ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กทค. ไม่หวั่นครหา “ฮั้ว” เดินรับรองรับรองผลการประมูล 3จี ด้วยมติ 4:1 ตามคาด “หมอประวิทย์” วอล์คเอาท์ไม่รับรอง เตรียมแจ้งผู้ชนะประมูล 19 ต.ค.และออกใบอนุญาตภายใน 90 วัน อนุกมธ.สอบทุจริต เล็งส่งชุดใหญ่สอบฮั้ว! "ยะใส" ขอรอฟังคำสั่งคดี ภาคปชช.ยื่น5หมื่นรายชื่อถอดถอน 11 กสทช.
วานนี้(18 ต.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) อาคารหอประชุมชั้น 2 ได้จัดให้มีการถ่ายทอดเสียงการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิร์ตซ หรือใบอนุญาต 3 จีของวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้สื่อมวลชนทราบเพื่อความโปร่งใส โดยเริ่มถ่ายทอดเสียงตั้งแต่เริ่มการประชุมบอร์ด กทค. ในเวลา 11.30 น.- 15.00 น. เป็นการสิ้นสุดการประชุมบอร์ด โดยบอร์ดกทค. มี 5 คน ประกอบด้วยพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธาน กทค., พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร กสทช.ด้านการศึกษา วัฒนธรรม และพัฒนาสังคม, ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย, รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ด้านเศรษฐศาสตร์ และนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างถ่ายทอดสดเสียงการประชุมบอร์ดกทค. เนื้อหาที่ถกเถียงกันซ้ำไปซ้ำมาจนทำให้บอร์ด กทค. 2 คน คือ รศ.ประเสริฐ และพล.อ. สุกิจ จะวอล์คเอ้าท์ออกจากห้องประชุม ส่งผลให้ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ต้องตัดบทบอกให้ที่ประชุมกทค.ลงมติรับรองผลการประมูล 3จี ของกสทช ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ซึ่งมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูล 3 รายโดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ประมูลคลื่นความถี่ได้ในราคา 14,625 ล้านบาท บริษัท ดีแทค เนควอร์ค และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ประมูลคลื่นความถี่ไปในราคา 13,500 ล้านบาทเท่ากัน รวมทั้งสามรายประมูลคลื่นความถี่ไปในมูลค่า 41,625 ล้านบาท
ผลปรากฏว่า การลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาต 3 จี ของกทค. มีมติบอร์ด 4 : 1 โดยบอร์ด กทค.ทั้ง 4 คนที่รับรองผลประกอบด้วย พล.อ. สุกิจ ลงชื่อรับรองผลคนแรก ต่อด้วยดร.สุทธิพล ตามด้วยรศ.ประเสริฐ และพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ลงมติรับรองผลเป็นคนสุดท้าย โดยที่นพ.ประวิทย์ ไม่รับรองผลโดยขอดูเอกสารการเคาะราคาการประมูลทั้ง 7 ครั้งเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ส่งผลให้ที่ประชุมบอร์ดขอปิดเสียงถ่ายทอดสดเพื่อนำเอกสารมาอธิบายให้นพ.ประวิทย์ ฟังประมาณ 5 นาที จึงได้เปิดเสียงถ่ายทอดสด และได้สรุปผลการลงมติรับรองการประมูล 3จีของบอร์ด กทค.
เวลา 15.15 น. รศ.ประเสริฐ ได้แถลงผลการประชุมบอร์ด กทค. ว่า ในวันที่ 19 ต.ค. จะส่งหนังสือรับรองผลการประมูลใบอนุญาต 3 จีให้ผู้ชนะประมูล 3จีทั้ง 3 ราย โดยผู้ชนะทั้ง 3 รายต้องจ่ายเงินงวดแรก 50%ของเงินที่ประมูลได้ ภายใน 90 วัน และจะได้ใบอนุญาตครอบครองคลื่น15 ปีทันทีใน 7 วัน การลงมติของบอร์ด กทค.เพื่อรับรองผลการประมูล 3จีนี้ถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว สำหรับเงินที่ได้จากการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3จี จะนำส่งเข้ารัฐให้เร็วที่สุด โดยหักค่าใช้จ่ายในการจัดประมูลประมาณ 20 ล้านกว่าบาท
สำหรับผลการประมูลเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส เสนอราคาสูงสุดที่ 14,625 ล้านบาท ได้สิทธิใช้คลื่นความถี่ชุดที่ 7 แถบคลื่น 1950-1955 คู่กับ 2140-2145 ชุดที่ 8 แถบคลื่น 1955-1960 คู่กับ 2145-2150 และชุดที่ 9 แถบคลื่น 1960-1965 คู่กับ 2150-2155
ส่วนบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรูมูฟ และบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค เสนอราคาเท่ากันที่ 13,500 ล้านบาท โดย เรียลฟิวเจอร์ ได้สิทธิใช้คลื่นความถี่ชุดที่ 4 แถบคลื่น 1935-1940 คู่กับ 2125-2130 ชุดที่ 5 คลื่น 1940-1945 คู่กับ 2130-2135 และชุดที่ 6 ช่วงคลื่น 1940-1950 คู่กับ 2135-2140
และดีแทค เน็คเวอร์ค ได้แถบคลื่นความถี่ชุดที่ 1 ถึง ชุดที่ 3 ได้แก่ช่วงคลื่น 1920-1925 คู่กับ 2110-2115 ช่วงคลื่น 1925-1930 คู่กับ 2115-2120 และช่วงคลื่น 1930-1935 คู่กับ 2120-2125
**สว.ลุยสอบจี้รอศาลวินิจฉัยก่อน
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ในคณะกมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จะยื่นเรื่องให้กมธ.ชุดใหญ่ ตรวจสอบการประมูล 3 จี ของ กสทช. เนื่องจากส่อถึงความไม่โปร่งใส เพราะเอื้อประโยชน์ให้เอกชน โดยนำราคาของภาคเอกชนเป็นตัวตั้ง ไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน เบื้องต้นจะให้มีการเรียกรายงานการประชุมเรื่องประมูล 3 จี ในรอบ 3 เดือนย้อนหลัง
“ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ชะลอการพิจารณารับรองผลการประมูล 3 จีออกไป เพื่อให้มีการตรวจสอบให้รอบคอบก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหาย”นายไพบูลย์กล่าว
**ยื่น5หมื่นรายชื่อถอด กสทช.ทั้งคณะ
เมื่อเวลา 09.45 น. นายสุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ ตัวแทนภาคประชาชน ได้นำรายชื่อประชาชน จำนวน 57,904 คน ยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้พิจารณาถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี, พ.อ.นที ศุกลรัตน์, พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ, พล.อ.พีระพงษ์ มานะกิจ, นายสุทธิพล ทวีชัยการ, พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า, นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์, น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์, นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ออกจากตำแหน่ง
โดยการถอดถอนครี้งนี้ได้แจ้วเหตุผลว่า 1.กสทช. มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต ในกรณีการจัดประมูลเพื่อการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz หรือ 3 จี ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 โดยหลักเกณฑ์การประมูล 3 จี ที่ได้กำหนดไว้นั้นส่งผลให้ไม่เกิดการแข่งขันและมีลักษณะส่งเสริมการฮั้วประมูลเกิดขั้น เพราะจำนวนคลื่นที่มีอยู่ลงตัวกับจำนวนของผู้เข้าประมูล อีกราคาประมูลตั้งต้นมีเพียง 4,500 ล้านบาท ผลการประมูลทั้ง 9 สล็อต พบว่าเพิ่มจากราคาตั้งต้นที่ 40,500 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นเพียง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ที่มีมูลค่า 41,650 ล้านบาทเท่านั้น และเมื่อเทียบจากราคาประเมิน ทำให้รัฐเสียหายเป็นเงินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาต 15ปี ต้องจ่ายให้รัฐเพียงปีละ 1,000ล้านบาทเท่านั้น
2.มีพฤติการณ์ส่อว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากระบบงบประมาณไม่ผ่านรัฐสภา และมีเงินเพื่อใช้ในองค์กรอย่างมหาศาล อีกทั้งมีอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการสื่อวิทยุ ทีวีในการออกใบอนุญาตทำให้มีอิทธิพลอย่างมากต่อสื่อมวลชน
3.มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่ง ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1GHz พ.ศ.2555 ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรคสาม เพราะไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
4.ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายโดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 โดยใช้กฎหมายไม่มีความเสมอภาค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าบุคคลย่อมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม นอกจากยังมีพฤติกรรมส่อว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยจงใจละเว้นการอนุญาตการใช้คลื่นความถี่และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมให้กับสถานีวิทยุที่ทดลองออกอากาศ และจงใจไม่ออกระเบียบหรือประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตกิจการกระจายเสียงประเภทบริการชุมชนให้ครอบคลุมตามกฎหมาย
ด้านนายนิคม กล่าวว่า ตนจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดจากสำนักทะเบียนกลาง ส่งให้ ก.ก.ต.ตรวจสอบการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ก่อนที่จะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไปถ้ามีมูลก็จะส่งให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอนต่อไป ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน แต่เนื่องจากมีรายชื่อจำนวนมากตนคงต้องขอขยายเวลาออกไป.
**สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร้องหวั่นฮั้ว
ที่รัฐสภา น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อน.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบการดำเนินการจัดประมูล 3 จี ใน 3 ประเด็น
1.การกระทำของ กสทช.อาจก่อให้เกิดการฮั๊วประมูลตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือไม่
2.มาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การกำหนดเงื่อนไขการให้บริการ การประกาศสัญญามาตรฐานในการให้บริการ ราคาค่าบริการที่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคหรือไม่เพราะผลการประมูลเอื้อประโยชน์กับผู้ให้บริการราคาต่ำกว่าทรัพย์สิน และขอให้ตรวจสอบ
3.แนวทางในการกำหนดกติกาที่ชัดเจนในการให้ผู้ประมูลหรือผู้รับใบอนุญาตในอนาคตใช้โครงข่ายร่วมกัน
ซึ่งประธานกรรมาธิการได้มอบให้อนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาเป็นประธานไปศึกษารายละเอียดและเสนอรายงานกลับสู่ที่ประชุมกรรมาธิการฯโดยเร็วที่สุด
**กลุ่มกรีนรอฟังคำสั่งคดีที่ฟ้องก่อนหน้า
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มการเมืองสีเขียว (กลุ่มกรีน) เปิดเผยว่า วันนี้ได้ตัดสินใจจะไม่ไปศาลปกครองกลางเพื่อยื่นคำฟ้องเพิ่มเติม กรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันนี้จะนัดประชุมเพื่อลงมติรับรองผลการประมูลใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ไลเซ่นส์) 3 จีบนย่านความถี่ 2.1 GHz โดยจะขอรอฟังคำสั่งในคดีที่ได้ยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ก่อน
"หากไปยื่นฟ้องซ้ำอีก อาจมองดูไม่ดีเท่าไหร่ เพราะศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในคำฟ้องก่อนหน้านี้เลย"นายสุริยะใสระบุ
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสุริยะใสได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ดังกล่าวในวันที่ 16 ต.ค. พร้อมทั้งขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะยังไม่ให้ไต่สวนฉุกเฉิน
วันเดียวกันศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและจำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 2656/2555 ของพล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ และคดีหมายเลขดำที่ 2644/2555 ของสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภคกับพวก