน้าเตรียมการเปิดประมูล 3 จีในวันที่ 16 ต.ค. โดยบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นในการเข้าร่วมประมูล 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ,บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัท ทรู มูฟ จำกัด
โดย กสทช.ได้มีการชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประมูล 3 จีให้บริษัทผู้ร่วมประมูลทราบ พร้อมพาตัวแทนผู้ประมูลเข้าชมสถานที่จัดการประมูล นอกจากนี้ยังได้เตรียมทำเรื่องเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อให้วันที่ 16 ต.ค.เป็นวันหยุดของพนักงาน กสทช.ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมูล 3 จี เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยสถานที่จัดการประมูล นอกเหนือจากการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาดูแลความเรียบร้อยกว่า 50 นาย และหากการประมูลยืดเยื้อ กสทช.อาจขยายวันหยุดของพนักงานเพิ่มเติมจนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้นด้วย
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว เผยว่า วันที่ 15 ต.ค. ตนพร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน 10 องค์กรจะไปศาลปกครอง เพื่อยื่นขอให้มีคำสั่งระงับการประมูล 3 จี และหวังให้ศาลสั่งให้ กสทช.ปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ โดยเฉพาะการตั้งราคาตั้งต้นของการประมูลที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์ “ส่วนตัวต้องการสนับสนุนการประมูล 3 จี หากแต่ในการประมูลจะต้องมีความโปร่งใสและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่านี้ รวมทั้งกฎการประมูลต้องไม่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลฮั้วประมูลได้”
นายสุริยะใส บอกด้วยว่า ข้อกล่าวหาที่จะยื่นฟ้อง กสทช.ครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นข้อกล่าวหาที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เคยทักท้วง กสทช.มาแล้วทั้งสิ้น และว่า นอกจากจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว ยังจะไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ด้วย
ขณะที่นายบุญชัย รุ่งเรืองไพศาลสุข ประธานเครือข่ายโทรคมนาคมเพื่อประชาชน เผยว่า วันที่ 15 ต.ค. ตนจะไปยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูล 3 จี เช่นกัน เพราะเห็นว่ากติกาในการประมูลของ กสทช.ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
3.อัยการ สั่งไม่ฟ้อง “สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ” คดีสลายพันธมิตรฯ อ้างหลักฐานไม่พอเอาผิด ด้าน ป.ป.ช.เดินหน้าฟ้องต่อศาลเอง!
หลังศาลปกครองกลาง พิพากษาเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรียุคนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ ได้กระทำผิดฐานละเมิดกรณีใช้อาวุธปืนและระเบิดแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาและหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บที่ฟ้องต่อศาลปกครองกว่า 200 คนเป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท ปรากฏว่า สังคมเริ่มถามหาความคืบหน้าในแง่คดีอาญา หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ต่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติน และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดย ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนและความเห็นเรื่องดังกล่าวให้อัยการเพื่อพิจารณาส่งฟ้องคดีต่อศาลต่อไปนั้น
ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกมาบอกว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ เพราะเห็นว่าคดีไม่มีพยานและหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดผู้ถูกฟ้อง จึงมีมติส่งเรื่องกลับไปยัง ป.ป.ช.นานแล้ว ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช.ว่าจะฟ้องคดีเองหรือไม่
ซึ่งวันต่อมา(10 ต.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติให้ ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง โดยขณะนี้สภาทนายความได้ส่งชื่อทนายความที่จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้มาให้ ป.ป.ช.แล้ว ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่า หลักฐานที่มีอยู่มากพอที่จะฟ้องดำเนินคดีได้ และจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
4.ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ กม.อาญา ม.112 ไม่ขัด รธน. -ไม่กระทบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น!
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณากรณีที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายเอกชัย หรือเอก หงส์กังวาน จำเลยในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาให้ตุลาการฯ วินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 8 ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง หรือไม่ หลังประชุมแล้วเสร็จ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่เสริมให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8
ส่วนจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองหรือไม่นั้น ตุลาการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สอดคล้องกับการให้ความคุ้มครองต่อพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันและประมุขของประเทศ การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิด จึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม จึงมิได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง แต่อย่างใด นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาภาคความผิดลักษณะที่ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นมาตรา 112 จึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นอกจากนี้ อัตราโทษที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำหนดไว้ ยังเป็นการกำหนดเท่าที่จำเป็น และไม่ได้เฉพาะเจาะจง รวมทั้งไม่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง ,มาตรา 29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสองแต่อย่างใด
5.ศาลฎีกาฯ ออกหมายจับ “ทักษิณ” คดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย นัดตรวจพยานหลักฐาน 25 ม.ค.ปีหน้า!
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลยคดี ที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ,นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505, ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 จากกรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟูกิจการ บมจ.กฤษดามหานครโดยมิชอบนับหมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ ได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ยกเว้น พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 ที่ไม่เดินทางมาศาล ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลจึงได้นัดตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายในวันที่ 25 ม.ค. 2556 เวลา 09.00 น. โดยให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัด 14 วัน ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ศาลฯ ถือว่าได้รับทราบนัดโดยชอบแล้ว มีเหตุให้สงสัยว่าจำเลยจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับ และให้จำหน่ายคดีในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากสารบบความชั่วคราว
สำหรับคดีนี้ มีการกล่าวหาว่าผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร 3 กรณี คือ 1. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทอาร์เค โปรเฟสชั่นนัล จำกัด วงเงิน 500 ล้านบาท 2. อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด วงเงิน 9,900 ล้านบาท และ 3. อนุมัติขายหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพของ บมจ.กฤษดามหานคร ให้กับบริษัท แกรนด์ คอมพิวเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด กว่า 1.18 พันล้านบาท ถือว่าผู้เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ให้สินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานครโดยมิชอบ