“นพ.ประวิทย์” เผย พฤติการณ์เคาะราคาประมูล 3จี เอกชนอย่างน้อย 1 ราย ส่อเจตนาไม่สู้ราคา ยืนยันมีผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แน่นอน แต่ยังไม่สรุปว่าเป็นเอกชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกแบบการประมูล พร้อมแฉมีเจตนากีดกันไม่ให้ตนรับทราบข้อมูลสิ่งผิดกฎหมายใน กสทช.ชี้ พิรุธ เอไอเอส นัดจ่าย 7 พันล้าน หลังทราบผลไม่ถึง 24 ชม.เร็วผิดปกติ วงในแฉเตรียมใบอนุญาตไว้รอเซ็นล่วงหน้า ทั้งที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสียงข้างน้อยที่ไม่รับรองการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3จี ให้สัมภาษณ์รายการ “ยามเช้าริมเจ้าพระยา” ทางเอเอสทีวี วันนี้ (19 ต.ค.) ว่า สาเหตุที่ลงมติไม่รับรองผลการประมูลในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวานนี้ เนื่องจากเห็นว่าการประมูลครั้งนี้อาจจะผิด พ.ร.บ.ฮั้ว เนื่องจากผลการประมูลปรากฏชัดเจนว่า 6 ชุดความถี่จาก 9 ชุด จบที่ราคาตั้งต้น ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งความเห็นตรงนี้ แม้แต่บุคคลภายใน คือ กระทรวงการคลัง เห็นลักษณะนี้ จนมีหนังสือมาถึงสำนักงาน กสทช.เมื่อวาน ว่า อันที่หนึ่งปริมาณคลื่นมีพอดี ลงตัวกับปริมาณผู้ประกอบการ อันที่สองการสู้ราคาจบเพียงไม่กี่รอบ และไม่เพิ่มราคา
“ผมจึงขอดูว่า พฤติการณ์การเคาะราคามีเจตนาไม่แข่งขันด้านราคาหรือไม่ ข้อมูลตรงนี้ ทางสำนักงานไม่สามารถเปิดเผยมาให้ผมได้มาโดยตลอด จนแม้กระทั่งการลงมติในที่ประชุม กรรมการเสียงข้างมากลงมติ โดยไม่เห็นข้อมูลนี้ จนผมเป็นคนสุดท้าย ผมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การลงมติโดยไม่เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ จะทำให้มติคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติคำสั่งทางปกครอง ต้องมีข้อเท็จจริงครบถ้วน”
นพ.ประวิทย์ กล่าวต่อว่า ความเห็นของที่ปรึกษา ความเห็นของสำนักงาน กสทช.ยืนยัน ในที่สุดที่ประชุมจึงยอมเปิดเผยพฤติการณ์การเคาะราคาให้ทราบ พฤติการณ์การเคาะราคาที่ตนเห็น ปรากฏชัดเจนว่า มีเอกชนอย่างน้อย 1 ราย มีเจตนาไม่สู้ราคา โดยมีลักษณะที่ยื่นประมูล จากสิทธิที่ได้ 3 ชุดคลื่นความถี่ ยื่นเพียง 2 ชุด ซึ่งเป็นการกันให้เกิดชุดว่าง ทำให้ดูเสมือนว่า มีของเหลือมากกว่าความต้องการ ราคาจะไม่ขึ้น ตรงนั้นชัดเจนอย่างยิ่งว่า ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ตนจึงลงมติไม่เห็นชอบกับการประมูล
นพ.ประวิทย์ ย้ำว่า เมื่อตนเห็นข้อมูลแล้ว ต้องบอกว่า โอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ส่วนใครจะผิดต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน อันที่หนึ่งเอกชนทำลักษณะนี้ผิดกติกาเราหรือไม่ ถ้าผิดกติกาเอกชนผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ถ้าไม่ผิดกติกาแสดงว่า การออกแบบกติกาบกพร่องจะเป็นเรื่องของผู้ผิด พ.ร.บ.ฮั้ว เมื่อวานนี้ สำนักงานยืนยันว่า สำนักงานไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ถ้าจะผิดต้องไปดูที่เอกชน แต่เมื่อเราดูพฤติการณ์การเคาะราคา ปรากฏชัดเจนว่า น่าจะมีการกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ยังไม่ได้สรุปว่า เป็นที่เอกชนลงมือ โดยการออกแบบที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่สรุปว่าน่าจะมีการกระทำผิดแน่นอน
คำต่อคำ นพ.ประวิทย์ ให้สัมภาษณ์ “ยามเช้าริมเจ้าพระยา”
พิธีกร- กลับมาติดตามข่าวกันต่อนะคะ ช่วงนี้เราไปจะไปพูดคุยกันทางโทรศัพท์กับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ที่เมื่อวานนี้เป็นหนึ่งเสียง ที่ไม่ลงมติรับรองการประมูล 3จี ที่ผ่านมา สวัสดีคะคุณหมอคะ
ประวิทย์- สวัสดีครับ
พิธีกร- ถามถึงเป็นที่ทราบกันแล้วคะว่า ทางคุณหมอประวิทย์นั้น เป็นหนึ่งเสียงที่ไม่ลงมติรับรอง อยากจะทราบเหตุผลว่า ที่มาที่ไปในการประชุมเมื่อวานนี้ ที่ทำให้เป็นหนึ่งเสียงที่ไม่ลงมติรับรองเมื่อวานนี้ เป็นอย่างไรคะ
ประวิทย์- คือ ผมมีประเด็นตั้งข้อสังเกตว่า การประมูลครั้งนี้ จะผิด พ.ร.บ.ฮั้วหรือไม่ครับ เนื่องจากผลการประมูลปรากฏชัดเจนว่า 6 ชุดความถี่จาก 9 ชุด จบที่ราคาตั้งต้นไม่มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งความเห็นตรงนี้ ต้องเรียนอย่างนี้นะครับ แม้แต่บุคคลภายในคือ กระทรวงการคลังเห็นลักษณะนี้ จนมีหนังสือมาถึงสำนักงาน กสทช.เมื่อวานครับว่า อันที่หนึ่งปริมาณคลื่นมีพอดี ลงตัวกับปริมาณผู้ประกอบการ อันที่สองการสู้ราคาจบเพียงไม่กี่รอบ และไม่เพิ่มราคา ท่านก็มีข้อสังเกตมา ความเห็นผมก็ตรงกัน ผมจึงขอดูว่า พฤติการณ์การเคาะราคามีเจตนาไม่แข่งขันด้านราคาหรือไม่ ข้อมูลตรงนี้ ทางสำนักงานไม่สามารถเปิดเผยมาให้ผมได้มาโดยตลอด จนแม้กระทั่งการลงมติในที่ประชุม กรรมการเสียงข้างมากลงมติ โดยไม่เห็นข้อมูลนี้ จนผมเป็นคนสุดท้าย ผมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า การลงมติโดยไม่เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญ จะทำให้มติคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติคำสั่งทางปกครอง ต้องมีข้อเท็จจริงครบถ้วน
หลายท่านบอกว่า ความเห็นของที่ปรึกษา ความเห็นของสำนักงานยืนยัน ผมเรียนให้ทราบว่า ความเห็นเป็นเพียงความเห็น ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริงครับ ฉะนั้นในที่สุดที่ประชุมจึงยอมเปิดเผยพฤติการณ์การเคาะราคาให้ผมทราบ พฤติการณ์การเคาะราคาที่ผมเห็น ปรากฏชัดเจนว่า มีเอกชนอย่างน้อย 1 ราย มีเจตนาไม่สู้ราคา โดยมีลักษณะที่ยื่นประมูลนะครับ จากสิทธิที่ได้ 3 ชุดคลื่นความถี่ ยื่นเพียง 2 ชุด ซึ่งเป็นการกันให้เกิดชุดว่าง ทำให้ดูเสมือนว่า มีของเหลือมากกว่าความต้องการ ราคาจะไม่ขึ้น ตรงนั้นชัดเจนอย่างยิ่งว่า ไม่มีการแข่งขันด้านราคา ผมจึงลงมติไม่เห็นชอบกับการประมูลครับ
พิธีกร- ฉะนั้น หมอลี่ สรุปไหมคะว่า นี่คือ อย่างที่บอกย้อนกลับมาตอนแรกคือคิดว่า คิดว่าน่าจะผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ใช่ไหมคะ
ประวิทย์- เมื่อเห็นข้อมูลแล้ว ต้องบอกว่าโอกาสสูงอย่างยิ่งที่จะผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ครับ
พิธีกร- ส่วนใครคะ ที่จะผิด พ.ร.บ.ฮั้ว เป็นผู้ประกอบการที่ไปประมูล หรือจะเป็นในส่วนของทางเจ้าหน้าที่เองที่เอื้อให้เกิดการประมูล ที่ตอนนี้เขาถกเถียงกันอยู่นี่คะ
ประวิทย์- ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน อันที่หนึ่งเอกชนทำลักษณะนี้ผิดกติกาเราหรือไม่ ถ้าผิดกติกา เอกชนผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ถ้าไม่ผิดกติกาแสดงว่า การออกแบบกติกาบกพร่อง จะเป็นเรื่องของผู้ออกแบบกติกาที่เป็นผู้ผิด พ.ร.บ.ฮั้ว
พิธีกร- คือ ต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่า เป็นเอกชนหรือเปล่า ที่ทำในส่วนของ 1 รายใช่ไหมคะ
ประวิทย์- คือ เมื่อวานนี้ สำนักงานยืนยันว่า สำนักงานไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ถ้าจะผิดต้องไปดูที่เอกชน แต่เมื่อเราดูพฤติการณ์การเคาะราคา ปรากฏชัดเจนว่า น่าจะมีการกระทำผิด พ.ร.บ.ฮั้ว แต่ยังไม่ได้สรุปว่า เป็นที่เอกชนลงมือ โดยการออกแบบที่เอื้อประโยชน์ให้เอกชน จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่สรุปว่าน่าจะมีการกระทำผิดแน่นอนครับ
พิธีกร- แล้วหนังสือจากกระทรวงการคลังที่ส่งไป คือ ตอนนี้ถึงมือของ กสทช.หรือยังคะ
ประวิทย์- ต้องเรียนให้ทราบว่า ไม่ทราบครับ เพราะโดยหลักแล้วหนังสือสำคัญทั้งหลาย ผมจะไม่ได้รับ แม้แต่ยกตัวอย่างนะครับ กรณีที่ทางกรรมาธิการวุฒิสภาสมัยที่ตรวจสอบสัญญาระหว่างบรษัท ทรู กับ กสท.ท่านส่งมาถึง กสท.ตั้งนานแล้ว ผมก็ไม่ได้รับเป็นเดือน จนผมต้องทวงถาม เอกสารชิ้นนี้เช่นเดียวกันครับ ผมไม่มีวันได้รับ ถ้าผมไม่ทวงถาม จึงไม่สามารถทราบได้ว่า ตกลงตอนนี้มันอยู่ในชั้นไหนครับ
พิธีกร- มันเป็นกฎของทางคณะกรรมการหรือคะ จะได้รับเพียงบางคน
ประวิทย์- อยู่ที่ดุลพินิจของผู้รับจดหมาย หรือสำนักงานครับ เพราะว่าหนังสือส่วนใหญ่จะส่งถึงไม่เลขาธิการก็ท่านประธาน และอยู่ที่ว่ากระบวนการของสำนักงาน จะยอมส่งให้กรรมการผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ ที่ผ่านมาผมต้องทวงถามเกือบทุกเรื่องครับ
พิธีกร- ดูอย่างนี้เหมือนมีปัญหากันภายในหรือเปล่าคะ สำหรับการทำงานประสานกัน
ประวิทย์- มีปัญหาการไม่เปิดเผยข้อมูลต่อผมครับ แม้แต่กรณีที่คณะทำงานสำนักงานสรุปความผิดทางกฎหมายของบางบริษัท ในการทำสัญญาระหว่างบีเอซีที กับ กสท.นะครับ ผมทำเรื่องทวงถามถึง 2 ครั้ง ไม่ได้รับทราบข้อมูล ดังนั้น สังเกตได้ว่า มีเจตนาที่จะกีดกันไม่ให้ผมรับทราบข้อมูล สิ่งที่ผิดกฎหมายในสำนักงาน กสทช.ครับ
พิธีกร- ถ้าอย่างนั้นถามถึงความเห็นส่วนตัวของคุณหมอเลยนะคะว่า เป็นที่ทราบกันว่า คุณหมอเห็นว่าพฤติการณ์ของการเคาะราคาในการประมูล ส่อว่าน่าจะมีการฮั้ว มีเจตนาที่ไม่แข่งขัน และก่อนหน้านี้คุณหมอเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์การประมูล ที่เพิ่งจะประมูลไปเมื่อวันที่ 16 ด้วย คุณหมอจะรับ เขาเรียกว่าจะแสดงท่าที หรือว่าจะทำตามอย่างที่นักวิชาการเรียกร้องไหมคะว่า กสทช.ต้องออกมารับผิดชอบเรื่องนี้ คุณหมอเห็นว่าอย่างไรคะ
ประวิทย์- คือ อันที่หนึ่ง หน้าที่ผม คือ ต้องทำหน้าที่บันทึกสงวนความเห็นเป็นทางการ เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริง ในกรณีที่หน่วยงานตรวจสอบ จะสามารถตรวจสอบต่อได้ ผมยกตัวอย่างนะครับ ข้อมูลพฤติการณ์การเคาะราคาเมื่อวานนี้ น่าแปลกใจอย่างยิ่งนะครับ ทางสำนักงาน กสทช.ไม่มีเก็บไว้ ผู้ที่เก็บไว้ในลักษณะล็อกไฟล์ หรือบริษัทเอกชนต่างประเทศอเมริกา ที่เราจ้างมาเป็นที่ปรึกษา แล้วในเบื้องต้นสำนักงานแจ้งกับผมอย่างไม่เป็นทางการว่า ถ้าเขาบินกลับไป ข้อมูลนี้จะกลับไปกับเขาด้วย ทางเราจะไม่มีครอบครอง ซึ่งผมได้ทักท้วงว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นข้อมูลสำคัญ ในการที่จะให้ ป.ป.ช.หรือหน่วยงานตรวจสอบมาตรวจสอบ ถ้าไม่มีข้อมูลตรงนี้ เท่ากับหลักฐานมันหายไปหมด
ดังนั้น ตรงนี้ หน้าที่ผมคือ ทำหลักฐานให้คงอยู่มากที่สุด เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบสามารถตรวจสอบได้ ในส่วนของความรับผิดชอบ ผมเห็นด้วยกับทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่า ควรมีคนรับผิดชอบ แต่คนที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ต้องรับผิดชอบครับ
พิธีกร- นั้นหมายถึงทางคณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คนเลยไหมคะ
ประวิทย์- ต้องดูว่า พฤติการณ์การดำเนินการ ใครบ้างทำให้เกิดความเสียหายครับ แต่ถ้าสมมุติทั้ง 11 ท่าน ท่านบอกว่าไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเสียหาย คงไม่มีใครรับผิดชอบครับ
พิธีกร- พูดถึงเรื่องของใบอนุญาตตอนนี้ดีกว่าว่า หลังจากที่เคาะออกมาเมื่อวานนี้แล้ว มติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 1 คืออันนี้เป็นเบื้องต้น ในส่วนของการรับรองส่วนของการประชุม แต่ว่าที่เอกชนเขาจะได้ใบประมูลจริงๆ ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ใช่ไหมคะ
ประวิทย์- เมื่อวานนี้ ทางท่าน กทค.ที่ดูแลด้านกฎหมาย ยืนยันว่า ไม่ต้องครับ ไม่ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ แล้วเมื่อวานดูเสมือนหนึ่งมีการตระเตรียมอะไรเป็นพิเศษ เพราะมีการประชุม กทค.ตั้งแต่ 11.00-15.00 น.โดยไม่มีการพักรับประทานอาหารเที่ยง แล้วจากประชุมเสร็จ มีมติเสร็จ บริษัทเอกชนได้รับหนังสือแจ้งรับรองผลการประมูล วันนี้เอเอสไอนัดว่า จะเอามาชำระ 7,000 ล้านบาท ที่สำนักงาน กสทช.ซึ่งถือว่า เป็นการทำหน้าที่อย่างรวดเร็วมาก หลังประชุมไม่ทันไร เอกชนได้รับหนังสือ และเตรียมเงินมาจ่ายภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง
พิธีกร- คือ คุณหมอดูว่า ขั้นตอนมันดูรวบรัดหรือคะ
ประวิทย์- ดูรวดเร็วผิดปกติ เพราะโดยปกติสำนักงาน กสทช.กว่าจะไปสรุปมติที่ประชุม กว่าจะทำหนังสือออก โดยปกติอย่างเร็วจะออกหนังสือวันนี้นะครับ แต่เมื่อวานนี้หนังสือไปถึงมือแล้วหรืออย่างไร เอเอสไอ ถึงเอาเงินมาจ่ายให้ 10.00 น.วันนี้ได้เลย แล้วทำไมเจ้าอื่นถึงไม่ได้รับหนังสือ เจ้าอื่นถึงไม่เอาเงินมา มีการตระเตรียมเฉพาะบางรายหรือไม่อย่างไรครับ
พิธีกร- คือ มติของ กทค.เมื่อวานนี้ ไม่ต้องเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ กสทช. 11 คน แค่ให้รับทราบเท่านั้น และตอนนี้คือหนังสือ เรื่องของการออกใบอนุญาตถึงมือเอไอเอสแล้ว
ประวิทย์- หนังสือแจ้งให้ไปชำระเงิน ใช่ครับ
พิธีกร- การชำระเงินหมายถึง จะได้รับใบอนุญาตเลยหรือไม่คะ ถ้าสมมติว่ามาชำระ ชำระรอบแรก
ประวิทย์- โดยหลักที่ผมสอบถามสำนักงาน คือ เมื่อชำระแล้วจะมีการตรวจสอบความถูกต้อง น่าจะออกใบอนุญาตได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.บางคน เปิดเผยว่า ใบอนุญาตได้เตรียมไว้แล้ว รอเพียงการลงนาม ซึ่งผมรู้สึกว่า อันที่หนึ่งหลังประชุมเสร็จ ในการเตรียมหนังสือแจ้งล่วงหน้าก็ประหลาดผิดปกติ อันที่สองใบอนุญาตถ้าเตรียมไว้ล่วงหน้าก็ประหลาดผิดปกติเช่นเดียวกันครับ
พิธีกร- เรื่องของทางหนังสือที่ทางกระทรวงการคลังนะคะ ได้มีการส่งหนังสือไปด่วนมาก รองปลัดกระทรวงการคลังส่งไปถึง กสทช.ว่า การประมูลวันที่ 16 ที่ผ่านมาถือว่า น่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ฮั้ว แล้วมันอาจจะทำให้เกิดการผิดระเบียบการประมูลอี-ออกชั่น มันจะมีผลต่อการออกใบอนุญาตกับเอกชนทั้ง 3 รายไหมคะ
ประวิทย์- ต้องเรียนให้ทราบว่า สำนักงาน กสทช.เป็นหน่วยงานอิสระนะครับ ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบอี-ออกชั่น แต่ว่าอย่างไรเสียต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฮั้ว ดังนั้นข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง ว่า อาจจะเข้าข่ายขัด พ.ร.บ.ฮั้ว เนื่องจากไม่มีการแข่งขันด้านราคา คงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการสืบสวนสอบสวน และหาผู้รับผิดต่อไป แต่กระบวนการออกใบอนุญาต ถ้าไม่มีคำสั่งศาลคงต้องเดินหน้าต่อไปครับ
พิธีกร- เพราะว่าเป็นองค์กรอิสระ ฉะนั้นอันนี้ได้เป็นแค่หนังสือเตือนเท่านั้น
ประวิทย์- หนังสือจริงๆ คือ หนังสือเตือนอย่างสุภาพให้เห็นว่า วิญญูชนทั่วไปรู้ได้ว่า การประมูลครั้งนี้ไม่มีการแข่งขันด้านราคา
พิธีกร- ตอนนี้มีการร้องเรียนจากภาคประชาชนหลายกลุ่มด้วยกัน ที่ให้ถอดถอน กสทช. และแน่นอนว่า อนาคตอาจจะมี เรื่องของการตรวจสอบว่า ผิด พ.ร.บ.ฮั้วประมูล ซึ่งผิดอาญาด้วย ถ้าเกิดมีบางกลุ่มที่จะอยากจะขอข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้จากทางคุณหมอ คุณหมอยินดีไหมคะ
ประวิทย์- ต้องเรียนอย่างนี้ครับ เมื่อวานนี้ประชนชนบางกลุ่มไปยื่นร้องต่อกรรมาธิการทุจริตของวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว และเมื่อวานผมได้รับการประสานงานจากกรรมาธิการว่า จะขอข้อมูลได้หรือไม่ ซึ่งผมก็เรียนท่านไปว่า วุฒิสภาเป็นหน่วยงานตรวจสอบที่ชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจเรียกข้อมูลจากทุกหน่วยงาน ถ้าท่านเรียกมาผมยินดีให้ข้อมูลสนับสนุน เพื่อจะให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏ ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลเฉพาะด้านผมนะครับ ข้อมูลของทุกคนสามารถเอามากาง เพื่อจะดูจิกซอว์ให้เห็นว่า ใครทุจริต หรือใครสุจริตครับ
พิธีกร- ณ ขณะนี้นะคะ ประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนกำลังจับจ้องไปที่เรื่องการทำงานของ กสทช.ว่า ตกลงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ทางคุณหมอลี่ได้พูดถึงว่า มันมีเรื่องของความรวดเร็ว พยายามที่จะรวบรัดในการที่จะให้ใบ ในส่วนของใบอนุญาต ตรงนี้เป็นไปได้ไหมว่า มีการแทรกแซงเกิดขึ้น ในส่วนของ กสทช.จากองค์กรอื่นๆ
ประวิทย์- มันทำให้คิดไปได้เช่นนั้นครับว่า ทำไมมีสัญญาณจากเอกชนบางรายหรืออย่างไร จึงมีการเตรียมไม่ว่าจะเป็นหนังสือแจ้ง หรือใบอนุญาตอย่างรวดเร็ว ขณะที่เอกชนที่ไม่มีการตระเตรียมกัน จะเป็นฝ่ายที่ล่าช้าไปกว่า พูดง่ายๆ โอกาสในการแข่งขันเป็นไม่ได้เลย อย่างเท่าเทียมนะครับ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าฝ่ายหนึ่งมีช่องทางพิเศษกับทางสำนักงาน แต่ฝ่ายที่เหลือไม่มี
พิธีกร- ในส่วนของตัวคุณหมอลี่เอง หรือแม้แต่คุณสุภิญญาเอง จะทำหน้าที่อย่างไรในการเป็นเสียงส่วนน้อยของที่ประชุม กสทช.ในการที่จะทำให้ กสทช.เป็นความหวัง หรือเป็น 11 อรหันต์ของประชาชนจริงๆ ได้บ้างคะ
ประวิทย์- ผมเรียนให้ทราบว่า หน้าที่ของผม คือ แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ต้องเป็นเสียงส่วนน้อยที่มีเหตุผล ไม่ใช่คัดค้านกันเรื่อยไป ดังนั้น สิ่งที่ต้องปรากฏ คือ เหตุผลในการสงวนความเห็นผม ต้องอยู่ในรายงานการประชุม และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อสาธารณะรับรู้รับทราบ แล้วเห็นด้วยกับผม จะเป็นกระแสกดดันกรรมการเสียงข้างมากว่า สิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าสังคมเห็นว่า ผมไม่มีเหตุผล หรือเป็นฝ่ายตัวถ่วงการทำงานของ กสทช. ในที่สุดสังคมจะไม่สนับสนุนผม และสนับสนุนกรรมการเสียงข้างมาก ดังนั้นตรงนี้ผมเรียกร้องให้สังคม ช่วยกันติดตามตรวจสอบความเห็นกรรมการแต่ละท่าน ถ้าเห็นว่าความเห็นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติ ก็ควรลุกขึ้นมากดดันหรือคัดค้านครับ
พิธีกร- วันนี้สอบถามเพียงเท่านี้คะ ขอบพระคุณมากนะคะ สวัสดีคะ นี่เป็นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับทั้งเรื่องของทั้งในส่วนของที่ประชุมเล็ก คือ ไม่ต้องเอาเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่แล้ว สามารถที่จะอนุมัติออกให้ได้