xs
xsm
sm
md
lg

“อารีพงศ์” เร่งสยบประเด็นร้อน “สุภา” ทิ้งบอมบ์ 3G ถล่มทุนมือถือใหญ่หวิดหัวทิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง
“สุภา” ทิ้งบอมบ์ 3G ส่อฮั้วทุจริตทำเอาสะเทือนกันทั้งวงการ “อารีพงศ์” เร่งสยบประเด็นร้อนไม่ให้ลุกลาม ยันเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว ไม่มีผลทาง กม. เพราะหน่วยงาน กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.) ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยท้วงติงว่า ขั้นตอนการประมูลประมูลคลื่นความถี่ 3จี อาจเกิดการฮั้วประมูลนั้น เรื่องดังกล่าวถือเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงไม่มีผลตามกฎหมายได้

นายอารีพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสทช. ถือเป็นองค์กรอิสระ มีกฎระเบียบควบคุมอยู่แล้ว โดยในข้อสังเกตที่ กวพ. ระบุว่า การประมูลดังกล่าว ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริงตามขั้นตอนการประมูลว่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะส่อเค้าให้เห็นถึงการสมยอมราคากันอย่างชัดเจน ซึ่งเชื่อว่า ทาง กวพ. จะชี้แจงรายละเอียดให้ทราบต่อไปในอนาคต

โดยเมื่อเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2556 น.ส.สุภา ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลใบอนุญาต 3จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ แบ่งเป็น 9 สล็อตๆ ละ 5 เมกะเฮิรตซ์ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นที่สล็อตละ 4,500 ล้านบาท ซึ่งมีภาคเอกชนผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายเดิม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) โดยทั้ง 3 บริษัทได้จัดตั้งบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูล

ผลปรากฏว่า บริษัทในเครือเอไอเอส ซึ่งก็คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เป็นผู้เสนอราคาเพียงเจ้าเดียวในการประมูล รวมเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ขณะที่บริษัทในเครือดีแทค ซึ่งก็คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ ในเครือของทรู ไม่มีการเสนอราคาเพิ่มจากราคาเริ่มต้นที่ กสทช.กำหนดไว้ คือ สล็อตละ 4,500 ล้านบาทแต่อย่างใด แต่ทั้งสองบริษัทกลับได้สิทธิ และได้รับใบอนุญาตในอีก 6 สล็อตที่เหลือ

จากผลการประมูลดังกล่าวที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประมูลที่เกิดขึ้น เป็นไปตามข้อร้องเรียน และข้อคัดค้านของหลายฝ่ายที่พยายามจะคัดค้านให้ กสทช.ปรับหลักเกณฑ์ก่อนการประมูล แต่ กสทช.ไม่ได้ปรับแก้ ยังคงเดินหน้าประมูลโดยไม่สนใจข้อร้องเรียนของทุกฝ่าย

ดังนั้น ตนซึ่งมีหน้าที่ และความรับผิดชอบ รวมถึงประสบการณ์ด้านการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวของ กสทช. และผู้เข้าร่วมประมูล 3จี ดังกล่าวว่ามีพฤติกรรม หรือการกระทำที่ส่อไปในทางร่วมมือกันทุจริตต่อผลประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐ คือ คลื่นความถี่ ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องอย่างใดหรือไม่ ในประเด็นดังต่อไปนี้

1.กสทช.มีการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลใบอนุญาต 3จี ในแนวทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

2.รูปแบบ และวิธีการประมูลแบ่งเป็น 9 สล็อต ที่ กสทช.กำหนดขึ้น ถือเป็นการประมูลแบบใหม่ โดยไม่มีการอ้างอิงมาตรฐานการประมูลจากที่ใด หรือกฎ ระเบียบ ข้อบังคับใดๆ ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 2 รายไม่มีการเสนอราคาเพิ่มเติม ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน ถือเป็นความผิดมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า

เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้ใด โดยทุจริตทำการออกแบบกำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือไม่

3.การที่บริษัทที่เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 คือ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ไม่เคาะเสนอราคาเพิ่มเติมจากราคาเริ่มต้นที่ กสทช.กำหนดไว้ คือ สล็อตละ 4,500 ล้านบาท คือ เป็นการร่วมกันกระทำความผิด ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า

“ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้า หรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันไม่ใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า”


กำลังโหลดความคิดเห็น