รอง หน.ปชป.เผยมติที่ประชุมพรรค ปชป.เข้าชื่อ ส.ส. 50 คนยื่น ปธ.สภาฯ ส่งให้ศาล รธน.วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. “ยงยุทธ” อดีตรองนายกฯ-รมว.มหาดไทย อ้างพิสูจน์ความถูกต้อง เผยตอนเป็น รมช.มหาดไทยเคยทำหนังสือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ดินอัลไพน์แล้วแต่เพิกเฉย หนำซ้ำ “เสนาะ” ยึดบางมาตราแบบผิดๆ หวังแสวงหาผลประโยชน์
วันนี้ (1 ต.ค.) นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า พรรคมีมติเข้าชื่อ ส.ส.50 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.หรือไม่ ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ ความถูกต้องของกฎหมาย ที่ต้องส่งให้องค์กรตามกฎหมายคือศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเป็นภาระสำคัญของคนที่ทำงานการเมือง เพราะการดำเนินการในฐานะสภานิติบัญญัติไม่ได้บีบให้นายยงยุทธลาออกหรือหมดคุณสมบัติ แต่ต้องการพิสูจน์ความถูกต้องว่า สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) หรือมติคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย ที่ให้คำแนะนำว่านายยงยุทธไม่ขาดคุณสมบัติ และได้รับผลจากกฎหมายล้างมลทินไปแล้วจริงหรือไม่ และยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการเล่นการเมืองแต่อย่างใด
“หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายยงยุทธยังไม่ได้รับคุณจากกฎหมายล้างมลทิน ปี 2530 หรือ 2550 ก็ต้องถามกลับไปว่า นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. หรือนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ทำหน้าที่ประธานในการประชุมขณะนั้นจะตอบคำถามและรับผิดชอบต่อสาธารณะอย่างไร เพราะการเร่งรีบวินิจฉัยก่อนให้องค์กรสูงสุดวินิจฉัย โดยมีจุดมุ่งประสงค์อย่างไรก็พอจะอ่านออก” นายถาวรกล่าว
นายถาวรกล่าวว่า ในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตนได้มีหนังสือ 8 ฉบับถึงปลัดกระทรวงทุกคน ว่าให้ใช้อำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองของนายยงยุทธ เพื่อให้เป็นไปตามที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นธรณีสงฆ์ไปแล้ว ซึ่งปลัดกระทรวงในขณะนั้นก็เพิกเฉยมาโดยตลอด ซึ่งตอนต่อไปตนจะนำที่ดินดังกล่าวมาเป็นของวัดให้ได้ โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองที่สั่งค้างอยู่ให้ที่ดินกลับไปเป็นธรณีสงฆ์
ส่วนการชดเชยให้เอกชนนั้นรัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ โดยต้องไล่เบี้ยกับคนที่ทำผิด อาทิ บริษัทที่รับซื้อรายแรก หรือบริษัทที่ซื้อต่อหากเป็นการซื้อที่ไม่สุจริต ส่วนการดำเนินการนั้นจะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายยงยุทธก่อน จากนั้นตนจะยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งทางปกครองว่าให้ปลัดกระทรวงที่ทำหน้าที่ในปัจจุบันไปเปลี่ยนแปลงคำสั่งของนายยงยุทธว่าอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น เพื่อให้กับไปใช้คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินคนก่อนที่ระบุว่าที่ดินดังกล่าวเป็นธรณีสงฆ์
ทั้งนี้ คนที่ต้องรับผิดชอบในเบื้องต้นคือนายเสนาะ เทียนทอง ในฐานะ รมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดินในขณะนั้น ที่ไม่อนุญาตให้ที่ดินแปลงดังกล่าวตกเป็นของวัดตั้งแต่จดทะเบียน ซึ่งมีการยึดมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งที่มาตรา 84 ตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเพื่อให้รัฐมนตรีมีส่วนอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในการับที่ดินมาเป็นของวัดในกรณีที่ดินยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด เนื่องจากที่ดินบางแปลงอาจมีภาระผูกพันเรื่องการซื้อขาย หรือการครอบครองปรปักษ์ หรือภาวะจำยอม ซึ่งจะทำให้วัดมีปัญหาหากรับที่ดินมา แต่ในกรณีที่ดินอัลไพน์นั้นที่ดินเป็นของวัดโดยอัตโนมัติตามพินัยกรรม หลังจากนางเนื่อม ชํานาญชาติศักดา เสียชีวิต
“การยกเอามาตรา 84 มาอ้างจึงเป็นเจตนาที่ไม่เข้าใจกฎหมาย หรือตั้งใจขายที่ดินวัดให้นักธุรกิจแสวงหาผลประโยชน์เพราะวัดได้เงินจากการขายที่ดิน 140 ล้านบาท หลังจากนั้นก็มีการจำนองในวงเงิน 290 ล้านบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีผลประโยชน์อะไรอยู่ ทั้งนี้จะต้องมีการพิสูจน์ในศาลว่าใครต้องรับผิดชอบบ้าง ส่วนคดีความจะขาดอายุความหรือไม่ต้องดูเป็นรายบุคคลไป อย่างไรก็ตาม คนที่ซื้อที่ดินดังกล่าวที่มีการแบ่งขายประมาณ 200 รายที่ซื้อโดยสุจริต จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” นายถาวรกล่าว