xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.กับการประมูลคลื่น 3 จี อีกครั้งหนึ่งของการขายทรัพย์สินชาติในราคาถูกๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ว่าพันเอกเศรษฐพงษ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. และนายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.จะอ้างเหตุผลอะไรมาอธิบายว่า การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3 จีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นไปอย่างถูกต้องโปร่งใส กสทช.ไม่ได้เป็นผู้จัดให้มีการฮั้วประมูลอย่างที่ถูกกล่าวหา

แต่ผลการประมูลที่ออกมานั้น ไม่สามารถลบภาพการฮั้วที่มี กทค.เป็นโต้โผใหญ่จัดฉากให้ออกไปได้ก่อนหน้านี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช.ออกแบบการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายคือเอไอเอส ดีแทค และทรู โดยการทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน มิหนำซ้ำยังตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตหรือ 1 ย่านคลื่นความถี่ 5 เมกะเฮิรตซ์ เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินที่ กสทช.จ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยทำการศึกษา โดยราคาประเมินที่ศึกษาไว้คือ 6,440 ล้านบาท

ความเห็นและข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ แห่งทีดีอาร์ไอ ไม่สู้จะได้รับความสนใจเท่าไรนัก เพราะกระแสโฆษณาชวนเชื่อจาก กสทช.ที่ว่า 3 จีจะนำความเจริญรุ่งเรื่องมาสู่สังคมไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเสียหายจากการไม่มี 3 จีใช้ เป็นมูลค่านับแสนล้านบาท หากไม่สามารถประมูล 3 จีครั้งนี้ได้ ประเทศไทยจะล้าหลังที่สุดในโลก กลบเสียงทักท้วงจากนักวิชาการที่เห็นว่า กสทช.กำลังทำหน้าที่จัดให้มีการฮั้วประมูล 3 จีไปจนหมดสิ้น

ต่อเมื่อผลการประมูล 3 จีปรากฏออกมา ผู้คนจำนวนใม่น้อยจึงเริ่มมองเห็น และเข้าใจในสิ่งที่นายสมเกียรติติติงทักท้วงไว้ก่อนหน้านี้อย่างเห็นภาพชัด

คลื่นความถี่ 3 จี ที่นำออกประมูลครั้งนี้มีขนาด 45 MHz ถูกซอยออกเป็น 9 ย่านคลื่นความถี่ หรือ 9 สล็อต 1 สล็อตเท่ากับ 1ใบอนุญาต มีขนาด 5 MHz ผู้เข้าประมูล 1 ราย จะได้รับใบอนุญาตไม่เกิน 3 ใบหรือเท่ากับ 15 MHz

ประเทศไทย มีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลือนที่ 3 ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู ด้วยขนาดของตลาดและวิวัฒนาการของธุรกิจที่ทั้งสามรายนี้อยู่ในตลาดมานานแล้ว มีฐานลูกค้าที่มั่นคง มีบริการที่มีคุณภาพ มีการแข่งขันกันในเรื่องราคาและบริการ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยจึงมีโครงสร้างที่เป็นการผูกขาดตามธรรมชาติ โดยผู้ประกอบการเพียง 3 รายนี้เท่านั้น เป็นเรื่องที่ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีผู้ประกอบการรายที่ 4 รายที่ 5 เข้ามาในตลาด

คณะกรรมการ กสทช.และคณะกรรมการ กทค.ก็รู้อยู่แก่ใจว่าประเทศไทยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 3 ราย ในวันนี้และในอนาคต ก็จะมีเพียง เอไอเอส ดีแทค และทรูเท่านั้น แต่ก็ยังเจตนากำหนดกติกาการประมูลให้ประมูลใบอนุญาตพร้อมกันทีเดียว 15 ใบ โดยแต่ละรายจะได้ใบอนุญาตไม่เกิน 3 ใบ ซึ่งเป็นการตัดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการแข่งขัน เอไอเอส ดีแทค และทรูไม่ต้องแช่งขันแย่งคลื่น 3 จีกัน เพราะ กติกาการการประมูลของ กสทช.เป็นใบรับประกันว่า ทุกรายจะได้คลื่น 3 จีรายละ 15 MHz เท่ากัน

ในการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3 จีครั้งที่แล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มี กสทช. มีแต่ กทช. หรือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กทช.ให้มีการประมูลแบบ N-1 คือ จำนวนใบอนุญาตมีน้อยว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบ ในครั้งนั้น กทช.นำใบอนุญาตออกประมูลรอบแรกเพียง 2 ใบให้เอเอสไอ ดีแทค และทรู แข่งขันประมูล ใครแพ้จะถูกคัดออก ต้องรอประมูลรอบที่สอง ทำให้ทรู เคลื่อนไหวโจมตีการประมูลอย่างหนัก โดยใช้ประเด็นว่า กติกาการประมูลเช่นนี้ จะเปิดทางให้ต่างชาติซึ่งมีเงินมากกว่า เข้ามายึดคลื่น 3 จีของคนไทยไป

แต่ในการประมูลครั้งนี้ ที่ กทค.ออกแบบการประมูลไม่ให้มีการแข่งขัน เอไอเอส ดีแทค และทรูได้ใบอนุญาตรายละ 3 ใบ 15 MHz เท่ากัน แน่นอน ปิดปากทรูให้สงบปากสงบคำได้อย่างชะงัด

นอกจากจะออกแบบการประมูลที่เป็นใบรับประกันว่าทุกค่ายได้เท่ากันหมดแล้ว กทค.ยังตั้งราคาคลื่น 2 จีไว้ถูกๆ แค่ 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ย่านความถี่ 5 MHz อาจจะเป็นราคา 3 จีที่ถูกที่สุดในโลกก็ได้

ในการประมูลครั้งนี้ กสทช.จัดฉากสร้างภาพการประมูลราวกับเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากใช้ระบบไอที กล้องวงจรปิด ตรวจสอบการเคาะราคาแล้ว ยังมีการใช้ทหารตำรวรรักษาความปลอดภัย เพื่อสร้างภาพว่า มีการป้องกันไม่มีมีการส่งสัญญาณสมรู้ร่วมกันของผู้เข้าร่วมประมูลอย่างรอบด้าน

แต่ผลการประมูลที่ออกมาในวันนั้น ใบอนุญาตที่มีการประมูล 9 ใบ มีการเคาะราคาสูงกว่าราคาที่ กสทช.ตั้งไว้ 4,500 บาท เพียง 3 ใบเท่านั้น เป็นการเคาะราคาของเอไอเอสเพียงรายเดียวทั้ง 3 ใบ ในราคาเพียง 14,625 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละ 4,875 ล้านบาท สูงกว่า ราคาตั้งต้นเพียง 300 กว่าล้านบาทนั้น ส่วนดีแทค และทรู เสนอราคาเดียวทั้ง 6 ใบ คือ ใบละ 4,500 ล้านบาทเท่ากับที่ กสทช.ตั้งไว้

ทั้งนายเศรษฐพงศ์และนายสุทธิพล พยายามอ้างถึงความโปร่งใส ไม่มีการฮั้วกัน โดยระบุว่าสามารถตรวจสอบข้อมูลการเคาะราคาได้ แต่ การประมูลในวันที่ 16 ตุลาคมนั้น เป็นเพียงปาหี่ที่ กสทช. จัดฉากขึ้นมาเท่านั้น การประมูลในวันนั้น ไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะ กสทช. ได้สร้างกติกาที่ทำให้เอไอเอส ดีแทค และทรู ไม่ต้องแข่งขันกัน และยังได้คลื่นความถี่ 3 จีไปในราคาถูกๆ ด้วย ราคาประมูลใบอนุญาต 9 ใบ รวม 41,625 ล้านบาทนั้น ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ด้วยการเขียนกติกาและการตั้งราคาของ กสทช.เอง

ทั้งนายเศรษฐพงศ์และนายสุทธิพลต่างอ้างว่า การตั้งราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 1 ย่านคลื่นความถี่นั้น เป็นไปตามข้อเสนอ ในรายงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เสนอให้ตั้งราคาขั้นต่ำในอัตรา 67% ของราคาใบอนุญาต 6,440 ล้านบาท แต่สิ่งที่นายเศรษฐพงศ์และนายสุทธิพลไม่ได้พูดคือ ในรายงานฉบับเดียวกันนี้ ระบุว่า การกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลต้องคำนึงถึง 1.รายได้ที่ภาครัฐได้รับต้องเหมาะสมจากค่าเช่าทางเศรษฐกิจ 2.ผู้บริโภคควรได้รับการบริการที่มีคุณภาพ และราคาเป็นธรรม และ 3.ผู้ให้บริการราคาเริ่มต้นที่กำหนดขึ้น ควรอยู่ในระดับที่ทำให้การประมูลสำเร็จลุล่วง และผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนสูงเพียงพอที่จะจูงใจให้มีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยี่อย่างต่อเนื่อง

สรุปคือ ราคาเริ่มต้นไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป หากต่ำเกินไปและมีผู้เข้าร่วมประมูลไม่มาก อาจจะเกิดปัญหา Collusion (ฮั้ว) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดเผลดีต่อรายได้ของรัฐและผลประโยชน์ของผู้บริโภค หากสูงเกินไปอาจไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลจนทำให้การประมูลไม่สัมฤทธิ์ผล

การกำหนดราคาขั้นต่ำ 67 % ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น (6,440ล้านบาท) นั้น หาก กสทช.ออกแบบการประมูลให้มีการแข่งขันกันจริง ตามธรรมชาติของการประมูลราคาย่อมจะต้องเพิ่มสูงขึ้นไปกว่าราคาเริ่มต้น จนใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาประมูล

แต่การที่ กสทช.เขียนกติกาให้เอไอเอส ดีแทค และทรู แบ่งๆ คลื่น 3 จี ไปรายละ 15 MHz เท่ากัน ทำให้ราคาประมูลที่รัฐควรจะได้ต่ำกว่าราคาประเมินถึง 16,000 ล้านบาท

ในอดีต เมื่อมีการตั้ง ปรส.ประมูลขายสินทรัพย์ของบริษัทไฟแนนซ์ ให้ต่างชาติไปในราคาที่ราคาที่ต่ำมาก ต่อมา ในสมัยรัฐบาลทักษิณมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยการนำ ปตท. เข้าตลาดหุ้น ตั้งราคาไอพีโอเพียงหุ้นละ 30 บาท

การประมูลคลื่น 3 จี ครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ทรัพย์สินของชาติ ถูกนำออกขายในราคาถูกๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น