ประธานทีดีอาร์ไอชี้ประมูล 3จี ได้ราคาเพิ่มจากราคาตั้งต้นเล็กน้อยตามคาด แต่รัฐเสียประโยชน์ 1.6 หมื่นล้าน ขณะผู้ประกอบการได้ “ลาภลอย” ค่าใบอนุญาตแสนถูกปีละไม่ถึง 1 พันล้าน แถมได้ลดค่าสัมปทานอีก 4 หมื่นล้านต่อปี แต่ชาวบ้านยังจ่ายค่าบริการเท่าเดิม ตอกย้ำข้อครหา กสทช.สมคบค่ายมือถือ จี้รับผิดชอบต่อความเสียหาย พร้อมวอนหน่วยงานรัฐสอบ
วันนี้ (16 ต.ค.) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Somkiat Tangkitvanich ต่อการประมูล 3G ของกรรมการกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสาร (กสทช.) ในวันนี้ว่า ผลการประมูลคลื่น 3G เป็นไปตามที่คาดหมายของตน คือ ได้ราคาเพิ่มขึ้นจากราคาตั้งต้นเพียงเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 2.8 เท่านั้น คือเพิ่มจากราคาตั้งต้นโดยรวม 9 ใบที่ 40,500 ล้านบาท เป็นเพียง 41,650 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีคลื่น 6 ชุดที่มีราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้น
นายสมเกียรติระบุว่า การประมูลครั้งนี้แม้จะทำให้ประชาชนมีบริการ 3G ใช้กันอย่างเต็มรูปแบบในปีหน้า แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในฐานผู้เสียภาษี เมื่อเทียบจากราคาประเมินถึง 16,335 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการทั้งสามรายได้ประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปเป็นเสมือน “ลาภลอย” ทั้งนี้ยังไม่รวมประโยชน์ที่ได้จากการลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐอีกปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ การที่แต่ละรายได้คลื่น 3G มูลค่าถูกแสนถูกต่ำกว่าปีละ 1 พันล้านบาทต่อปีจะไม่มีผลต่ออัตราค่าบริการ 3G ที่ประชาชนต้องจ่ายแต่อย่างใด นอกจากจะเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากราคาหุ้นของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น
“ผลการประมูลครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่ กสทช.พยายามโฆษณาให้ประชาชนเชื่อมาโดยตลอดว่าจะมีการแข่งขันมาก เนื่องจากคลื่นความถี่แต่ละชุดมีความแตกต่างกันมาก เสมือนเป็นที่ดินทำเลดีติดทะเลกับที่ดินแออัดติดถนนใหญ่ไม่เป็นความจริง และตอกย้ำความเชื่อของสาธารณชนในวงกว้างที่ว่า การประมูลครั้งนี้มีลักษณะเอื้อต่อการสมคบกันของผู้ประกอบการ” นายสมเกียรติระบุ
นายสมเกียรติระบุอีกว่า นอกจากนี้ ผลการประมูลยังชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดอย่างร้ายแรงของการออกแบบการประมูล 2 ประการ คือ หนึ่ง การจำกัดคลื่นความถี่ที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะสามารถถือครองได้ให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างที่ควรจะเป็น สอง การกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้เกิดความเสียหายมากเมื่อไม่มีการแข่งขันกันเท่าที่ควร ทั้งนี้ หาก กสทช.ได้รับฟังข้อทักท้วงของฝ่ายต่างๆ ก็จะไม่เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวขึ้น
“ผมจึงขอเรียกร้องให้ กสทช.รับผิดชอบต่อความเสียหายต่อรัฐและประชาชนที่เกิดขึ้น โดยให้แถลงต่อประชาชนว่าจะมีการรับผิดชอบอย่างไร และขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ นอกจากนี้ ในการประมูลคลื่นความถี่ 4G และคลื่นความถี่อื่นๆ ที่จะมีขึ้นต่อไป ก็ขอให้ระวังอย่าได้ใช้แนวทางเดียวกันมาดำเนินการอีก” นายสมเกียรติระบุ